คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3832/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำนวน 1 ใน 7 ส่วน คิดเป็นเงิน 220,000บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำนวน 1 ใน 14 ส่วน คิดเป็นเงิน110,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ที่ 1 ฎีกา ขอให้แบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1 ใน 7 ส่วนตามฟ้องแม้คดีทั้งสองสำนวนนี้จะรวมพิจารณาและโจทก์ที่ 1จะยื่นฎีการวมกันมากับโจทก์ที่ 2 แต่การคำนวณทุนทรัพย์ในการที่จะใช้สิทธิฎีกานี้ต้องแยกต่างหากจากกันดังนั้นทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์ที่ 1 คือ ส่วนแบ่งอีกจำนวน1 ใน 14 ส่วน คิดเป็นเงิน 110,000 บาท จึงไม่เกินสองแสนบาทซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า ที่ดินทั้งสองแปลงไม่ใช่สินสมรสระหว่าง บ. และ ส. นั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับฎีกาโจทก์ที่ 1 ที่ว่า นางสอนถูกกำจัดมิให้รับมรดก กับที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าบุคคลเหล่านี้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งด้วยเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ที่ 1 ในการได้รับส่วนแบ่งมรดกน้อยลงหรือทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเพิ่มขึ้นแต่ประการใด ดังนี้ ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 172เดิมมีชื่อ ส. ภริยาเป็นเจ้าของ ส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 173 มีชื่อ บ. สามีเป็นเจ้าของส. และ บ.ต่างนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวไปขายฝากไว้กับ อ. มีกำหนด 5 ปี แล้วไม่ไถ่ถอน ต่อมา บ.ได้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวจาก อ. ซึ่งขณะนั้นบ. และ ส. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เงินที่นำไปซื้อที่ดินเป็นเงินจากการขายสวนของ บ. ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่าง บ. และ ส. ดังนั้น ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นสินสมรสระหว่าง บ. และ ส. โจทก์มิได้ฟ้อง ส. กับพวกซึ่งเป็นภริยาและบุตรของบ. เจ้ามรดกเป็นจำเลย แม้ ส. กับพวกจะเคยยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมแต่ในที่สุดก็ได้ถอนคำร้องดังกล่าวไปโดยโจทก์มิได้คัดค้านและศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้ ส.กับพวกถอนคำร้องสอดไปแล้ว ส. กับพวกดังกล่าวจึงมิได้มีฐานะเป็นคู่ความต่อไป จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยว่านางสอนกับพวกดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ส. จึงต้องฟังว่านางสอนกับพวก ดังกล่าวซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ บ. ยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายสมบูรณ์ ตามสัดส่วนของตน โจทก์ทั้งสองฟ้องขอแบ่งมรดก ซึ่งจำเป็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกมีกี่คน แต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกเท่าใด การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านางสอน นายเฉลิม นายถนอมนายสมัยมีส่วนแบ่งในทรัพย์พิพาทเพียงใดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนแบ่งเท่าใดเท่านั้น ซึ่งอยู่ในประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินพิพาททั้งสองหรือไม่เพียงใดนั่นเอง จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 4มีนาคม 2535 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมบูรณ์ บุดศรีผู้ตาย กับนายเฉลิม นายถนอม นายสมัย และนายประเสริฐซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกและนางสอนภรรยาเจ้ามรดกได้ร่วมกันยักย้ายปิดบัง และยักยอกเอาที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 172 และ 173 อันเป็นทรัพย์มรดกของนายสมบูรณ์ไปเป็นของจำเลยโดยปกปิดมิให้โจทก์ทั้งสองรู้โดยทุจริต ฉ้อฉล และทำให้เสื่อมเสียประโยชน์แก่ทายาทอื่นจำเลย นายเฉลิม นายถนอม นายสมัยและนายประเสริฐจึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกที่ดินทั้งสองแปลง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนทรัพย์ของจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 172 และ 173 เมื่อวันที่ 4มีนาคม 2535 และให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมบูรณ์โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1 ใน 7 ส่วนและให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 6 ใน 7 ส่วน หากจำเลยไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนทั้งหมดแก่เจ้าพนักงานที่ดินด้วย
จำเลยให้การทั้งสองสำนวนว่า เมื่อปี 2528 นายสมบูรณ์ บุดศรี บิดาได้ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลย โดยไม่มีพี่น้องคนใดคัดค้านจำเลยจึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ตั้งแต่นั้นตลอดมาจนกระทั่งบิดาถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของบิดาจึงได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งหมดมาเป็นของจำเลยเองตามความประสงค์ของบิดา จำเลยจึงไม่จำต้องปฎิบัติตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างบิดามารดาหากฟังว่าเป็นทรัพย์มรดกโจทก์ที่ 2 ก็มีสิทธิได้ไม่เกิน 5 ไร่ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายถนอม บุดศรี นายสมัย บุดศรีนายประเสริฐ บุดศรี และนางสอน บุดศรี ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโดยให้เรียกผู้ร้องสอดทั้งสี่เป็นจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ ต่อมาจำเลยร่วมทั้งสี่ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องสอด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนมรดกของจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 172 และ 173 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 และให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมบูรณ์ บุดศรี ผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 14 ส่วนหากจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนทั้งหมดแก่เจ้าพนักงานที่ดินคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ที่ 1ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำนวน 1 ใน 7 ส่วนคิดเป็นเงิน 220,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1ได้รับส่วนแบ่งมรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำนวน 1 ใน 14 ส่วนคิดเป็นเงิน 110,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนโจทก์ที่ 1 ฎีกาขอให้แบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 1 ใน 7 ส่วนตามฟ้อง แม้คดีทั้งสองสำนวนนี้จะรวมพิจารณาและโจทก์ที่ 1 จะยื่นฎีการวมกันมากับโจทก์ที่ 2 แต่การคำนวณทุนทรัพย์ในการที่จะใช้สิทธิฎีกานี้ต้องแยกต่างหากจากกันดังนั้นทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์ที่ 1 คือส่วนแบ่งอีกจำนวน 1 ใน 14 ส่วน คิดเป็นเงิน 110,000 บาทจึงไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า ที่ดินทั้งสองแปลงไม่ใช่สินสมรสระหว่างนายสมบูรณ์ และนางสอนนั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย สำหรับฎีกาโจทก์ที่ 1 ว่า นางสอน นายเฉลิม นายถนอม นายสมัย และนายประเสริฐ ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกกับที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าบุคคลเหล่านี้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งด้วยเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของโจทก์ที่ 1ในการได้รับส่วนแบ่งมรดกน้อยลงหรือทำให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเพิ่มขึ้นแต่ประการใด ฎีกาของโจทก์ที่ 1ดังกล่าวจึงไม่เป็นสารแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพราะฎีกาโจทก์ที่ 2 เท่านั้น
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายสมบูรณ์ และนางสอน บุดศรี เป็นสามีภริยากัน มีบุตรด้วยกัน7 คน คืน นายเฉลิม นางทองเติม นายถนอม นายสมัย จำเลยโจทก์ที่ 1 และนายประเสริฐ นายสมบูรณ์มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลง คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 172 และ 173 โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายทองเติม และนางทองหลาง บุดศรี นางทองเติมถึงแก่ความตายก่อนนายสมบูรณ์โดยนายสมบูรณ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2534 โดยมิได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ต่อมาศาลได้มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมบูรณ์ วันที่ 4 มีนาคม 2535 จำเลยได้โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของตนอันเป็นการยักย้ายมรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น จำเลยจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายสมบูรณ์มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ที่ 2 ประการแรกว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายสมบูรณ์และนางสอนหรือไม่ สำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 172 นั้น เดิมมีชื่อนางสอนเป็นเจ้าของส่วนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 173 มีชื่อนายสมบูรณ์เป็นเจ้าของ วันที่ 25 มิถุนายน 2512 นางสอนนายสมบูรณ์ต่างนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวไปขายฝากไว้กับนางอนงค์ เชิดพันธ์ มีกำหนด 5 ปี แล้วไม่ไถ่ถอนต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2518 นายสมบูรณ์ ได้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวจากนางอนงค์ซึ่งขณะนั้นนายสมบูรณ์และนางสอนเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเงินที่นำไปซื้อที่ดินนั้นได้ความจากคำเบิกความของนางทองหลาง ว่าเป็นเงินจากการขายสวนของนายสมบูรณ์ซึ่งไม่ได้ความว่าส่วนดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของนายสมบูรณ์จึงต้องฟังว่าเป็นสินสมรสระหว่างนายสมบูรณ์และนางสอนนอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังเบิกความรับว่า ตั้งแต่จำความได้ทราบว่าบิดาและมารดามีที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวตลอดมาและนางทองหลาก็เบิกความรับว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับภรรยา ดังนั้น จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินสมรสระหว่างนายสมบูรณ์และนางสอน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ที่ 2 ประการต่อไปมีว่า นางสอน นายเฉลิม นายถนอม นายสมัย และนายประเสริฐ ถูกกำจัดมิให้รับมรดกนายสมบูรณ์หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องนางสอนกับพวกดังกล่าวเป็นจำเลยด้วย แม้นางสอนกับพวกจะเคยยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม แต่ในที่สุดก็ได้ถอนคำร้องดังกล่าวไปโดยโจทก์ทั้งสองมิได้คัดค้านประการใดและศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้นางสอนกับพวกถอนคำร้องสอดไปแล้ว นางสอนกับพวกดังกล่าวจึงมิได้มีฐานะเป็นคู่ความต่อไป จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยว่า นางสอนกับพวกดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายสมบูรณ์ จึงต้องฟังว่านางสอนกับพวกดังกล่าวซึ่งเป็นทายาทโดยชอบธรรมของนายสมบูรณ์ยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายสมบูรณ์ตามสัดส่วนของตน
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ประการสุดท้ายมีว่านางสอน นายเฉลิม นายถนอม นายสมัย และนายประเสริฐ ไม่ได้ฟ้องขอแบ่งมรดกที่ดินพิพาททั้งสองไว้ ทั้งมิได้ร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมเพื่อขอแบ่งมรดกตามสิทธิของตนด้วย บุคคลเหล่านี้จึงไม่มีสิทธิรับมรดกใด ๆ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่าบุคคลเหล่านี้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองขอแบ่งมรดกซึ่งจำเป็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าทรัพย์มรดกมีอะไรบ้าง ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกมีกี่คน แต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกเท่าใด การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่านางสอน นายเฉลิมนายถนอม นายสมัย มีส่วนแบ่งในทรัพย์พิพาทเพียงใดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนแบ่งเท่าใดเท่านั้น ซึ่งอยู่ในประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินพิพาททั้งสองหรือไม่เพียงใดนั่นเองจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ 1 ให้ยก คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่โจทก์ที่ 1

Share