แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องเพื่อติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336เป็นการใช้อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ส่วนสิทธิในเครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นสิทธิในนามธรรม การใช้สิทธิฟ้องคดีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่สิทธิ ดังกล่าวไว้โดยเฉพาะอันได้แก่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN ที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่า จำเลย เป็นการฟ้องคดีตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) กรณีมิใช่เป็นการฟ้องร้องบังคับเอาแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่เป็นการใช้สิทธิในทางเยียวยาให้มีการแก้ไขให้กลับสู่สถานะเดิมอันเป็นบุคคลสิทธิและเป็นสิทธิเรียกร้องประเภทหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมซึ่งมีกำหนด 10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม และต้องเริ่ม นับอายุความตั้งแต่วันที่มีการโต้แย้งสิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าว คือนับตั้งแต่วันที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเป็นต้นไป แต่โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อเกินกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ เมื่อปรากฏว่าคดีโจทก์ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)ขาดอายุความแล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน เครื่องหมายการค้าตามมาตรา 41(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยหรือไม่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ และจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยสุจริตหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีของโจทก์ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามมาตรา 41(1)ต้องเปลี่ยนแปลงไป จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้แล้วต้องถือว่าจำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้ดังกล่าว ดังนี้เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งได้จดทะเบียนไว้นั้นเลย อันเป็นมูลที่จะเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้กล่าวอ้างที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แม้จะเป็นการนำสืบในเชิงปฏิเสธ ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความดังกล่าวอยู่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นโจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ หลายชนิดเช่น เครื่องจักร เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องอิเล็กทรอนิกส์เครื่องคิดเลข และเครื่องบอกเวลาเป็นต้น และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZENในลักษณะตัวอักษรต่าง ๆ กัน ตามรูปเครื่องหมายการค้าเอกสารท้ายฟ้องสินค้าของโจทก์เป็นที่แพร่หลายของสาธารณชนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCITIZEN ในประเทศไทยแล้วเมื่อ พ.ศ. 2506ทะเบียนเลขที่ 28305 และ พ.ศ. 2520 ทะเบียนเลขที่ 60905 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 10 และจำพวกที่ 39เมื่อ พ.ศ. 2511 ทะเบียนเลขที่ 37371 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 เมื่อเดือนมิถุนายน 2532 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ากระทรวงพาณิชย์ตามคำขอเลขที่ 190581 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 ประเภทสินค้าเครื่องมือจักรกลส่วนและอุปกรณ์ของสินค้าดังกล่าวแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งว่าไม่อาจรับจดทะเบียนให้ได้เนื่องจากเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้นั้นเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่าCITIZEN ทะเบียนเลขที่ 55807 ซึ่งจำเลยได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN ที่แท้จริง และเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย และด้วยความไม่สุจริตจำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยหากจำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้จะเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยจำพวกที่ 6 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN นั้นเป็นสินค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องนอกจากนี้จำเลยมิได้ตั้งใจสุจริตที่จะใช้เครื่องหมายการค้าตามที่จดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 6เพราะนับแต่ได้จดทะเบียนจำเลยไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกที่ 6 โดยสุจริตแต่อย่างใดอีกทั้งภายใน 5 ปีก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยมิได้มีการใช้โดยสุจริตซึ่งเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกที่ 6 แต่อย่างใดจำเลยตั้งใจละทิ้งเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ทั้งเป็นการกีดกันมิให้โจทก์ได้รับจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 ของโจทก์ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และ 7 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกต่าง ๆดีกว่าจำเลย ให้จำเลยเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 55807 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและห้ามจำเลยใช้ยื่นขอจดทะเบียน หรือเข้าเกี่ยวข้องใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมและวงกลมโดยได้จดทะเบียนไว้ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 เมื่อวันที่ 6มกราคม 2518 ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าที่จำเลยผลิตและขายตลอดมาจนถึงปัจจุบัน นับแต่จดทะเบียนจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของจำเลยตลอดมาโดยมิได้ละทิ้ง กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะถูกเพิกถอนได้ตามกฎหมาย นอกจากนี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เมื่อวันที่6 มกราคม 2518 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อวันที่9 มกราคม 2533 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความเพราะฟ้องเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 55807 ของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZENโดยใช้กับสินค้านาฬิกาเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นและต่อมาได้นำไปใช้กับสินค้าอื่น ๆ เช่น เครื่องจักรกลเครื่องมือจักรกล เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องไฟฟ้าแว่นตา เครื่องใช้ในสำนักงาน และสินค้าอื่น ๆ อีก หลายชนิดสินค้าของโจทก์มีจำหน่ายแพร่หลายเป็นที่รู้จักของสาธารณชนทั่วไปทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศเป็นเวลา 50 ปีมาแล้ว โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN ในประเทศญี่ปุ่นและในประเทศต่าง ๆโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCITIZEN ในประเทศไทยและใช้กับสินค้าหลายจำพวกโดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 10 เครื่องบอกเวลา ตั้งแต่ พ.ศ. 2506โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับรูปหน้าปัดนาฬิกาสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 10 ประเภทนาฬิกาส่วนประกอบและอะไหล่ของนาฬิกา เมื่อพ.ศ. 2512โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่าCITIZEN อยู่ในรูปคล้ายแคปซูลสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 เครื่องมือในทางวิทยาศาสตร์และเครื่องมือสำหรับใช้ในการสอนทั้งจำพวกเมื่อ พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2529กับ พ.ศ. 2532 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 ต่างรูปแบบพ.ศ. 2520 กับ พ.ศ. 2532 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 39ประเภทเครื่องพิมพ์ดีดและบรรดาสินค้าอื่น ๆ ทั้งมวลซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ พ.ศ. 2532 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 14ประเภทกรอบแว่นตากล่องบรรจุแว่นตา และบรรดาสินค้าอื่น ๆทั้งมวลซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ ส่วนจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนล้อมด้วยรูปวงกลมอีกชั้นหนึ่ง โดยจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6ประเภทจักรเย็บผ้า พัดลม และบรรดาสินค้าทั้งมวลซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2518 โจทก์เคยติดต่อขอให้จำเลยโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยจดทะเบียนแต่ตกลงกันไม่ได้ วันที่ 15 มิถุนายน 2532โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 ประเภทเครื่องมือจักรกล ส่วนและอุปกรณ์ประกอบของสินค้าดังกล่าวแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งว่าไม่อาจรับจดทะเบียนให้ได้ เนื่องจากเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า CITIZEN ทะเบียนเลขที่ 55807คำขอเลขที่ 86918 ซึ่งจำเลยได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วโจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2533
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการแรกว่าฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN ดีกว่าจำเลยอันเป็นการฟ้องตามมาตรา 41(1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องเพื่อติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ส่วนสิทธิในเครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นสิทธิในนามธรรม การใช้สิทธิฟ้องคดีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่สิทธิดังกล่าวไว้โดยเฉพาะอันได้แก่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ กรณีของโจทก์จึงไม่อาจนำมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZENที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย เป็นการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)มิใช่เป็นการฟ้องร้องบังคับเอาแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่เป็นการใช้สิทธิในทางเยียวยาให้มีการแก้ไขให้กลับสู่สถานะเดิมอันเป็นบุคคลสิทธิและเป็นสิทธิเรียกร้องประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม ซึ่งมีกำหนด10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม และต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่มีการโต้แย้งสิทธิตามพระราชบัญญัติดังกล่าวคือนับตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2518 อันเป็นวันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเป็นต้นไป แต่โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2533 จึงเกินกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 41(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยหรือไม่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ และจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยสุจริตหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีของโจทก์ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามมาตรา 41(1) ต้องเปลี่ยนแปลงไป
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการที่ 2ว่าจำเลยชอบที่จะถูกเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 หรือไม่ ข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า นับแต่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทจำเลยมิได้เคยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเลย ทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยจึงถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 42 ด้วย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้แล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ 6 ที่ได้จดทะเบียนไว้ เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งได้จดทะเบียนไว้นั้นเลยอันเป็นมูลที่จะเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้กล่าวอ้างที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ความเป็นหลักฐานมั่นคงว่าจำเลยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แม้ว่าจะเป็นการนำสืบในเชิงปฏิเสธแต่ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความดังกล่าว ซึ่งในประเด็นข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วเห็นว่ายังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังว่าจำเลยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทตามที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้
พิพากษายืน