คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5845/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การที่น้ำตาลทรายขาดบัญชีไปอาจเกิดจากตรวจนับชั่งน้ำหนัก หรือ การชำรุดของกระสอบก็ตาม แต่ขั้นตอนการ บรรจุเก็บรักษามีพนักงานของโจทก์และของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยจำกัด ตรวจนับและทำบัญชีบันทึกไว้ และการขนย้ายต้องได้รับอนุญาตจากบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด โดยมีพนักงานของโจทก์และของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ควบคุมตรวจนับตลอดเวลา จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการคลาดเคลื่อนทางบัญชีมากดังที่โจทก์อ้าง การขาดบัญชีกรณีที่อ้างว่าเอาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาไปส่งแก่ลูกค้าแทนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ที่มีไม่เพียงพอหรืออ้างว่านำไปบริจาคแก่วัด โรงเรียน หน่วยราชการ และแจกแก่พนักงานโจทก์ในเทศกาล ต่าง ๆ ทำให้ไม่ตรงกับบัญชีก็เป็นกรณีขนย้ายที่ต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจึงรับฟังไม่ได้ และการขนย้ายน้ำตาลทรายโดยมิได้รับอนุญาตก็ทำให้น้ำตาลทรายขาดบัญชีอยู่ในตัวโจทก์จะโต้เถียงว่าเป็นคนละกรณีกันหาได้ไม่ การที่ขาดบัญชีไปจึงน่าเชื่อว่ามีการลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ออกโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17 แล้วเป็นการออกโดยชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับต่อโจทก์ และเบี้ยปรับตามระเบียบดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา เป็นการกำหนดความรับผิดทางแพ่งสำหรับผู้ฝ่าฝืนระเบียบไม่เป็นการเกินขอบเขตที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527มาตรา 70,71 ให้อำนาจไว้ การที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าเบี้ยปรับกรณีขนย้ายน้ำตาลทรายโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความรับผิดทางแพ่งต้องมีสัญญาผูกพันกันจึงจะบังคับได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงด้วยจึงบังคับโจทก์ไม่ได้นั้นเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งตามหนังสือที่ กน.4309/2534 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 ของจำเลยที่ 1ถึงที่ 13 ในฐานะ “คณะกรรมการบริหาร” และขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 14 ถึงที่ 31 ตามหนังสือที่ อก.0206/3833 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2534 ในฐานะ “คณะกรรมการ”ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบมีมติยกอุทธรณ์โจทก์ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของ “คณะกรรมการบริหาร”นั้นด้วย โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานกรรมการบริหารเป็นผู้ลงนามในหนังสือที่ กน.4309/2534 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ในฐานะ “คณะกรรมการบริหาร” มีคำสั่งให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับจำนวน 888,000 บาท ภายใน 15 วัน โดยอ้างว่าโจทก์ลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวของฤดูการผลิตปี 2530/2531ออกจากโกดังโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 444 กระสอบ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของคณะกรรมการบริหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยทั้งสามสิบเอ็ดให้การและแก้ไขคำให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ในฐานะคณะกรรมการบริหารที่ให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 14ถึงที่ 31 ในฐานะคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายนั้นชอบด้วยพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แล้ว เพราะการขนย้ายน้ำตาลทรายต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา การสำรวจ การขนย้าย ฯลฯฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ออกโดยพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 มาตรา 17 ตามข้อ 26 แห่งระเบียบดังกล่าวนี้ห้ามมิให้โรงงานขนย้ายน้ำตาลทรายออกจากโรงงานหรือสถานที่เก็บรักษาได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกอบกับตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17(25) และมาตรา 18โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงชอบด้วยกฎหมาย และตามระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับนี้ กำหนดให้การขนย้ายน้ำตาลทรายต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด หากฝ่าฝืนคณะกรรมการพิจารณากำหนดเบี้ยปรับในอัตรากระสอบละ 2,000 บาท แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท และกำหนดให้รายงานชนิด คุณภาพและปริมาณ น้ำตาลทรายที่ผลิต เก็บรักษา ขนย้าย ส่งมอบ และคงเหลือเป็นรายเดือน ตามแบบและระยะเวลาที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายกำหนดซึ่งคณะกรรมการน้ำตาลทรายได้ออกประกาศคณะกรรมการน้ำตาลทรายเรื่อง การรายงานปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับที่ 1 พ.ศ. 2530ประกาศนี้กำหนดให้โรงงานจัดทำรายงานปริมาณอ้อยเข้าหีบ ปริมาณผลิตขนย้าย และคงเหลือน้ำตาลทราย ณ โรงงานประจำวัน และให้ทำรายงานเป็นประจำวันวันละ 3 ฉบับ เมื่อน้ำตาลทรายขาวของฤดูการผลิตปี 2530/2531 คงเหลือน้อยกว่าปริมาณตามบัญชีและโจทก์แสดงเหตุผลที่น้ำตาลทรายขาดหายไปไม่ตรงต่อความเป็นจริง ขาดหายไปจากโรงงานเป็นจำนวนมากถึง 444 กระสอบ จึงถือว่าโจทก์ขนย้ายน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ออกจากโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 21(2) มาตรา 44(7) และมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ประกอบระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับดังกล่าว และเมื่อคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 14 ถึงที่ 31ในฐานะคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงไม่อาจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ออกโดยชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(25) กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัลสำหรับการนำจับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด” วรรคสองบัญญัติว่า “การกำหนดตาม (25) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี” และวรรคสี่บัญญัติว่า “การกำหนดตาม (25) ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา” จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจกำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัลสำหรับการนำจับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนดได้เมื่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับฯดังกล่าวโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2528 แล้ว ดังนี้ ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 จึงออกโดยชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับต่อโจทก์ ที่โจทก์ฎีกาว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่มีอำนาจออกระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับฯกำหนดเบี้ยปรับกรณีที่มีการขนย้ายน้ำตาลทรายโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเงินกระสอบละ 2,000 บาทได้ เพราะเกินขอบเขตที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 70, 71 ให้อำนาจไว้นั้นเห็นว่า เบี้ยปรับที่กำหนดไว้ตามระเบียบดังกล่าว สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนมิใช่โทษทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70, 71 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 หากแต่เป็นการกำหนดความรับผิดในทางแพ่งสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนระเบียบนั้นจึงไม่เป็นการออกระเบียบที่เกินขอบเขตที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้อำนาจไว้แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เบี้ยปรับสำหรับการขนย้ายน้ำตาลทรายโดยไม่ได้รับอนุญาตกระสอบละ 2,000 บาท เป็นความรับผิดทางแพ่ง ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องทำสัญญาผูกพันต่อกันจึงจะมีผลใช้บังคับได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงเห็นด้วยและลงชื่อยอมผูกพันรับผิด จะบังคับให้โจทก์ต้องเสียเบี้ยปรับได้อย่างไรนั้น โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับฯ หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ผลิตน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2530/2531 ได้ 127,967 กระสอบแต่มีน้ำตาลทรายขาวขาดบัญชีไปจำนวน 444 กระสอบ โดยโจทก์มีนายวิชาญ พิทักษ์สิทธิ์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ และนายสุธี พัวพันธ์นิวัฒน์ หัวหน้าหมวดโกดังของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ทำบัญชีรับจ่ายน้ำตาลทรายเบิกความเป็นพยานว่าโจทก์ไม่ได้ลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายจำนวน 444 กระสอบ การที่น้ำตาลทรายขาดบัญชีดังกล่าวเป็นการคลาดเคลื่อนทางบัญชี สาเหตุเนื่องมาจากการตรวจนับคลาดเคลื่อน การชั่งน้ำหนักน้ำตาลทรายไม่ครบจำนวน การเย็บปากกระสอบไม่แน่น กระสอบชำรุดทำให้น้ำตาลทรายรั่ว การส่งมอบน้ำตาลทรายให้แก่ลูกค้าเนื่องจากโจทก์มีน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ไม่เพียงพอ ต้องเอาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาไปส่งมอบให้แก่ลูกค้าแทน ทำให้น้ำตาลทรายขาดหายจากบัญชีจำนวน130 กระสอบ ทั้งโจทก์ได้บริจาคน้ำตาลทรายให้แก่วัด โรงเรียนหน่วยราชการ ชาวไร่อ้อย และในเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน โจทก์แจกน้ำตาลทรายให้แก่พนักงานของโจทก์ เป็นเหตุให้น้ำตาลทรายที่มีอยู่ไม่ตรงกับที่ลงบัญชีไว้และโจทก์มิได้แก้ไขหรือปรับตัวเลขทางบัญชีให้ตรงกับจำนวนน้ำตาลทรายที่มีอยู่จริงเพราะเห็นว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย เห็นว่า แม้การที่น้ำตาลทรายขาดหายจากบัญชีอาจจะเกิดขึ้นได้จากการตรวจนับ การชั่งน้ำหนัก การชำรุดของกระสอบก็ตาม แต่ได้ความจากนายวรายุทธ ชลอสันติสกุล พนักงานบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการบรรจุการเก็บรักษา และการขนย้ายน้ำตาลทรายที่โรงงานน้ำตาลทรายของโจทก์พยานจำเลยว่า การบรรจุน้ำตาลทรายใส่กระสอบจะมีการตรวจนับและทำบัญชีจำนวนน้ำตาลทราย โดยพนักงานบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยจำกัด กับพนักงานโจทก์ร่วมกันทุกครั้งและลงชื่อในบัญชีร่วมกันหลังจากบรรจุน้ำตาลทรายในกระสอบแล้วจะนำไปเก็บในโกดังมีการนับและทำบัญชีแยกต่างหากจากบัญชีบรรจุน้ำตาลทรายใส่กระสอบซึ่งการทำบัญชีในขั้นตอนนี้มีแต่พนักงานบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยจำกัด เท่านั้นเป็นผู้ทำต่อจากนั้นพนักงานโจทก์จะใส่กุญแจปิดประตูโกดังการขนย้ายน้ำตาลทรายออกจากโกดังโจทก์จะต้องยื่นหนังสือขออนุญาตไปยังกองจำหน่ายของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยจำกัด เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วต้องนำมายื่นต่อพนักงานอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ที่ควบคุมอยู่ที่โรงงานน้ำตาลทรายของโจทก์ เมื่อพนักงานดังกล่าวตรวจจำนวน ชนิด และน้ำหนักของน้ำตาลทรายว่าถูกต้องตรงกับที่ได้รับอนุญาตก็จะลงชื่ออนุญาตให้มีการขนย้ายน้ำตาลทรายได้ ซึ่งนายสุธีพยานโจทก์ก็เบิกความเจือสมพยานจำเลยว่า การตรวจนับจำนวนกระสอบนั้นนอกจากมีพนักงานของโจทก์ตรวจนับแล้ว ยังมีพนักงานของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ตรวจนับด้วย เมื่อยอดตรงกันพยานจะเซ็นตรวจรับแล้วนำเข้าไปเก็บไว้ในโกดัง จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการบรรจุและเก็บรักษาน้ำตาลทรายของโจทก์จะมีพนักงานของโจทก์และพนักงานของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัดตรวจนับและทำบัญชีบันทึกกันไว้เป็นหลักฐาน ส่วนการขนย้ายออกจากโกดังโจทก์ก็ต้องได้รับอนุญาตจากบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยจำกัด โดยมีพนักงานของโจทก์และพนักงานของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด คอยควบคุมตรวจนับตลอดเวลาตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการคลาดเคลื่อนทางบัญชีมากดังที่โจทก์อ้าง ข้อที่โจทก์อ้างว่าได้ส่งมอบน้ำตาลทรายให้แก่ลูกค้าโดยมีน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ไม่เพียงพอต้องเอาน้ำตาลทรายขาวธรรมดาไปส่งให้แก่ลูกค้าแทนทำให้น้ำตาลทรายขาดหายจากบัญชีจำนวน 130 กระสอบ นั้น ก็ไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีขนย้าย จึงไม่น่าเชื่อ ส่วนที่โจทก์อ้างว่า โจทก์ต้องบริจาคน้ำตาลทรายให้แก่วัด โรงเรียน หน่วยราชการ ชาวไร่อ้อยและในเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน โจทก์ได้แจกน้ำตาลทรายให้แก่พนักงานของโจทก์ ทำให้น้ำตาลทรายไม่ตรงกับบัญชีนั้น เห็นว่ากรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการขนย้ายน้ำตาลทรายออกจากโรงงานซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ขนย้ายน้ำตาลจำนวนดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ศาลฎีกาเห็นว่า หากน้ำตาลทรายจะขาดบัญชีเพราะเหตุต่าง ๆดังที่โจทก์อ้างไปบ้าง ก็น่าจะขาดบัญชีเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การที่น้ำตาลทรายขาวขาดบัญชีไปเป็นจำนวนถึง 444 กระสอบจึงน่าเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับฯ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การขนย้ายน้ำตาลทรายขาวโดยไม่ได้รับอนุญาตกับการที่น้ำตาลทรายขาดบัญชีเป็นคนละกรณีกันนั้นเห็นว่า การขนย้ายน้ำตาลทรายโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ทำให้น้ำตาลทรายขาดบัญชีอยู่ในตัว โจทก์จะโต้เถียงว่าเป็นคนละกรณีกันหาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share