แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ หากการ ใช้นั้นไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ และจะ จำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และ 1361จำเลยที่ 1 และที่ 3 โอนขายที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยอื่นและโอนขายให้แก่กัน เพื่อให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้ามาใช้ที่ดินที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นสิทธิของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆที่จะกระทำได้ แม้การโอนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยผู้รับโอนเข้ามาใช้ทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อเป็นสิทธิซึ่งกฎหมายรับรองให้มีขึ้นจากการเป็นเจ้าของรวม กรณีมิใช่เป็นเจตนาลวงหรือนิติกรรมอำพราง โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน การที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1675และ 1676 ร่วมกับจำเลย ก็เพื่อประโยชน์ในการที่โจทก์จำเลย จะสร้างถนนใช้ร่วมกันทั้งลักษณะของที่ดินทั้งสองโฉนดเป็น รูปยาวขนานกันไปประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ส่วนที่เหลือจากการ สร้างถนนจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกเมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีข้อตกลงให้โจทก์สร้างถนนยาวตลอดที่ดินเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยแปลงที่อยู่ด้านใน แต่โจทก์สร้างไม่เต็มตามที่ตกลงไว้ คงสร้างเฉพาะส่วนที่โจทก์ใช้ประโยชน์เท่านั้น ต่อมาจำเลยอื่นซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งได้สร้างถนนต่อไปจนตลอดเพื่อใช้ร่วมกัน โดยความรู้ความเห็น ยินยอมของจำเลยอื่นผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคน ตรงตาม วัตถุประสงค์แห่งเจ้าของรวม การใช้สิทธิของจำเลยและ จำเลยอื่นจึงไม่ขัดต่อสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และ 1361 และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ คดีไม่มีทุนทรัพย์ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีเรื่องเดียวและโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีจำเลยทั้งเจ็ด การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทุกคนเป็น รายคน คนละ 2,500 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็น การไม่ถูกต้องเนื่องจากเกินกว่า 3,000 บาท ซึ่งเป็นอัตรา ที่กฎหมายกำหนดตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาใน ปัญหานี้ศาลฎีกาก็เห็นสมควรกำหนดใหม่ให้ถูกต้องเป็นให้ โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งเจ็ดรวม 3,000 บาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายสมบัติ รัชฎากรณ์เลิศเป็นผู้ดำเนินคดีแทน โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1675และ 1676 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และร่วมกับจำเลยที่ 3และที่ 4 ตามลำดับ เมื่อปี 2532 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 แกล้งจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 และจำเลยที่ 3 จดทะเบียนซื้อขายให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ถึงที่ 7 โดยเจตนาลวงโจทก์และบุคคลภายนอกให้หลงเชื่อว่ามีการซื้อขายที่ดินดังกล่าว ความจริงจำเลยทั้งเจ็ดต้องการให้จำเลยทั้งเจ็ดผู้รับโอนเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ก่อน และนำบางส่วนของที่ดินทั้งสองแปลงไปสร้างถนนคอนกรีต เพื่อใช้เป็นทางสัญจรไปมาสู่หมู่บ้านจัดสรรของจำเลยที่ 5 ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและทำให้ถนนที่สร้างขึ้นตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ 5 ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ขอให้พิพากษาว่า นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงเป็นการแสดงเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ และให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิดังกล่าวและห้ามมิให้จำเลยทั้งเจ็ดกระทำการใด ๆ อันเป็นการทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงตกเป็นภารจำยอม หรือก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ที่ดินแปลงอื่น และบังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรื้อถนนคอนกรีตที่ได้ร่วมกันก่อสร้างขึ้น และทำให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งเจ็ด
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 1โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7และจำเลยที่ 3 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 7 จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีสิทธิกระทำได้ตามกฎหมาย เมื่อปี 2516 โจทก์ได้ซื้อที่ดินใกล้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1675 ของจำเลยที่ 1 และโฉนดเลขที่ 1676 ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เพื่อจัดสรรที่ดินและบ้าน โดยใช้ชื่อโครงการว่า “หมู่บ้านบัวขาว” ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ โจทก์จึงติดต่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขอทำถนนคอนกรีตหรือลาดยางในถนนที่มีอยู่เดิม โดยจะต้องมีความยาวสุดเขตด้านทิศใต้ของโฉนดเลขที่ 1675 และ 1676 โดยโจทก์จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองแต่โจทก์คงสร้างเข้าหมู่บ้านที่โจทก์จัดสรรที่ดินและบ้านเท่านั้นยังไม่ได้สร้างถนนคอนกรีตพิพาท เมื่อโจทก์ทำการก่อสร้างจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ยินยอมให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1675 และ 1676 ด้วย โดยโจทก์ไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนที่ดิน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ไม่ได้มีส่วนในการสร้างถนนคอนกรีตพิพาท หากแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 5บูรณะถนนเดิมซึ่งโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไว้ การสร้างถนนคอนกรีตพิพาทไม่ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6และที่ 7 มิได้ยื่นคำขออนุญาตต่อทางราชการเพื่อจะทำการจัดสรรที่ดินอันจะทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงตกเป็นภารจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการจัดสรรบ้านออกจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป จำเลยที่ 5 ได้ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเพื่อจะใช้บางส่วนของที่ดินทำถนนเป็นทางเข้าออกหมู่บ้านจัดสรรบนที่ดินของจำเลยที่ 5 การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่เป็นการแสดงเจตนาลวง และไม่ตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอน เมื่อจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสองแปลงร่วมด้วยคนหนึ่ง จึงมีสิทธิใช้ที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายและการที่จำเลยที่ 5 ก่อสร้างถนนคอนกรีตพิพาทลงบนบางส่วนของที่ดินทั้งสองแปลงข้างต้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคน โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย และการสร้างถนนคอนกรีตพิพาทดังกล่าวมิได้ทำให้ที่ดินทั้งสองแปลงต้องตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ 5 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทุกคน โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 2,500 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1675 เนื้อที่ 6 ไร่36 ตารางวา ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1676 เนื้อที่ 3 ไร่ 52 ตารางวาร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อปี 2532 จำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1675 เฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7โดยจดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม และจำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1676 เฉพาะส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ถึงที่ 7 โดยจดทะเบียนให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ถึงที่ 7 เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างถนนคอนกรีตพิพาทต่อจากถนนบัวขาวไปทางทิศใต้เป็นระยะทางประมาณ 150 เมตร บนที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกมีว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินทั้งสองโฉนดระหว่างจำเลยทั้งเจ็ดหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งเจ็ดมิได้มีเจตนาซื้อขายกันจริงหากแต่จดทะเบียนซื้อขายเพื่ออำพรางความยินยอมของจำเลยที่ 1และที่ 3 ที่ยอมให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้ามาใช้ที่ดินทั้งสองโฉนดเช่นทางภารจำยอม ทำให้ที่ดินทั้งสองโฉนดต้องรับภาระหนักขึ้นนิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆะ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้ เห็นว่า เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ หากการใช้นั้นไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ และจะจำหน่ายส่วนของตนหรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1360 และ 1361 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 โอนขายที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยอื่นและโอนขายให้แก่กัน เพื่อให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้ามาใช้ที่ดินที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นสิทธิของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ที่จะกระทำได้ แม้จะฟังว่าการโอนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยผู้รับโอนเข้ามาใช้ทรัพย์ แต่เป็นสิทธิซึ่งกฎหมายรับรองให้มีขึ้นจากการเป็นเจ้าของรวม จึงหาได้เป็นเจตนาลวงหรือนิติกรรมอำพรางแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่จำเลยที่ 5 สร้างถนนคอนกรีตพิพาทโดยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ที่ 6 และที่ 7 โดยโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งไม่ยินยอมด้วยและถนนคอนกรีตพิพาทอยู่ในแผนผังและโครงการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ 5 ทำให้ตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จำเลยที่ 5 จัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360, 1361จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อนำสืบของจำเลยและโจทก์แล้ว เห็นว่าโจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1675 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1676 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 มาตั้งแต่ปี 2516 และ 2517 ตามลำดับ เพื่อให้โจทก์สร้างถนนใช้ร่วมกันและใช้เป็นทางเข้าออกจากที่ดินจัดสรรของโจทก์ไปสู่ถนนสาธารณะ ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.7 ส่วนที่ดินที่เหลือไม่ปรากฏว่าได้มีการใช้ประโยชน์อื่นใดอีกแสดงให้เห็นว่าการที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสองโฉนดก็เพื่อประโยชน์ในการสร้างถนนใช้ร่วมกันเท่านั้น ทั้งลักษณะของที่ดินทั้งสองโฉนดเป็นรูปยาวขนานกันไปประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ส่วนที่เหลือจากการสร้างถนนจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังมีที่ดินด้านในอีก 2 ไร่ จึงน่าเชื่อว่าได้มีข้อตกลงกันให้โจทก์สร้างถนนยาวตลอดตามแผนที่ในเอกสารหมาย จ.5 ตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบ เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยที่ 1 แปลงที่อยู่ด้านในจริง แต่โจทก์สร้างไม่เต็มตามที่ตกลงไว้ คงสร้างเฉพาะส่วนที่โจทก์ใช้ประโยชน์เท่านั้นเมื่อต่อมาจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งได้สร้างถนนต่อไปจนตลอดเพื่อใช้ร่วมกัน โดยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยอื่นผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคน จึงตรงตามวัตถุประสงค์แห่งเจ้าของรวมและถือได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมด้วยตามที่ได้ตกลงไว้กับจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 การใช้สิทธิของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่ขัดต่อสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และ 1361 ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ถนนคอนกรีตพิพาทอยู่ในแผนผังและโครงการจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ 5 ทำให้ตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จำเลยที่ 5 จัดสรร ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 หรือไม่ เนื่องจากไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีเรื่องเดียว ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทุกคน คนละ 2,500 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นไม่ถูกต้องเนื่องจากเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดตามตาราง 6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรกำหนดใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษายืน แต่ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งเจ็ดรวม 3,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ