แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รถยนต์พิพาทที่จำเลยนำเข้ามา ภายนอกตัวรถด้านซ้ายมีกันสาดติดตั้งไว้ซึ่งสามารถพับเก็บแนบติดกับขอบหลังคารถได้ สภาพภายในตัวรถมีลักษณะเหมือนห้องโถง ไม่มีการกั้นแยกส่วนระหว่างที่นั่งคนขับและส่วนที่เป็นโถง มีเก้าอี้นั้น 2 ตัว มีส่วนที่กั้นเป็นห้องน้ำซึ่งภายในติดตั้งอ่างล้างหน้าและฝักบัว มีตู้ชั้นลอยติดตั้งอยู่เหนือส่วนที่ระบุว่าเป็น “WORKTOP” ระหว่างประตูทางขึ้นด้านข้างของตัวรถกับส่วนที่เป็นห้องน้ำติดตั้งตู้ซึ่งมีลักษณะคล้ายตู้ใส่เสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีเครื่องดูดควันติดตั้งอยู่ใต้ตู้ชั้นลอยเหนือส่วนที่ระบุว่า “WORKTOP” และบริเวณใต้หลังคารถเหนือศีรษะคนขับมีลักษณะเป็นชั้นลอยวางฟูกสำหรับปูนอนสำหรับส่วนที่เป็นเก้าอี้โซฟายาวซึ่งจำเลยอ้างว่าใช้เป็นเตียงคนไข้นั้น ความจริงก็คือมีเก้าอี้โซฟาที่ปรับเป็นเตียงนอนได้นั่นเอง รถยนต์พิพาทจึงมีลักษณะและมีอุปกรณ์ใช้สอยที่ติดตั้งไว้เหมือนกับบ้านที่เคลื่อนที่หาใช่มีลักษณะเป็นรถพยาบาลหรือเป็นรถตู้มีที่นั่ง12 ที่นั่งไม่ และตามพระราชกฤษฎีกาพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ. 2503 ประเภทที่ 87.02 ค. นั้น รถยนต์ที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 87.02 ค. แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือรถบรรทุกประเภทหนึ่งและรถนั่งแบบจิ๊ปอีกประเภทหนึ่งในกรณีของรถบรรทุกย่อมมีความหมายถึงรถที่ใช้บรรทุกสิ่งของเป็นสำคัญ แต่รถยนต์พิพาทมีลักษณะการออกแบบและประโยชน์ใช้สอยสำหรับใช้นั่งหรือนอน ไม่ใช่สำหรับใช้บรรทุกสิ่งของส่วนกรณีรถนั่งแบบจี๊ปก็ต้องมีลักษณะเป็นรถที่สมบุกสมบันขับเคลื่อน 4 ล้อ และมีกำลังส่งใช้ภายนอกได้ ตามที่โจทก์ที่ 1 กำหนดโดย ว.อ.92/2508 แต่รถยนต์พิพาทไม่มีลักษณะดังกล่าวไม่อาจถือว่าเป็นรถที่มีลักษณะคล้ายกับรถดังกล่าวอันจะจัดเข้าในประเภทพิกัดที่ 87.02 ค. ได้กรณีจึงต้องจัดรถยนต์พิพาทเข้าในประเภทรถอื่น ๆ ตามประเภทพิกัดที่ 87.02 ง.(2) รถยนต์พิพาทในขณะนำเข้ามีลักษณะเป็นรถยนต์นั่งที่ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายเหมือนบ้านเคลื่อนที่โดยในส่วนขวางรถยนต์มีที่นั่งภายในไม่เกิน 10 ที่นั่ง และลักษณะของที่นั่งก็ต่างจากที่นั่งที่ใช้ในรถยนต์โดยสารทั่วไป รถยนต์พิพาทจึงไม่ใช่รถยนต์โดยสารหรือเป็นรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 คน ส่วนที่กองทะเบียนกรมตำรวจรับจดทะเบียนให้ในประเภทดังกล่าวนั้น เป็นการพิจารณาสภาพที่นำเข้าคนละขั้นตอนกันและวัตถุประสงค์เป็นคนละอย่างกัน ดังนั้น การรับจดทะเบียนของกรมตำรวจไม่เป็นข้อผูกมัดโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ที่ 1 แจ้งการประเมินไปยังจำเลยให้ชำระภาษีอากรเพิ่มเติม กรณีย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87(2) แล้ว หากจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 30 เสียก่อน เมื่อจำเลยเพียงแต่อุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1ซึ่งมิใช่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 จึงไม่เป็นการอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้จำเลยย่อมหมดสิทธิโต้แย้งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลอีกต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องร้องหรือให้การต่อสู้คดีในศาลเพื่อไม่ให้ตนต้องชำระค่าภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินนั้น คดีนี้โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องเงินอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราศุลกากรสำหรับรถยนต์พิพาทที่จำเลยนำเข้ามาว่าจะใช้อัตราใด จึงมีอายุความสิบปี นับจากวันที่จำเลยนำของ หาใช่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดอันจักมีอายุความ 2 ปีไม่ คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้อง ส. ให้ใช้ค่าเสียหายในข้อหาละเมิด เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความระมัดระวังทำให้โจทก์ที่ 1 เสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรรถยนต์พิพาท ซึ่งคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องให้จำเลยชำระภาษีอากรที่ค้างชำระนอกจากจะเป็นคู่ความคนละคนแล้ว มูลเหตุแห่งการฟ้องก็เป็นคนละเหตุ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน5,454,365 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยเสียภาษีอากรตามประเภทพิกัดอัตราศุลกากรที่ 87.02 ค. ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน5,454,365 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองและจำเลยว่า เมื่อวันที่12 ตุลาคม 2528 จำเลยได้นำรถยนต์ยี่ห้อเมอร์ซิเดสเบนซ์รุ่น 307 ดี จากประเทศอังกฤษเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยสำแดงใบขนสินค้าขาเข้า ว่ารถยนต์คันดังกล่าวอยู่ในประเภทพิกัดอัตราศุลกากรที่ 87.02 ก. อัตราอากรร้อยละ 30 เจ้าพนักงานกองตรวจสินค้าขาเข้าของโจทก์ที่ 1 เห็นว่า รถยนต์คันดังกล่าวไม่อาจจัดเข้าในประเภทพิกัดที่ 87.02 ก. ได้ จำเลยจึงยื่นใบขนสินค้าเพิ่มเติมโดยสำแดงพิกัดของรถยนต์ดังกล่าวใหม่เป็นประเภทพิกัดอัตราศุลกากรที่ 87.02 ค(2) อัตราอากรร้อยละ 120เจ้าพนักงานกองสินค้าขาเข้าของโจทก์ที่ 1 ยอมรับการกำหนดประเภทพิกัดดังกล่าว เมื่อจำเลยได้ชำระอากรและภาษีครบถ้วนตามอัตราดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานจึงปล่อยรถยนต์คันดังกล่าวให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2528 ต่อมาโจทก์ที่ 1ได้ตรวจและพิจารณาเห็นว่ารถยนต์ของจำเลยคันดังกล่าวมีลักษณะเป็นบ้านเคลื่อนที่ได้ และมีความจุปริมาตรช่วงชักภายในกระบอกสูบ 2,404 ซีซี เกินกว่า 2,300 ซีซี จึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 877.02 ง(2) อัตราอากรร้อยละ 200และเพิ่มอากรพิเศษอีกร้อยละ 50 ของค่าอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.7/2528 เรื่องการเรียกเก็บอากรพิเศษรวมเป็นอากรร้อยละ 300 โจทก์ที่ 1 จึงแจ้งการประเมินให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มเติมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,454,365 บาทจำเลยไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1 รวม 3 ครั้งโจทก์ที่ 1 พิจารณาแล้วคงมีความเห็นยืนตามการประเมินว่ารถยนต์ของจำเลยอยู่ในประเภทพิกัดอัตราศุลกากรที่ 82.02 ง(2)มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกว่ารถยนต์พิพาทจัดอยู่ในประเภทพิกัดอัตราศุลกากร ที่ 87.02 ค หรือประเภทพิกัดอัตราศุลกากรที่ 87.02 ง(2) ในข้อนี้เมื่อพิจารณาจากใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 1 พร้อมคำแปล แผ่นที่ 2 ถึง 3 ประกอบคำแถลงรับข้อเท็จจริงของโจทก์จำเลยตามรายวานกระบวนพิจารณาของศาล ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2538 และรายงานการเผชิญสืบรถยนต์พิพาทของศาลเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2539 แล้ว ได้ความว่ารถยนต์พิพาทที่จำเลยนำเข้ามาเป็นรถยนต์ยี่ห้อ MERCEDES BENZ แบบ 307 Dรุ่น AUTO-TRALL CHEROKEE 2L มีรูปร่างลักษณะดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 209 และหมาย จ.1 แผ่นที่ 15 โดยภายนอกตัวรถด้านซ้ายมีกันสาดติดตั้งไว้ซึ่งสามารถพับเก็บแนบติดกับขอบหลังคารถได้ สภาพภายในตัวรถมีลักษณะเหมือนห้องโถง ไม่มีการกั้นแยกส่วนระหว่างที่นั่งคนขับและส่วนที่เป็นโถง มีเก้าอี้นั่ง 2 ตัว ติดตั้งตรงกับตำแหน่งที่ระบุว่า “SWIVEL SEAT” ในรูปแผนผังรถตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 209 มีส่วนที่กั้นเป็นห้องน้ำซึ่งภายในติดตั้งอ่างล้างหน้าและฝักบัวมีตู้ชั้นลอยติดตั้งอยู่เหนือส่วนที่ระบุว่าเป็น “WORK TOP” ระหว่างประตูทางขึ้นด้านข้างของตัวรถกับส่วนที่เป็นห้องน้ำติดตั้งตู้ซึ่งมีลักษณะคล้ายตู้ใส่เสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีเครื่องดูดควันติดตั้งอยู่ใต้ตู้ชั้นลอยเหนือส่วนที่ระบุว่า”WORK TOP” ปรากฏตามรูปภายในเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 8 และบริเวณใต้หลังคารถเหนือศีรษะคนขับมีลักษณะเป็นชั้นลอยวางฟูกสำหรับปูนอนตรงกับตำแหน่งที่ระบุว่า “DOUBLE BED OVER CAB”ในรูปแผนผังรถตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 209 สำหรับส่วนที่เป็นเก้าอี้โซฟายาวซึ่งจำเลยอ้างว่าใช้เป็นเตียงคนไข้ตามที่ปรากฏในรูปภาพบนของเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 8 และ 47 ซึ่งตรงกับตำแหน่งที่ระบุว่าเป็น “SETTEE DOUBLE BED” ในรูปแผนผังรถตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 209 รวมทั้งส่วนที่ระบุว่าเป็น”WORK TOP” และ “DITCHEN” ในรูปแผนผังรถตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 209 ซึ่งตรงกับตำแหน่งในรูปภาพ ตามเอกสารหมาย จ.2 แผนที่ 47 ตามที่ศาลชั้นต้นได้ทำเครื่องหมายดอกจันกำกับไว้ซึ่งจำเลยยอมรับว่าได้รื้อถอนออกไปแล้ว ส่วนที่ปรากฏว่าได้ติดตั้งเก้าอี้นั่งเป็นแถวคู่เพิ่มขึ้น 3 แถว แทนตำแหน่งที่จำเลยอ้างว่าใช้เป็นเตียงคนไข้นั้น เมื่อพิจารณาจากภาพตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 8 ประกอบคำเบิกความของนายสุธน บุ ญวรโชติ พยานโจทก์ ซึ่งเคยตรงสอบรถยนต์พิพาทก่อนมีการเปลี่ยนแปลงว่า ในรถยนต์ส่วนหลังติดตั้งเก้าอี้โซฟาซึ่งดึงออกมาเป็นเตียงนอนได้ และรถยนต์พิพาทไม่มีลักษณะเป็นรถพยาบาลเพราะไม่มีเตียงคนไข้ ทั้งไม่มีอุปกรณ์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจึงฟังได้ว่าที่จำเลยอ้างว่าในรถยนต์พิพาทมีเตียงคนไข้นั้นความจริงก็คือมีเก้าอี้โซฟาที่ปรับเป็นเตียงนอนได้นั่นเองจากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นฟังได้ว่า รถยนต์พิพาทมีลักษณะและมีอุปกรณ์ใช้สอยที่ติดตั้งไว้เหมือนกับบ้านที่เคลื่อนที่ได้ดังข้อนำสืบและข้อกล่าวอ้างของโจทก์ หาใช่มีลักษณะเป็นรถพยาบาลหรือเป็นรถตู้มีที่นั่ง 12 ที่นั่ง ตามที่จำเลยกล่าวอ้างและนำสืบไม่ และที่พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503ประเภทที่ 87.02 ค. บัญญัติว่า “รถบรรทุก ชนิดแวน และชนิดพิคอัพ รถนั่งแบบจี๊ปทั้งชนิดหลังคาอ่อนและหลังคาแข็งรวมทั้งชนิดสเตชันแวก่อน และรถที่มีลักษณะคล้ายกับรถดังกล่าวข้างต้น” นั้น เห็นว่า รถยนต์ที่จัดอยู่ในประเภทพิกัดที่ 87.02 คแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ รถบรรทุกประเภทหนึ่งและรถนั่งแบบจี๊ปอีกประเภทหนึ่ง ในกรณีของรถบรรทุกย่อมมีความหมายถึงรถที่ใช้บรรทุกสิ่งของเป็นสำคัญ แต่รถยนต์พิพาทมีลักษณะการออกแบบและประโยชน์ใช้สอยสำหรับใช้นั่งหรือนอนไม่ใช่สำหรับใช้บรรทุกสิ่งของ ส่วนกรณีรถนั่งแบบจี๊ป ฝ่ายโจทก์มีนายอนุศักดิ์ ไพบูลย์ศิริ เจ้าหน้าที่ประเมินอากร 5 กองพิกัดอัตราศุลกากร และนายสุชัย พูนพาณิชยผล ผู้เชี่ยวชาญด้านพิกัดอัตราศุลกากร กองพิกัดอัตราศุลกากร เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่ารถนั่งแบบจี๊ปต้องมีลักษณะเป็นรถที่สมบุกสมบันขับเคลื่อน 4 ล้อ และมีกำลังส่งใช้ภายนอกได้ตามที่โจทก์ที่ 1 กำหนดโดย ว.อ. 92/2508 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 42แต่รถยนต์พิพาทไม่มีลักษณะดังกล่าว ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบโต้แย้งเป็นประการอื่น จึงฟังได้ว่ารถยนต์พิพาทไม่ใช่รถยนต์ประเภทรถบรรทุกหรือรถนั่งแบบจี๊ปไม่ว่าชนิดใด และไม่อาจถือว่าเป็นรถที่มีลักษณะคล้ายกับรถดังกล่าวอันจะจัดเข้าในประเภทพิกัดที่87.02 ค ได้ กรณีจึงต้องจัดรถยนต์พิพาทเข้าในประเภทรถอื่น ๆตามประเภทพิกัด ที่ 87.02 ง (2) แม้จำเลยจะนำสืบว่ารถยนต์ในประเภทพิกัดที่ 87.02 ง(2) ต้องเป็นรถยนต์นั่งรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ส่วนรถยนต์พิพาทเป็นรถยนต์นั่งแบบรถตู้ มีที่นั่ง 12 ที่นั่ง ตามที่เจ้าพนักงานกองทะเบียน กรมตำรวจรับจดทะเบียนให้ ตามใบคู่มือการจดทะเบียนเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 1 นั้น เห็นว่า รถยนต์พิพาทในขณะนำเข้ามีลักษณะเป็นรถยนต์นั่งที่ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายเหมือนบ้านเคลื่อนที่โดยในส่วนขวารถยนต์มีที่นั่งภายในไม่เกิน 10 ที่นั่งและลักษณะของที่นั่งก็ต่างจากที่นั่งที่ใช้ในรถยนต์โดยสารทั่วไปรถยนต์พิพาทจึงไม่ใช่รถยนต์โดยสารหรือเป็นรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งเกิน 10 คน ส่วนที่กองทะเบียนกรมตำรวจรับจดทะเบียนให้ในประเภทดังกล่าวนั้น เป็นการพิจารณาสภาพของที่นำเข้าคนละขั้นตอนกันและวัตถุประสงค์เป็นคนละอย่างกัน ดังนั้นการรับจดทะเบียนของกรมตำรวจไม่เป็นข้อผูกมัดให้โจทก์ที่ 1 ต้องรับฟังตามแต่อย่างใด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการต่อไปมีว่า การอุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1 จะถือว่าเป็นการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลด้วยหรือไม่และจำเลยต้องรับผิดในภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแทนโจทก์ที่ 2 หากผลของการอุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1 ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรที่ 87.02 ค. เช่นเดิมการประเมินอากรขาเข้าต้องถูกยกเลิก ซึ่งจะมีผลทำให้การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย ไม่จำเป็นที่จำเลยต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ที่ 1แจ้งการประเมินไปยังจำเลยให้ชำระภาษีอากรเพิ่มเติมดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 12 กรณีย่อมต้องถือว่าได้มีการประเมินภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87(2) แล้วหากจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 30 เสียก่อน เมื่อจำเลยเพียงแต่อุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1ซึ่งมิใช่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 20จึงไม่เป็นการอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยย่อมหมดสิทธิโต้แย้งคัดค้านการประเมินของเจ้าพนักงานโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลอีกต่อไป ทั้งนี้ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องร้องหรือให้การต่อสู้คดีในศาลเพื่อไม่ให้ตนต้องชำระค่าภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าส่วนที่ขาด ภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาลเมือง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในข้อนี้ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 24469 มาตรา 10 บัญญัติว่า”เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรสิทธิของกรมศุลกากรที่จะเข้ามาเรียกร้องอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด หรือเกี่ยวกับพิกัดอัตราสำหรับของใด ๆ นั้นให้มีอายุความสิบปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณเงินอากรผิดให้มีอายุความสองปี นับแต่วันนำของเข้าหรือส่งของออก” ตามกฎหมายดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรเท่านั้น แต่กรณีของจำเลยไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร แต่เป็นเพราะความสับสนในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรของโจทก์เอง จึงฟังได้ว่าเป็นการคำนวณอากรผิดซึ่งต้องมีอายุความสองปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณน้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้นให้มีอายุความสิบปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งออก”คดีนี้โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องเงินอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับอัตราศุลกากรสำหรับรถยนต์พิพาทที่จำเลยนำเข้ามาว่าจะใช้อัตราใด จึงมีอายุความสิบปี ซึ่งนับจากวันนำรถยนต์พิพาทเข้ามาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2528 จนถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการสุดท้ายว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 4687/2537 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้หรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้จำนวนภาษีที่ขาดเป็นจำนวนเดียวกัน แม้จำเลยจะไม่ถูกฟ้องในคดีดังกล่าวด้วย แต่คดีดังกล่าวกับคดีนี้มีมูลเหตุเดียวกันค่าเสียหายจำนวนเดียวกัน ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144, 148,และ 173(1) นั้น เห็นว่า คดีหมายเลขดำที่ 4687/2537 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์ที่ 1 ฟ้องนายสมเกียรติพิสุทธิ์เจริญพงศ์ ให้ใช้ค่าเสียหายในข้อหาละเมิด เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความระมัดระวังทำให้โจทก์ที่ 1 เสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรรถยนต์พิพาท ซึ่งคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องให้จำเลยชำระภาษีอากรที่ค้างชำระ นอกจากจะเป็นคู่ความคนละคนแล้ว มูลเหตุแห่งการฟ้องก็เป็นคนละเหตุ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
พิพากษายืน