คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7674/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ครอบครองที่ดินของผู้อื่นอาจบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือว่าจะไม่ยึดถือทรัพย์สินแทน โดยจะเอาทรัพย์สินเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ก็ได้การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือเช่นนี้ถือเป็นการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375ได้เช่นเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องเข้ายื้อแย่ง เมื่อโจทก์ทั้งสามไปขอออก น.ส.3 ในที่ดินพิพาท แต่จำเลยทั้งสองไปคัดค้านว่าเป็นที่ดินของตน จึงเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถออกน.ส.3 ได้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามแล้วและถือว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือเพื่อเอาที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองอันเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสามโจทก์ทั้งสามจึงต้องฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปีนับแต่ถูกแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายสิ่งของปลูกสร้างออกไปจากบ้านเลขที่ 37 และ 57 หมู่ที่ 7ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช และไปให้พ้นจากที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ห้ามมิให้เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสามอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนานเกินกว่า 20 ปี โจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทนานเกินกว่า 20 ปี และโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท แล้วขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีก
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปรากฏตามคำให้การของจำเลยทั้งสองและแผนที่แนบท้ายคำให้การว่า มีคลองชลประทานตัดผ่านที่ดินพิพาทแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงทิศเหนือและแปลงทิศใต้ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินแปลงทิศใต้บางส่วนในกรอบเส้นสีแดง จำนวนเนื้อที่4 ไร่ 3 งาน 98 ตารางวา จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินแปลงทิศเหนือในกรอบเส้นสีแดงเนื้อที่1 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา คู่ความตีราคาที่ดินไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2539 ราคาไร่ละ 40,000 บาท ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของจำเลยแต่ละรายมีไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248วรรคแรก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินที่จำเลยแต่ละรายครอบครองเป็นที่ดินของจำเลย โดยจำเลยได้รับยกให้ต่อ ๆ มาจากนางพร้อมผู้เป็นยายของจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าบิดาของโจทก์ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนายป๋องสามีของนางพร้อมดังที่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ฉบับพิพาทเอกสารหมาย จ.8 ของบิดาโจทก์ระบุว่านายตุ่น (หรือนายดวน)บิดาของโจทก์ได้รับยกให้ที่ดินมาจากนายป๋อง เห็นได้ว่าเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3ถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ยังมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทนานเกินกว่า 1 ปีแล้วหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงยังไม่เสียสิทธิอันมีความหมายว่าการแย่งการครอบครองผู้แย่งจะต้องไม่เคยอยู่ในที่ดินนั้นมาก่อน แล้วบุกรุกเข้าไปยึดถือเอาที่ดินจากผู้ครอบครองอยู่เดิมมาเป็นของตน จึงจะถือว่าเป็นการแย่งปัญหานี้เป็นข้อกฎหมาย โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทนานเกินกว่า 1 ปีแล้วหรือไม่ ในข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่าผู้ครอบครองที่ดินของผู้อื่นอาจบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือว่าจะไม่ยึดถือทรัพย์สินแทน โดยจะเอาทรัพย์สินเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ก็ได้ การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือเช่นนี้ถือเป็นการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ได้เช่นเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องเข้ายื้อแย่งสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยทั้งสองแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทนานเกินกว่า 1 ปี แล้วหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอีก ได้ความว่า โจทก์ทั้งสามไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในที่ดินพิพาทแต่จำเลยทั้งสองไปคัดค้านว่าเป็นที่ดินของตน เป็นเหตุให้ไม่สามารถออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ โจทก์ทั้งสามอ้างส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งเป็นบันทึกรับแจ้งความของกำนันท้องที่ มีข้อความสำคัญว่า โจทก์ที่ 3 ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออกโจทก์ที่ 3 จึงไปแจ้งความต่อกำนัน และกำนันทำบันทึกดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน การคัดค้านการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สืบเนื่องมาจากเหตุที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าฝ่ายจำเลยได้รับยกให้ที่ดินพิพาทต่อ ๆ มาจากนางพร้อมผู้เป็นยาย ส่วนฝ่ายโจทก์อ้างว่าได้รับยกให้ที่ดินดังกล่าวต่อ ๆ มาจากนายป๋องสามีของนางพร้อม ทั้งสองฝ่ายไม่อาจตกลงกันได้ นอกจากนี้นางแมงมารดาของโจทก์ทั้งสามเบิกความว่า พยานเคยพาจำเลยที่ 1 ไปอำเภอถึง 2 ครั้ง เพื่อแบ่งที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 แต่ทางอำเภอไม่ทำให้อ้างว่านางนวลมารดาของนางแมงยังมีชีวิตอยู่อันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ฝ่ายจำเลยจะต้องอ้างความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาท เพราะนางแมวพร้อมที่จะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้วคำเบิกความของนางแมวประกอบกับบันทึกของกำนันท้องที่ดังกล่าว เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสามโดยอ้างความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือเพื่อเอาที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ซึ่งถือได้ว่าจำเลยทั้งสองแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสาม โดยแย่งการครอบครองตั้งแต่ก่อนทำบันทึกนั้นแล้ว ปรากฏว่าบันทึกนั้นทำขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2534 โจทก์ทั้งสามเพิ่งมาฟ้องเอาคืนการครอบครองเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2536 เกิน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์ทั้งสามจึงหมดสิทธิฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share