คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดเพราะบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ แม้จำเลยไม่ได้ยกเหตุนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อกรณีมีเหตุอันควรลดหย่อนผ่อนโทษ ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จำเลยรักใคร่ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้เสียหายในฐานะที่จำเลยเป็นมารดาอย่างดีจนสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี ระหว่างศึกษาผู้เสียหายมีท้องไม่มีพ่อเมื่อคลอดบุตรแล้วก็นำมาให้จำเลยเลี้ยงเมื่อผู้เสียหายสำเร็จการศึกษาและเข้ารับราชการครูได้สมรสกับ ถ.แต่อยู่กินกันได้เพียง1เดือนก็ถูกถ.ฟ้องหย่า ต่อมาผู้เสียหายลักลอบได้เสียกับโจทก์ร่วมและจะนำโจทก์ร่วมเข้ามาอยู่ในบ้าน จำเลยไม่ยอม ผู้เสียหายได้ขโมยไม้บางส่วนซึ่งเก็บไว้ที่บ้านจำเลยไปสร้างบ้านด้วยจำเลยบอกให้รื้อถอนออกไป ผู้เสียหายกลับโต้แย้งสิทธิว่า ยกให้โดยไม่เป็นความจริง เห็นได้ว่าผู้เสียหายได้สร้าง ความชอกช้ำระกำใจอับอายขายหน้าให้จำเลยผู้เป็นมารดามาโดยตลอดประกอบกับผู้เสียหายบุกรุกเข้ามาสร้างบ้านในที่ดินของจำเลยแล้วโต้เถียงสิทธิไม่ยอมออกไป ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยวางเพลิงเผาโรงเรือนดังกล่าวของผู้เสียหายและโจทก์ร่วมจึงเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217, 218, 295, 358, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จ่าเอกพรหมเวช ศิริกุล ยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางมณีพรรณผู้เสียหายและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยตามฟ้อง ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217, 218, 295, 358 ฐานก่อให้เกิดเพลิงไหม้และทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนักตามมาตรา 218 จำคุก 5 ปี ฐานทำร้ายร่างกาย จำคุก 2 เดือนรวมจำคุก 5 ปี 2 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายคงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ลงโทษจำคุก 1 เดือน เมื่อรวมกับโทษความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์แล้วรวมเป็นโทษจำคุก 5 ปี 1 เดือน จำเลยเคยประกอบความดีโดยรับราชการครูมาก่อน นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ได้เกิดเพลิงลุกไหม้บ้านเลขที่ 379 หมู่ที่ 11 ตำบลหาดคำอำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย อันเป็นโรงเรือนที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายและโจทก์ร่วมทำให้บ้านและทรัพย์สินภายในได้รับความเสียหายทั้งหมด ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายศรีนวล สมชาติ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับบ้านผู้เสียหายและใช้ไฟฟ้าร่วมกันเป็นพยานเบิกความว่า ขณะพยานกำลังหุงข้าวอยู่ที่บ้าน เห็นจำเลยถือแกลลอนใส่น้ำมันเครื่องเดินผ่านมาทางห้องครัวตะโกนบอกให้พยานถอดปลั๊กไฟฟ้า ต่อมาพยานได้ยินเสียงดังและเห็นไฟลุกไหม้ขึ้นที่บ้านผู้เสียหาย และเห็นจำเลยออกจากบ้านไปขึ้นรถขับออกไป นอกจากนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีผู้เสียหายเบิกความสนับสนุนว่า ก่อนเกิดเหตุขณะที่ผู้เสียหายหุงข้าวอยู่ที่บ้าน จำเลยเข้ามาใช้พลั่วตีผู้เสียหายบริเวณลำตัวผู้เสียหายหนีโดยใช้รถจักรยานถีบไปบ้านผู้ใหญ่บ้านแล้วยืมรถจักรยานยนต์ขับไปบอกโจทก์ร่วมที่โรงหล่อเสาว่าจำเลยอาละวาดที่บ้าน โจทก์ร่วมจึงขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายกลับบ้านระหว่างทางก่อนถึงบ้านประมาณ 500 เมตร ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมเห็นควันไฟขึ้นที่บ้าน ฝ่ายจำเลยมีจำเลย นายแสวง ใจธรรมและนายสมคิด บรรณารักษ์ ซึ่งรับราชการครูอยู่โรงเรียนเดียวกับจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการออกข้อสอบอยู่ที่โรงเรียน เห็นว่าร้อยตำรวจเอกธนิต ประทุมชาติ พนักงานสอบสวนเบิกความว่าวันเกิดเหตุเวลา 18 นาฬิกาเศษ ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นร้อยเวรสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองคาย โจทก์ร่วมมาแจ้งความว่าได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่บ้าน จึงได้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุ ขณะนั้นมีรถดับเพลิงไปยังที่เกิดเหตุแล้วได้สอบปากคำผู้เสียหาย โจทก์ร่วมและนายศรีนวลไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 สอดคล้องกับที่นายศรีนวลเบิกความว่าได้พบกับตำรวจในที่เกิดเหตุ ตำรวจได้เชิญไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจซึ่งคำให้การชั้นสอบสวนของนายศรีนวลตามเอกสารหมาย จ.2ก็ตรงกับที่เบิกความในชั้นศาล นับว่าเป็นเวลากระชั้นชิดพยานยังไม่ทันมีเวลาคิดที่จะสร้างเหตุการณ์ขึ้นเพื่อใส่ความผู้ใดทั้งจำเลยเองก็รับว่าได้ให้นายศรีนวลเฝ้าสวนที่ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมปลูกบ้าน จึงไม่มีเหตุที่นายศรีนวลจะปรักปรำจำเลยแม้นายศรีนวลจะไม่เห็นขณะจำเลยจุดไฟเผา แต่เห็นจำเลยถือแกลลอนไปที่บ้านผู้เสียหาย เมื่อเกิดเพลิงไหม้ก็เห็นจำเลยเดินออกจากบ้านไปขึ้นรถขับออกไปทันที นอกจากจำเลยแล้วไม่มีผู้ใดอื่นอีก นับว่าเป็นพยานแวดล้อมกรณีอันใกล้ชิด ที่จำเลยฎีกาว่า พยานปากนี้เบิกความว่าเห็นจำเลยถือแกลลอนน้ำมันเครื่องผ่านมาทางครัวตะโกนบอกให้พยานถอดปลั๊กไฟฟ้า เป็นการผิดวิสัยที่ผู้จะลงมือกระทำผิดอาญาจะแสดงตัวให้ผู้อื่นเห็นเพื่อเป็นประจักษ์พยานนับว่ามีเหตุผลอยู่บ้าง แต่เมื่อคำนึงถึงว่าขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันทั้ง ๆ ที่คนร้ายอาจกระทำการเพื่อมิให้ผู้ใดรู้เห็นได้โดยสะดวกในเวลากลางคืน แสดงว่าคนร้ายไม่ต้องการปกปิด ทั้งนี้เพราะจำเลยอาจคิดว่าผู้เสียหายเป็นบุตรจำเลยเข้ามาปลูกบ้านในที่ดินของจำเลยโดยพลการ จำเลยบอกให้รื้อถอนไปแล้วไม่ยอมรื้อ จำเลยจึงประสงค์จะขับไล่ออกไปแต่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วยก็เป็นได้ และแม้จะฟังว่าวันเกิดเหตุจำเลยมีหน้าที่อยู่ที่โรงเรียนซึ่งอยู่ไกลจากบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 กิโลเมตร แต่จำเลยมีรถยนต์ใช้จึงใช้เวลาเดินทางไม่นาน เวลาเกิดเหตุตามคำพยานโจทก์เป็นเพียงการประมาณใกล้เคียงกับเวลาเลิกงานของจำเลย จึงไม่พอฟังหักล้างคำพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้วางเพลิงเผาโรงเรือนที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายและโจทก์ร่วมจริงตามฟ้อง ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายด้วยหรือไม่ความข้อนี้คงมีแต่ผู้เสียหายเพียงปากเดียวเบิกความว่า วันเกิดเหตุขณะเตรียมจะหุงข้าวอยู่ที่บ้าน จำเลยได้เข้ามาใช้พลั่วตีบริเวณลำตัวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.1 ว่าขณะผู้เสียหายทำงานอยู่ในบ้านจำเลยมาหาที่บ้าน ผู้เสียหายจึงเดินออกจากประตูไปยังลานหน้าบ้านระหว่างที่เดินไปเผชิญหน้ากันนั้น จำเลยได้คว้าท่อนไม้ด้ามพลั่วตีที่แก้มด้านขวา 1 ครั้ง และตีครั้งที่ 2 ผู้เสียหายยกแขนขึ้นรับและถูกจำเลยตีตามลำตัวอีก 5 ถึง 6 ครั้ง แต่ปรากฏตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องว่า มีรอยแผลเป็นเนื่องจากการถลอกที่หลังหูซ้ายของผู้เสียหายเพียงแห่งเดียว นายแพทย์สุนันท์พูลทัศฐาน ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลเบิกความตอบคำถามค้านว่าลักษณะบาดแผลดังกล่าวเป็นรอยถูกขีดข่วน จึงไม่สอดคล้องกับอาวุธที่จำเลยใช้และตำแหน่งที่ผู้เสียหายได้รับ นอกจากนี้พันตำรวจโทไพฑูรย์ ทองไพบูลย์ พนักงานสอบสวนเบิกความว่าได้แจ้งข้อหาจำเลยว่าวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นเมื่อวันที่ 18กุมภาพันธ์ 2537 ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2537 จึงได้เรียกจำเลยมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าทำร้ายร่างกายผู้อื่น เห็นได้ว่ามิได้มีการกล่าวหาจำเลยในข้อหาทำร้ายร่างกายไว้ตั้งแต่แรก ทั้ง ๆ ที่การกระทำของจำเลยเกิดขึ้นในวันเดียวกัน กรณีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดในฐานนี้ด้วยหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปว่า จำเลยกระทำผิดเพราะบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ แม้จำเลยจะไม่ได้ยกเหตุนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อกรณีมีเหตุอันควรลดหย่อนผ่อนโทษศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ข้อเท็จจริงรับกันว่าผู้เสียหายเป็นบุตรคนโตของจำเลย จำเลยได้ส่งเสียให้ผู้เสียหายเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี เห็นได้ว่าจำเลยรักใคร่ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่ผู้เสียหายในฐานะที่จำเลยเป็นมารดาอย่างดี แต่ในระหว่างศึกษาผู้เสียหายมีท้องไม่มีพ่อเมื่อคลอดบุตรแล้วนำมาให้จำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูเมื่อผู้เสียหายสำเร็จการศึกษาและเข้ารับราชการครูแล้วได้สมรสกับร้อยเอกถาวร นวรัตน์ แต่อยู่กินกันได้เพียง 1 เดือนก็ถูกร้อยเอกถาวรฟ้องหย่า ต่อมาผู้เสียหายลักลอบได้เสียกับโจทก์ร่วม มีผู้หวังดีเขียนจดหมายมาบอกจำเลยตามเอกสารหมาย ล.4 ผู้เสียหายจะนำโจทก์ร่วมเข้ามาอยู่ในบ้านแต่จำเลยไม่ยอม ผู้เสียหายจึงได้ขโมยไม้บางส่วนซึ่งเก็บไว้ที่บ้านจำเลยไปสร้างบ้านที่เกิดเหตุในที่ดินของจำเลยและนายสุพจน์สามีจำเลย และตัดฟันไม้ไผ่ในที่ดินมาสร้างบ้านด้วยเมื่อจำเลยบอกให้รื้อถอนออกไป ผู้เสียหายไม่ยอม กลับโต้เถียงสิทธิว่านายสุพจน์ยกให้แล้ว ทั้ง ๆ ที่นายสุพจน์เบิกความยืนยันว่าไม่ได้ยกให้ จะเห็นได้ว่าผู้เสียหายได้สร้างความชอกช้ำระกำใจอับอายขายหน้าให้จำเลยผู้เป็นมารดามาโดยตลอดวันเกิดเหตุน่าเชื่อว่าจำเลยไปบอกให้ผู้เสียหายรื้อถอนบ้านออกไปอีก จำเลยไม่ยอมประกอบกับผู้เสียหายบุกรุกเข้ามาสร้างบ้านในที่ดินของจำเลยแล้วโต้เถียงสิทธิไม่ยอมออกไป ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 218(1), 358 ประกอบมาตรา 72 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำคุก 1 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share