แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยผู้เป็นบุตรเพื่อ นำไปทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น เป็นการให้ทรัพย์สินแก่บุตรโดยเสน่หามิใช่เป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 535(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามธรรมจรรยาที่จะต้องกระทำเช่นนั้น ทั้งในการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยก็ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหนังสือสัญญาให้ที่ดินว่าเป็นการให้ไม่มีค่าตอบแทน เพราะผู้รับให้เป็นบุตร จำเลยผู้รับให้จะอ้างว่าที่ระบุการให้เช่นนั้น เป็นแต่เพียงกระทำขึ้นตามระเบียบปฎิบัติของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทยมิได้กระทำตามเจตนาแห่งการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหาได้ไม่จึงต้องฟังว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นการให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา จำเลยด่าโจทก์ผู้ให้ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยด้วยถ้อยคำว่า”ไอ้เปรต”ไอ้เฒ่าบ้าแก่จะเข้าโลงยังหลงบ้าสมบัติแถมบ้าเมียไม่สมแก่ไอ้หัวล้าน”และด้วยถ้อยคำว่า”ไอ้เปรตไอ้เฒ่าไอ้หัวดอ ตายกับหีอีคลี่” ต่อหน้าบุคคลอื่น การที่จำเลยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำเช่นนั้นผู้ได้ยินฟังย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติบ้าผู้หญิง ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงแต่คำหยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้นหากแต่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ผู้ให้อย่างร้ายแรง อันถือได้ว่าเป็นการประพฤติเนรคุณ โจทก์ย่อมจะเรียกถอนคืนการให้จากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2) แม้สารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดิน จะระบุว่า อ.ขายให้แก่จำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าโจทก์ผู้เป็นบิดาเป็นผู้ชำระราคาที่ดิน โดยให้จำเลยบุตรของโจทก์ของโจทก์เป็นผู้รับโอนในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากโจทก์ประสงค์จะยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย เพราะเป็นการนำสืบถึงเหตุแห่งความจริงเกี่ยวกับเจตนาของโจทก์ผู้ให้และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับการยกให้ การจดทะเบียนก็ยังคงเป็นการจดทะเบียนขายที่ดินของ อ. ให้โจทก์ เพียงแต่ระบุชื่อผู้ซื้อเป็นจำเลยซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์ประสงค์จะยกที่ดินนั้นให้เท่านั้น หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่จำเลยสาบานตนให้การเป็นพยาน ปัญหาว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาท ร.มารดาจำเลยเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนที่ดินส่วนของนางรุ่นชอบหรือไม่นั้น เมื่อประเด็นดังกล่าวจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาของจำเลย เมื่อวันที่ 1กันยายน 2531 และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินให้จำเลยโดยเสน่หารวม 3 แปลง คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1684 เลขที่ 44 และเลขที่ 139พร้อมสิ่งปลูกสร้างโรงเรือน 1 หลัง บนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 139 ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2531โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 20812 จากนายอุทัย เสน่หาในราคา 210,000 บาท แล้วจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โดยเสน่หาแก่จำเลยอีก โดยให้ผู้ขายจดทะเบียนโอนที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวให้จำเลยโดยตรง เมื่อวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ต่อหน้าบุคคลอื่นหลายคนว่า “ไอ้เปรต ไอ้เฒ่าบ้า แก่อี้ตายจะเข้าโลงยังหลงบ้าสมบัติ แถมบ้าเมียเหลย ไม่สมแก่ ไอ้หัวล้าน”หลังจากวันดังกล่าวจำเลยยังหมิ่นประมาทโจทก์ต่อนางเยาวลักษณ์ ศรีจันทร์ ว่า “เปรตอี้ตาย เฒ่าอี้ตาย ยังหาทนายฟ้องกูเหลย อย่าหาทนายให้หมัน” อันเป็นการประพฤติเนรคุณ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 4 แปลงดังกล่าวคืนโจทก์ หากไม่ปฎิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษา เป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินทั้ง 4 แปลง ดังกล่าว เว้นแต่สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ก่อนได้รับการยกให้จากโจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1684เลขที่ 44 และเลขที่ 139 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 20812 เว้นแต่สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ก่อนได้รับการยกให้จากโจทก์ และให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 4 แปลง ดังกล่าวคืนโจทก์ หากไม่ปฎิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
จำเลยสาบานตนให้การเป็นพยานว่า จำเลยไม่ได้หมิ่นประมาทตามฟ้อง แต่โจทก์โกรธเคืองจำเลยจากสาเหตุที่จำเลยไม่ยอมไหว้ภรรยาใหม่ของโจทก์ และจำเลยไม่ยอมคืนที่ดินตามที่โจทก์ขอจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพยานโจทก์ทุกคน สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 20812 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลาที่พิพาท โจทก์ไม่ได้ยกให้จำเลย แต่จำเลยเป็นผู้ซื้อจากนายอุทัย เสน่หา ผู้ขายโดยชำระค่าที่ดินด้วยตนเอง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยเพื่อประกอบการเลี้ยงชีพเป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยผู้เป็นบุตรเพื่อนำไปทำมาหาเลี้ยงชีพนั้น เป็นการให้ทรัพย์สินแก่บุตรโดยเสน่หา หาใช่เป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 535(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามธรรมจรรยาที่จะต้องกระทำเช่นนั้นนอกจากนี้ในการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยก็ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์และหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.5 ว่าเป็นการให้ไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใดเพราะผู้รับให้เป็นบุตร จำเลยจะอ้างว่าที่ระบุการให้เช่นนั้น เป็นแต่เพียงกระทำขึ้นตามระเบียบปฎิบัติของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย มิได้กระทำไปตามเจตนาแห่งการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหาได้ไม่ จึงต้องฟังว่าการจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นการให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่ 2 ว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงหรือไม่ ศาลฎีกา เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าจำเลยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำว่า “ไอ้เปรต” ไอ้เฒ่าบ้าแก่จะเข้าโลงยังหลงบ้าสมบัติ แถมบ้าเมีย ไม่สมแก่ ไอ้หัวล้าน”และถ้อยคำว่า “ไอ้เปรต ไอ้เฒ่า ไอ้หัวดอ ตายกับหีอีคลี่”ต่อหน้าบุคคลอื่น การที่จำเลยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำเช่นนั้นผู้ได้ยินฟังย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี บ้าสมบัติบ้าผู้หญิงซึ่งถ้อยคำดังกล่าวไม่เพียงแต่หยาบคายและเป็นคำกล่าวที่ไม่สมควรเท่านั้น หากแต่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ผู้ให้อย่างร้ายแรง อันถือได้ว่าเป็นการประพฤติเนรคุณโจทก์ย่อมจะเรียกถอนคืนการให้ที่ดินทั้ง 4 แปลง จากจำเลยได้ตามมาตรา 531(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่ 3 ว่าที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินจากนายอุทัย เสน่หาแล้วให้นายอุทัยโอนผ่านให้จำเลยเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารจึงรับฟังไม่ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สารบัญจดทะเบียนตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.6 จะระบุว่านายอุทัยเสน่หา ขายให้แก่จำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่า โจทก์ผู้เป็นบิดาเป็นผู้ชำระราคาที่ดิน โดยให้จำเลยบุตรของโจทก์เป็นผู้รับโอนในฐานะผู้ซื้อเนื่องจากโจทก์ประสงค์จะยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย เพราะเป็นการนำสืบถึงเหตุแห่งความจริงเกี่ยวกับเจตนาของโจทก์ผู้ให้และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับการยกให้ การจดทะเบียนก็ยังคงเป็นการจดทะเบียนขายที่ดินของนายอุทัยให้โจทก์เพียงแต่ระบุชื่อผู้ซื้อเป็นจำเลยซึ่งเป็นผู้ที่โจทก์ประสงค์จะยกที่ดินนั้นให้เท่านั้น หาใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ไม่ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายอุทัยแล้วให้นายอุทัยจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาทนางรุ่นมารดาจำเลยเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนที่ดินส่วนของนางรุ่นชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นดังกล่าวจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว
พิพากษายืน