คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4570/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทางที่ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินแปลงอื่นโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401ประกอบมาตรา 1382 แล้ว ต่อมามีการย้ายทาง ไปยังส่วนอื่นของที่ดินแปลงนั้น ก็ต้องถือว่าทางนั้นตกเป็นภารจำยอมแทนทางภารจำยอมเดิมตามมาตรา 1392

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2508 ในระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ 13176 เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวาซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวบุญมา โพธิ์ศิริ เจ้าของเดิมอยู่นั้น ทางราชการได้สร้างถนนนครชัยศรี-เลียบแม่น้ำนครชัยศรีผ่านที่ดินแปลงนี้ทางทิศใต้ไปเชื่อมกับถนนเพชรเกษมโจทก์จึงได้ทำทางจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 13175 เนื้อที่1 ไร่ 3 งาน 64 ตารางวา ผ่านกลางที่ดินโฉนดเลขที่ 13176ออกสู่ถนนสายนครชัยศรี-เลียบแม่น้ำนครชัยศรียาว 100 เมตรโดยส่วนปลายของทางดังกล่าวแถบทิศใต้ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 1806 ของนายสุข พินิจ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นทางรถยนต์และทางเดินผ่านเข้าออกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 13175และเลขที่ 1807 ไปยังถนนสายนครชัยศรี-เลียบแม่น้ำนครชัยศรีนับตั้งแต่ปี 2508 ต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงกลางปี 2530ด้วยความสงบโดยเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสิทธิในทางดังกล่าว ทางดังกล่าวจึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความ ต่อมาเมื่อประมาณกลางปี 2530นางสาวอารีย์ ฐิติตราชู และนางสาวจินตนาภรณ์ โฆสิระโยธิน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวบุญมาตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13176 ให้แก่บริษัทเทศพลวีรเศรษฐ์ จำกัด โดยคู่สัญญารับกันว่ามีทางภารจำยอมผ่านกลางที่ดินโฉนดเลขที่ 13176 จริงซึ่งเป็นการไม่สะดวกอย่างมากแก่เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 13176คู่สัญญาจึงตกลงกันย้ายทางภารจำยอมเดิมไปอยู่ยังริมที่ดินด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 13176 มีความกว้างและความยาวเท่าเดิมโจทก์ใช้ทางเส้นใหม่ผ่านเข้าออกแทนทางภารจำยอมเดิมต่อมาด้วยความสงบ โดยเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสิทธิในทางเส้นใหม่ตลอดมาจนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2536 ภายหลังจากที่จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 13176แล้วจำเลยจ้างวานหรือใช้ผู้อื่นถมดินกลบขวางทางพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกได้และไม่สามารถประกอบอาชีพหรือทำการค้าคิดเป็นค่าขาดรายได้วันละ 1,000 บาทโจทก์ขอคิดนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้อง 50 วัน เป็นเงิน50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนให้ทางพิพาทภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7เป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยขุดดินที่นำมาถมกลบทางพิพาทออกไปและจัดทำให้ทางพิพาทอยู่ในสภาพเดิมหรือมิฉะนั้นให้จำเลยจัดทำทางใหม่ตามแนวทางพิพาทเดิม เพื่อให้โจทก์และบริวารสามารถใช้ผ่านเข้าออกได้ตามปกติ ให้จำเลยรื้อถอนรั้วและสิ่งปิดกั้นทางพิพาทออกไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้จัดทำโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ห้ามจำเลยทำการก่อสร้างรั้วหรือปิดกั้นหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์และบริวาร ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ใช้ค่าเสียหายวันละ 1,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะให้โจทก์ใช้ทางพิพาทได้ตามปกติ
จำเลยให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 13176ของจำเลยไม่มีทางผ่านหรือทางภาระจำยอม โจทก์ใช้ทางออกทางแม่น้ำนครชัยศรีโดยตลอด โจทก์เป็นนายหน้าแนะนำให้จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 13176 จากบริษัทที.ซี.ซี. ดายอิ้ง จำกัด โดยยืนยันว่าไม่มีทางภารจำยอม ทางเดินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7เป็นทางเดินที่จำเลยทำขึ้นเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยเองโจทก์ขออนุญาตจากจำเลยใช้เป็นทางเข้าออกเป็นเวลาเกือบ1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนทางพิพาทตามแนวเขตที่ดินของจำเลยทางทิศตะวันตกโดยให้มีความกว้าง 3 เมตรตลอดแนวที่ดินจนจดทางสาธารณะเป็นทางภารจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ให้ยึดหลักแนวเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.8 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยเปิดทางภารจำยอมในที่ดินของจำเลยตามทางพิพาทให้อยู่ในสภาพเดิมโดยให้ขุดนำดินที่ถม รื้อถอนรั้วและสิ่งปิดกั้นทางพิพาทออกไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้โจทก์เป็นผู้จัดทำ โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ห้ามจำเลยทำการก่อสร้างรั้วหรือปิดกั้นหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการใช้ทางพิพาทของโจทก์และบริวาร คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน แต่ให้ยกคำขอของโจทก์เฉพาะในส่วนที่ว่าหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้จัดทำโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าทางพิพาทภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทตกเป็นภารจำยอมหรือไม่ จำเลยอ้างในชั้นฎีกาว่า ทางพิพาทภายในกรอบเส้นสีแดงไม่ได้ตกเป็นภารจำยอม เพราะโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางสาวบุญมา โพธิ์ศิริ เจ้าของเดิมและใช้โดยถือวิสาสะ ข้อนี้โจทก์มีนายวิศิษฐ์ เบญจเตชะ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ได้เบิกความว่า พยานเป็นบุตรโจทก์ ปัจจุบันอายุ38 ปี โจทก์ทำธุรกิจโรงสีข้าวและใช้รถยนต์ขนข้าวแล่นเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 13176 ตำบลขุนแก้วอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ผ่านทางที่อยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.8 ไปสู่ถนนสายที่ 7หรือถนนเลียบแม่น้ำนครไชยศรี ตั้งแต่ปี 2508 จนถึงปี 2530ซึ่งในระหว่างนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 13176 ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวบุญมา ต่อมานางสาวบุญมาถึงแก่กรรมนางสาวอารีย์และนางสาวจินตนาภรณ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวบุญมา ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13176 ให้แก่บริษัทเทศพลวีรเศรษฐ์ จำกัด เมื่อปี 2530 โดยคู่สัญญาได้ตกลงกันว่าให้ย้ายภารจำยอมเดิมในโฉนดที่ดินเลขที่ 13176ภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทซึ่งอยู่กลางที่ดินไปยังริมที่ดินด้านทิศตะวันตกซึ่งได้แก่ทางพิพาทภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทนั้น ทั้งนี้ฝ่ายผู้จะขายคือนางสาวอารีย์และนางสาวจินตนาภรณ์ได้ยินยอมให้บริษัทเทศพลวีรเศรษฐ์ จำกัดผู้จะซื้อหักราคาที่ดินส่วนที่เป็นทางภารจำยอมเนื้อที่ 62 ตารางวาคิดเป็นเงิน 25,000 บาท ออกจากราคาที่ดินที่ซื้อขายกัน และตกลงที่จะจดทะเบียนให้ที่ดินที่ซื้อขายกันตกอยู่ในภารจำยอมเป็นเนื้อที่62 ตารางวา ด้วยปรากฏตามข้อ 6 สำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.5 โจทก์จึงใช้ทางพิพาทสำหรับขนข้าวจากที่ดินโจทก์ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 13176 แทนทางภารจำยอมเดิมซึ่งถูกเปลี่ยนย้ายมายังส่วนที่เป็นทางพิพาทตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแม้ต่อมาได้มีการขายที่ดินแปลงนี้อีก 3 ทอด จนถึงขายให้แก่จำเลยโจทก์ก็ยังใช้ทางพิพาทเช่นเดิม จนกระทั่งถูกจำเลยปิดทางพิพาทเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2536 นางสาวอารีย์ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งของนางสาวบุญมาได้เบิกความยืนยันรับรองข้อเท็จจริงตามที่นายวิศิษฐ์เบิกความข้างต้นจำเลยไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าเอกสารหมาย จ.5 นั้น ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด คำเบิกความของนายวิศิษฐ์และนางสาวอารีย์มีน้ำหนักเหตุผลน่าเชื่อถือ นอกจากนั้นนายพริ้ง พินิจ ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่ทางพิพาทตั้งอยู่เป็นเวลาประมาณ 17 ปี ได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่าโจทก์ใช้รถยนต์ขนข้าวแล่นเข้าออกผ่านทางดินลูกรังเกือบกลางที่ดินของนางสาวบุญมาจากที่ดินโจทก์ไปยังถนนสายที่ 7 หรือถนนเลียบแม่น้ำนครชัยศรีโดยไม่มีผู้ใดว่ากล่าวห้ามปรามตอนขายที่ดินให้แก่บริษัทเทศพลวีรเศรษฐ์ จำกัด นั้นได้มีการตกลงกันให้ย้ายทางดินลูกรังเดิมในที่ดินแปลงนี้ไปยังริมที่ดินดังกล่าวด้านที่ติดกับที่ดินของนายสุขอันได้แก่ทางพิพาทซึ่งโจทก์ยอมตกลงตามนั้นและโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกต่อมาจนมีการขายที่ดินให้แก่จำเลย แล้วจำเลยเพิ่งมาปิดทางพิพาทนอกจากนั้นโจทก์ยังมีพยานที่รู้เห็นการที่โจทก์ใช้เส้นทางพิพาทรวมทั้งทราบประวัติความเป็นมาของทางพิพาทดังกล่าวข้างต้นอีกหลายปากยืนยันข้อเท็จจริงตรงกับคำเบิกความของนายวิศิษฐ์นางสาวอารีย์และนายพริ้ง ฝ่ายจำเลยไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าไม่มีทางภารจำยอมซึ่งโจทก์ได้มาโดยอายุความอยู่ก่อนแล้วแต่อย่างใดพฤติการณ์แห่งคดีตามที่นางสาวบุญมาเจ้าของเดิมปล่อยให้โจทก์ใช้รถยนต์ขนข้าวแล่นเข้าออกจากที่ดินโจทก์ผ่านทางซึ่งอยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวในโฉนดที่ดินเลขที่ 13176 ในลักษณะที่เป็นการประจำอย่างชัดแจ้งเป็นเวลานาน 20 ปีเศษ โดยไม่มีการหวงห้ามใด ๆและฝ่ายเจ้าของเดิมก็ยอมรับสิทธิการใช้ทางของโจทก์ดังกล่าวทางที่อยู่ภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 แม้ต่อมามีการย้ายทางภารจำยอมภายในกรอบเส้นสีเขียวไปยังทางพิพาทภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทในเวลาต่อมาก็ตาม ก็ต้องถือว่าทางพิพาทภายในกรอบเส้นสีแดงตามแผนที่พิพาทตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความแทนทางภารจำยอมเดิมตามมาตรา 1392 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่จำเลยอ้างว่านางรัตนา วงษ์ประคองพยานโจทก์ปากหนึ่งเบิกความว่า โจทก์ใช้เส้นทางเข้าออกโดยนางสาวบุญมาอนุญาตนั้น เห็นว่า พยานปากนี้ได้เบิกความดังกล่าวโดยอ้างว่าทราบจากโจทก์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะได้บอกกับพยานเช่นนั้น นอกจากนั้นนางสาวอารีย์ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งของนางสาวบุญมาก็ไม่เคยกล่าวอ้างว่าโจทก์อาศัยสิทธิของนางสาวบุญมาหรือใช้ทางผ่านที่ดินของนางสาวบุญมาโดยถือวิสาสะ คงมีแต่ยอมรับสิทธิของโจทก์ในการใช้ทางผ่านที่ดินของนางสาวบุญมาจนถึงขนาดรับรู้ว่าโจทก์มีสิทธิใช้ทางดังกล่าวเมื่อจะขายที่ดินของนางสาวบุญมาและได้ตกลงให้ฝ่ายผู้ซื้อรับรู้สิทธิดังกล่าวของโจทก์ด้วยดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นดังนั้น คำเบิกความของนางรัตนาจึงไม่ทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์ที่รับฟังได้ดังกล่าวข้างต้นนั้นเสียไปแต่อย่างใด”
พิพากษายืน

Share