คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7806/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างจากการซื้อ เครื่องทำน้ำแข็งหลอด โดยโจทก์มิได้กล่าวอ้างถึงสัญญาติดตั้งเครื่อง การที่โจทก์ยกสัญญาติดตั้งเครื่องทำน้ำแข็งหลอดขึ้นอ้างในฎีกา เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้น ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งดังนี้โจทก์จึงนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาหัก เป็นค่าติดตั้งเครื่องไม่ได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472ที่บัญญัติให้ผู้ขายต้องรับผิดต่อผู้ซื้อในความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งขาย และผู้ซื้อมีสิทธิที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระแก่ผู้ขายตามมาตรา 488 นั้นจะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้วหรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย ส่วนความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลัง ผู้ขายหาต้องรับผิดไม่ เครื่องทำน้ำแข็งหลอดที่จำเลยซื้อจาก โจทก์ไม่สามารถผลิตน้ำแข็งได้ 15,000 กิโลกรัมต่อ24 ชั่วโมงตามสัญญาได้ เพราะเกิดจากการตั้งเครื่องคอมเพรสเซอร์ห่างจากเครื่องทำน้ำแข็งหลอดมากเกินไป จึงทำให้แรงอัดแอมโมเนียอ่อน และทำให้ลิ้นไอดีไอเสียแตก ซึ่งเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นในภายหลังที่จำเลยรับมอบและใช้ประโยชน์มาแล้วจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนที่ยังค้างชำระให้ แก่โจทก์ ส่วนการที่โจทก์ติดตั้งและเกิดมีความชำรุด บกพร่องอย่างไร โจทก์จะต้องแก้ไขให้จำเลยหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการตามข้อสัญญาที่มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง จำเลยจะอ้างมาเป็นเหตุยึดหน่วงราคาไม่ยอมชำระราคาให้แก่โจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าซื้อเครื่องทำน้ำแข็งหลอดให้แก่โจทก์เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2532สิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นการที่ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้แก่จำเลย และจำเลย ใช้เครื่องทำน้ำแข็งหลอดที่ซื้อผลิตน้ำแข็งออกขายจึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ นั้นเอง จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(5) โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2535 ยังไม่เกิน 5 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเนื่องจากการผิดนัดไม่ชำระเงินแก่โจทก์ เป็นดอกเบี้ย ที่กำหนดแทนค่าเสียหายตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งและไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30กรณีมิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปีตามมาตรา 193/33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองสั่งซื้อเครื่องทำน้ำแข็งหลอดไปจากโจทก์ และกำหนดชำระราคาเป็นงวด จำเลยทั้งสองได้รับเครื่องทำน้ำแข็งหลอดแล้วผ่อนชำระราคาให้เพียง890,000 บาท ยังคงค้างชำระอยู่อีก 854,405 บาทคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 ปี 6 เดือน เป็นเงิน416,522 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,270,927 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,270,927 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน854,405 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 สั่งซื้อเครื่องทำน้ำแข็งหลอดเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 มิใช่เพื่อกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 2 เครื่องทำน้ำแข็งหลอดที่โจทก์มาติดตั้งให้ผลิตน้ำแข็งได้เพียง 10,000 ถึง 12,000 กิโลกรัมต่อ 24 ชั่วโมง เครื่องเกิดไฟฟ้าช็อตและเดินขัดข้องไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติโจทก์ไม่สามารถซ่อมให้มีประสิทธิภาพตามสัญญาได้ จำเลยผ่อนชำระราคาเครื่องทำน้ำแข็งหลอดให้แก่โจทก์ไปแล้ว 1,140,000 บาทซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมกับเครื่องทำน้ำแข็งหลอดที่โจทก์ติดตั้งให้จำเลยเพราะไม่สามารถผลิตน้ำแข็งได้ 15,000 กิโลกรัมต่อ 24 ชั่วโมง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกราคาที่เหลือตามฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความสองปีแล้ว และที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 ปี 6 เดือน ก็ขาดอายุความเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 ชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2527 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อเครื่องทำน้ำแข็งหลอดจากโจทก์ 1 เครื่อง ราคา 1,790,000 บาทชำระราคาในวันทำสัญญา 100,000 บาท และชำระเมื่อส่งเครื่องทำน้ำแข็งหลอดถึงโรงงานของจำเลยที่ 1 อีก400,000 บาท ตามสัญญา ส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 ได้ชำระเป็นงวดให้แก่โจทก์อีก 8 งวด งวดละ 80,000 บาท เป็นเงิน640,000 บาทรวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์จำนวน 1,140,000 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าเครื่องทำน้ำแข็งหลอดแก่โจทก์อีกเป็นเงินเท่าใดจำเลยที่ 1 อ้างว่าเมื่อได้ชำระเงินไปแล้ว 1,140,000 บาทก็ยังคงค้างเพียง 650,000 บาท แต่โจทก์ฎีกาอ้างว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์นั้น เป็นการแบ่งชำระเป็นค่าติดตั้งเครื่องทำน้ำแข็งหลอดตามสัญญาอีกฉบับหนึ่ง จำนวน250,000 บาท จึงคงค้างชำระค่าเครื่องทำน้ำแข็งหลอด900,000 บาท ต่อมามีการชำระอีก 45,595 บาท จำเลยที่ 1จึงเหลือยอดค้างชำระค่าเครื่องทำน้ำแข็งหลอดแก่โจทก์จำนวน 854,405 บาท เห็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ที่ค้างจากการซื้อเครื่องทำน้ำแข็งหลอดเท่านั้นมิได้กล่าวอ้างถึงสัญญาติดตั้งเครื่องด้วยแต่อย่างใด การที่โจทก์ยกสัญญาติดตั้งเครื่องทำน้ำแข็งหลอดดังกล่าวขึ้นอ้างในฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ โจทก์จึงนำส่วนนี้มาหักเป็นค่าติดตั้งเครื่องไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ชำระค่าเครื่องทำน้ำแข็งหลอดแก่โจทก์ไปแล้ว1,140,000 บาทยังคงค้างชำระเพียง 650,000 บาทดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงไม่ชำระราคาที่ค้างแก่โจทก์เพราะโจทก์ส่งมอบทรัพย์ที่ขายชำรุดบกพร่องหรือไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 บัญญัติให้ผู้ขายต้องรับผิดต่อผู้ซื้อในความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งขาย และผู้ซื้อมีสิทธิที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระแก่ผู้ขายตามมาตรา 488 นั้น จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้วหรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย ส่วนความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังผู้ขายหาต้องรับผิดไม่ จำเลยที่ 1 นำสืบรับข้อเท็จจริงว่าที่เครื่องทำน้ำแข็งหลอดไม่สามารถผลิตน้ำแข็งได้15,000 กิโลกรัมต่อ 24 ชั่วโมง ตามสัญญานั้นเนื่องจากตั้งเครื่องคอมเพรสเซอร์ห่างจากเครื่องทำน้ำแข็งหลอดมากเกินไป ทำให้แรงอัดแอมโมเนียอ่อน หาใช่เกิดจากตัวเครื่องและอุปกรณ์การทำน้ำแข็งหลอดไม่ และสาเหตุเดียวกันนี้ที่ทำให้ลิ้นไอดีไอเสียแตก ก็เป็นความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นในภายหลังที่จำเลยที่ 1 รับมอบและใช้ประโยชน์มาก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนที่ยังค้างชำระให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการที่โจทก์ติดตั้งให้มีความชำรุดบกพร่องอย่างไร โจทก์จะต้องแก้ไขให้จำเลยที่ 1 หรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการตามข้อสัญญาที่มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง จำเลยที่ 1จะอ้างมาเป็นเหตุยึดหน่วงราคาไม่ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์หาได้ไม่
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.7ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองชำระเงินเป็นค่าเครื่องทำน้ำแข็งหลอดบางส่วน เป็นเงิน 20,000 บาทเอกสารดังกล่าวลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2532 ส่วนใบเสร็จตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 เป็นการชำระหนี้ค่าอุปกรณ์บางส่วนของเครื่องทำความเย็น หาใช่เป็นค่าเครื่องทำน้ำแข็งหลอดไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าซื้อเครื่องทำน้ำแข็งหลอดให้แก่โจทก์เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2532 สิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นการที่ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องทำน้ำแข็งหลอดที่ซื้อผลิตน้ำแข็งออกขาย จึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(5) โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2535 ยังไม่เกิน 5 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 ปี 6 เดือน เกินกว่า5 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าดอกเบี้ยเนื่องจากการผิดนัดในกรณีนี้มิใช่ดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปีตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1)แต่เป็นดอกเบี้ยที่กำหนดแทนค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งและไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเช่นกัน
พิพากษายืน

Share