แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
กองนิติการ กรมโยธาธิการเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การที่เจ้าหน้าที่กองนิติการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับอุทธรณ์เรื่องเงินทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนฯ ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2535 ถือได้ว่า รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26ไว้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันรับอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคสองสิทธิของโจทก์ในการฟ้องคดีนี้เข้ากรณีที่สอง ดังนั้นสิทธิในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี จึงเริ่มนับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2535โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2537 เกินกว่า 1 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดที่รัฐมนตรีต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินจำนวน 30,721,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 24,775,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ได้กำหนดให้อธิบดีกรมโยธาธิการเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน จำเลยเป็นนิติบุคคลและไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาจึงไม่มีอำนาจหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์มิได้ใช้สิทธิฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์และไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจำนวน20,025,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13พฤษภาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 8272, 8273, 8274 และ 20241 ตำบลตลาดพลู อำเภอธนบุรี กรุงเทพมหานครเนื้อที่รวม 950 ตารางวา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2533 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตธนบุรี และเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อสร้างถนนตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปลายถนนสาธร ระยะที่ 2 (ถนนตากสิน-เพชรเกษม)ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ดังกล่าวเต็มตามเนื้อที่ในโฉนดที่ดินอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 23,269,500 บาท โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 24กันยายน 2535 ตามหนังสืออุทธรณ์เอกสารหมาย จ.10 ต่อมาวันที่ 15พฤศจิกายน 2536 จำเลยได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้โจทก์ทราบ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์อีก 8,955,500 บาทรวมเป็นค่าทดแทนทั้งสิ้นจำนวน 31,225,000 บาท ตามหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.11โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2537 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2535 ต่อกองนิติการ กรมโยธาธิการนั้น จะถือว่าเป็นการที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ของโจทก์แล้วยังไม่ได้ เห็นว่า กองนิติการกรมโยธาธิการ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยการที่เจ้าหน้าที่กองนิติการ กรมโยธาธิการ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับอุทธรณ์เรื่องเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนฯ ได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2535 ตามเอกสารหมาย จ.10กรณีจึงถือได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2535 แล้วและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเมื่อพิเคราะห์ประกอบบทบัญญัติ มาตรา 25 แล้ว จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติของมาตรา 26 ได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีได้วินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคสอง สิทธิของโจทก์ในการฟ้องคดีนี้เข้ากรณีที่สองดังนี้ สิทธิในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี จึงเริ่มนับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ คือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 ครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 23พฤศจิกายน 2536 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2537เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดที่รัฐมนตรีต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องสำหรับฎีกาโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน