แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านพร้อมกับยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะทรัพย์ตามพินัยกรรมศาลอุทธรณ์จำต้องพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 239 แต่ศาลอุทธรณ์มิได้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ตามคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านเพิ่งยื่นในวันนัดสืบพยาน ซึ่งสิ้นสุดระบุเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสองแล้วทั้งคำร้องมิได้ระบุเหตุแห่งความล่าช้าหรือเหตุสมควรอื่นใดตามมาตรา 88 วรรคสี่ จึงไม่อาจพิจารณาสั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านได้
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกนายดารา เศวตเศรนีหรือเศวตเศรณี ผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่าผู้ร้องที่ 1 และนายบุญเสริม นันทาภิวัธน์ ผู้ร้องในสำนวนหลังว่าผู้คัดค้าน
สำนวนแรกผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นบุตรพระอโศกมนตรีกับนางเฮียะ และเป็นญาติกับนางอุทัย นันทาภิวัธน์หรือนันทาภิววัฒน์ ผู้ตาย โดยนายเฮียะมารดาผู้ร้องที่ 1 เป็นพี่สาวนางสินมารดาผู้ตาย ส่วนผู้ร้องที่ 2 เป็นหลานผู้ตายภายหลังมารดาผู้ร้องที่ 1 ถึงแก่ความตาย ผู้ตายก็ได้เลี้ยงดูผู้ร้องที่ 1 เสมือนบุตร ตั้งแต่ผู้ร้องที่ 1 อายุ 3 ปี และผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4212 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน96 ตารางวา ของตนให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2536ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคหัวใจล้มเหลว โดยมิได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดก หรือยกทรัพย์สินอื่นให้แก่เงินฝากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สำนักงานใหญ่ จำนวน 120,000 บาท เงินฝากที่ธนาคารนครธน จำกัด สำนักงานใหญ่ จำนวน 46,707.16 บาท และเงินฝากเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน 3 ฉบับ จำนวน 240,000 บาท ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ จำกัด ให้แก่ผู้ใดอีก ผู้ร้องทั้งสองได้ไปติดต่อขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและรับเงินมรดกดังกล่าวแต่เจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้ ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายตู้ ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไว้แล้ว ตามคดีหมายเลขดำที่ 3136/2536 ของศาลชั้นต้นผู้ตายไม่เคยทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องที่ 1 พินัยกรรมตามคำร้องเป็นพินัยกรรมปลอม ผู้ร้องทั้งสองไม่เป็นทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ไม่มีสิทธิขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก
สำนวนหลัง ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้
ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมิได้เอาใจใส่ดูแลผู้ตายจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หากศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกก็ขอให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนคำร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะผู้ร้องที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายบุญเสริม นันทาภิวัฒน์ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางอุทัย นันทาภิวัธน์หรือนันทาภิววัฒน์ ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เว้นแต่ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม คือที่ดินโฉนดเลขที่ 4212 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ให้นายดารา เศวตเศรนีหรือเศวตเศรณี ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก โดยให้ผู้ร้องที่ 1 มีอำนาจเฉพาะในการจัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมของผู้ตาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับฎีกาผู้คัดค้านที่ขอให้ศาลฎีกาส่งสำเนาอุทธรณ์คำสั่งของผู้คัดค้านที่ขอให้กลับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 28ตุลาคม 2536 หรือให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเพื่อความรวดเร็วไปเลยนั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านพร้อมกับยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ตั้งผู้ร้องที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะทรัพย์ตามพินัยกรรม ศาลอุทธรณ์จำต้องพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 239 แต่ศาลอุทธรณ์มิได้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า ตามคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านดังกล่าวเพิ่งยื่นในวันนัดสืบพยาน ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสองแล้ว ทั้งคำร้องมิได้ระบุเหตุแห่งความล่าช้าหรือเหตุสมควรอื่นใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสี่ จึงไม่อาจพิจารณาสั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของผู้คัดค้านได้
สำหรับปัญหาที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.2 และร.3 เป็นพินัยกรรมปลอม ผู้ร้องที่ 1 ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมดังกล่าว จึงไม่สมควรตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกในทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายต่างนำสืบเจือสมฟังเป็นยุติได้ว่า แม้ผู้ร้องที่ 1 จะมิใช่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายแต่ก็เป็นญาติที่ผู้ตายได้ให้ความอุปการะตลอดมาและเป็นผู้ดูแลผู้ตายจนถึงวันที่ผู้ตายถึงแก่ความตายทั้งใกล้ชิดกับผู้ตายมากกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามความเป็นจริง เหตุที่ผู้ตายจะยกทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจึงสมเหตุสมผล นอกจากนี้ผู้ร้องที่ 1มีหม่อมหลวงวินัย เกษมศรี และนายสุพจน์ วาทิตต์พันธ์ ซึ่งบุคคลทั้งสองประกอบอาชีพทนายความและเป็นพยานในการทำพินัยกรรมมาเบิกความยืนยันประกอบตัวพินัยกรรมเอกสาร ร.2 และ ร.3 ว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมจริง ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.2 และ ร.3 ซึ่งลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2525 แล้วต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2525 ผู้ตายสามารถไปเบิกความเป็นพยานต่อศาลดังปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายคำเบิกความพยานเอกสารหมาย ร.27 จึงเป็นข้อเท็จจริงยืนยันถึงสติสัมปชัญญะของผู้ตายว่ายังดีอยู่แม้จะเป็นเวลาภายหลังทำพินัยกรรมแล้วหลายเดือนก็ตาม ข้ออ้างต่าง ๆ ที่ผู้คัดค้านยกขึ้นเป็นเหตุสงสัยว่าพินัยกรรมปลอมนั้น ล้วนแต่เป็นการคาดการณ์สรุปเอาเอง ซึ่งไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของผู้ร้องที่ 1 ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านกับผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกนายอุทัยผู้ตายโดยละเอียดแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยและไม่จำต้องกล่าวซ้ำ
พิพากษายืน