คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6399/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดกรณีพิพาทคดีนี้ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน1 ปี นับแต่วันที่ ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันรับอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลภายใน 1 ปี นับแต่พ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรี เมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2537 โดยรัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ในวันที่9 กุมภาพันธ์ 2537 ดังนี้ โจทก์จะต้องอุทธรณ์ภายใน 60 วันนับแต่วนที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนโจทก์ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่10 พฤษภาคม 2537 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2537 หากถือว่าโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และรัฐมนตรีรับอุทธรณ์ในวันดังกล่าวนี้ เมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์มาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์สิทธิในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี จึงเริ่มนับแต่วันที่ 8 กันยายน 2537 ซึ่งจะครบ 1 ปี ในวันที่ 7 กันยายน2538 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2538 เกินกว่า1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์อันพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้วแม้หากอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวฟ้องขึ้นก็ตามแต่เมื่อศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองได้ และต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก อุทธรณ์ของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก)โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้มาจำนวน 200,000 บาทจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินกว่า 200 บาท ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1864 ซึ่งถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ระยอง เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา โจทก์ทั้งสองเห็นว่าราคาค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้ยังไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 1,500,000 บาทรวมเป็นเงิน 8,662,500 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสองแล้วคงค้างอยู่ 7,507,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 8,662,500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่โจทก์ได้รับเงินคือวันที่ 13 พฤษภาคม 2537 เป็นเงินดอกเบี้ย 1,868,964 บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2537 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 817,597 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,194,061 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน7,507,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 สายกรุงเทพฯ-ระยองตอนกรุงเทพฯ (ลาดกระบัง) – เมืองพัทยา พ.ศ. 2533 ราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนที่จำเลยกำหนดให้เป็นธรรมและเหมาะสมแล้ว และโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ก่อนที่จำเลยจะมีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับเงินค่าทดแทน จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หากถือว่าโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความเพราะโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2537 หรือ 9 กรกฎาคม 2537 หรือวันที่ 6 กันยายน 2537ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1864ตำบลท่าสอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 สายกรุงเทพฯ-ระยองตอนกรุงเทพฯ (ลาดกระบัง) -เมืองพัทยา พ.ศ. 2533 วันที่11 มกราคม 2537 จำเลยมีหนังสือขอให้โจทก์ทั้งสองไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวง โดยกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองในอัตราไร่ละ 200,000 บาท เป็นเงิน1,155,000 บาท วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2537 โจทก์ทั้งสองทำหนังสืออุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอค่าทดแทนไร่ละ1,500,000 บาท แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับหนังสืออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537ต่อมาวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 จำเลยมีหนังสือขอให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทนจำนวน 1,155,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 วันที่ 18 กรกฎาคม2538 จำเลยแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองทราบ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2538
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องเพราะไม่ได้ฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่เห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดกรณีพิพาทคดีนี้มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์ประกอบบทบัญญัติมาตรา 25 แล้วจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติของมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์กรณีเช่นนี้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลภายใน 1 ปี นับแต่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน กล่าวคือโจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีเมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2537 โดยรัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ในวันที่9 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งตามบทบัญญัติของมาตรา 26 วรรคหนึ่งดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจะต้องอุทธรณ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทน โจทก์ทั้งสองได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2537 หากถือว่าโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และรัฐมนตรีรับอุทธรณ์ในวันดังกล่าวนี้เมื่อรัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์มาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์สิทธิในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี จึงเริ่มนับแต่วันที่ 8 กันยายน 2537 ซึ่งจะครบ 1 ปี ในวันที่7 กันยายน 2538 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2538เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์อันพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแม้หากอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวฟังขึ้นก็ตาม ศาลฎีกาก็ยังไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสองได้ ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก) แต่โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้มาจำนวน 200,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินกว่า 200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นนี้ส่วนที่เกินกว่า200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง

Share