แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การบริการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างบริการที่พิพาทเช่นการรักษาความปลอดภัย การบริการให้มีน้ำประปาใช้ในบริเวณห้องสุขาสาธารณะการบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปโภค เป็นต้นเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าของอาคารผู้ให้เช่าจัดการสิ่งบริการต่าง ๆ ดังกล่าวให้แก่จำเลยผู้เช่าอาคาร โดยโจทก์เรียกเก็บค่าบริการเป็นรายเดือนจากจำเลย อันเป็นการดำเนินการประจำเป็นปกติธุระ ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) มีอายุความสองปี ข้อความที่ระบุในสัญญาเช่าอาคารให้ถือว่าสัญญาจ้างบริการเป็นส่วนหนึ่งของอายุการเช่าเท่านั้น มิใช่ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อสัญญาเช่าอาคารทั้งหมด ดังนี้จะนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(3)(4)(5) หรือมาตรา 193/34(1) มาใช้บังคับมิได้ ฎีกาโจทก์ที่ว่า จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความแต่เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(เดิม)563 โดยมิได้ให้เหตุผลประกอบข้ออ้างแต่อย่างใด ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์มิได้กล่าวแก้ยกประเด็นข้อนี้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารและสัญญาจ้างบริการกับโจทก์ โดยจำเลยเช่าห้องหมายเลข 10 เพื่อประกอบการค้า มีระยะเวลาการเช่า 3 ปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2534 ถึงวันที่2 ตุลาคม 2537 และตกลงชำระค่าเช่าและค่าจ้างบริการแก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดและชำระทุกวันที่ 5 ของเดือน แต่จำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าและค่าบริการอยู่เสมอ จำเลยขอยกเลิกสัญญาดังกล่าวก่อนกำหนด ซึ่งโจทก์ก็ยินยอมโดยมีเงื่อนไขให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างคือค่าเช่าและค่าบริการงวดเดือนมกราคม 2535 ถึงเดือนเมษายน 2535 เป็นเงิน 142,424 บาท และ 171,406.95 บาท ตามลำดับกับค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤศจิกายน 2534 ถึงเดือนเมษายน 2535เป็นเงิน 5,067.87 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 318,898.82 บาทแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน318,898.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยค้างชำระค่าเช่า ค่าบริการและค่าไฟฟ้า ประกอบกับโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์ได้รับเงินประกันการเช่าจำนวน 229,875 บาท จากจำเลยแล้ว และคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165, 563ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน318,898.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 147,491.87 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า จำเลยได้ค้างชำระหนี้ค่าบริการประจำเดือนมกราคม 2535 ถึงเดือนเมษายน 2535 รวมเป็นเงิน 171,406,.95 บาทวันที่ 6 เมษายน 2535 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวและขอผ่อนผันหนี้ที่ค้างชำระตามเอกสารหมาย จ.21 โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 15 เมษายน 2535 ถึงจำเลยแจ้งว่าโจทก์ยินยอมให้ยกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2535เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย จ.22
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนี้ค่าบริการตามฟ้องขาดอายุความฟ้องร้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าบริการเป็นเงิน 171,406.95 บาท ตามฟ้องมีอายุความห้าปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (3)(4)(5) และมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย มิใช่มีอายุความสองปีตามมาตรา 193/34(7)นั้น เห็นว่า การบริการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างบริการเอกสารหมาย จ.5 เช่นการรักษาความสะอาดบริเวณอาเขตการค้าการรักษาความปลอดภัย การบริการให้มีน้ำประปาใช้ในบริเวณห้องสุขาสาธารณะ การบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปโภค เป็นต้น เป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะเจ้าของอาคารผู้ให้เช่าจัดการสิ่งบริการต่าง ๆดังกล่าวให้แก่จำเลยผู้เช่าอาคาร โดยโจทก์เรียกเก็บค่าบริการเป็นรายเดือนจากจำเลย อันเป็นการดำเนินการประจำเป็นปกติธุระถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 (7) ซึ่งมีอายุความสองปี มิใช่ห้าปีตามที่โจทก์อ้างฟ้องโจทก์ในหนี้ค่าบริการตามฟ้องจึงขาดอายุความ และที่โจทก์อ้างว่าหนี้ค่าบริการตามสัญญาจ้างบริการเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าอาคารซึ่งเป็นสัญญาประธาน จึงต้องถือสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่านั้น เห็นว่า ข้อความที่ระบุนั้นมีความหมายเพียงว่า ให้ถือว่าสัญญาจ้างบริการเป็นส่วนหนึ่งของอายุการเช่าเท่านั้น มิใช่ให้ถือเอาเป็นส่วนหนึ่งของข้อสัญญาเช่าอาคารทั้งหมดตามที่โจทก์อ้างเพราะข้อสัญญาทั้งสองฉบับมีลักษณะแตกต่างกัน และที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความแต่เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (เดิม), 563 โดยมิได้ให้เหตุผลประกอบข้ออ้างแต่อย่างใด ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทนั้นเห็นว่า โจทก์มิได้กล่าวแก้ยกประเด็นข้อนี้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน