เรื่อง ละเมิด (ทางการแพทย์) (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3739/2560)

เรื่อง ละเมิด (ทางการแพทย์)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3739/2560

ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที

          การวิเคราะห์โรคของผู้ป่วยนั้นต้องกระทำเป็นขั้นตอนโดยอาศัยความรู้ทางการแพทย์  ผู้ที่สามารถกระทำเช่นนี้ได้จึงต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ที่โจทก์อ้างขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์โรคจำเลยที่ 1 ยังไม่ถูกต้องสมควรตามมาตรฐานและหลักวิชาการแพทย์นั้น  นายแพทย์ จ. แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยหูและฐานกะโหลกศีรษะ ภาควิชาโสตศอนาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  ซึ่งทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับหู  เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ว่า วันที่  28 กรกฎาคม  2552  โจทก์มาพบพยานแจ้งอาการว่าหูไม่ได้ยิน  พยานตรวจหูทั้งสองข้างพบว่าประสาทหูของโจทก์ผิดปกติ จึงส่งโจทก์ไปตรวจการได้ยินด้วยเครื่องวัดการได้ยินได้ผลว่าโจทก์มีประสาทหูทั้งสองข้างเสื่อมจริงโดยข้างซ้ายหนวกสนิทข้างขวายังมีการได้ยินเหลืออยู่บ้าง  แต่เสื่อมระดับรุนแรง  วันที่ 31  กรกฎาคม  2552 พยานได้ตรวจร่างกายโจทก์เพิ่มเติมพบว่าโจทก์มีอาการหน้าซีกซ้ายชา  ลิ้นซีกซ้ายทำงานผิดปกติ  เมื่อได้ความเช่นนั้นจึงส่งตรวจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเครื่องเอ็มอาร์ไอพบว่ามีก้อนเนื้องอกที่เส้นประสาทสมองเส้นที่ 8  ทั้งสองข้าง ซึ่งเห็นได้ว่าขั้นตอนและวิธีในการตรวจผู้ป่วยของนายแพทย์ จ.ก็ไม่ต่างไปจากการตรวจรักษาของจำเลยที่ 1  นอกจากนี้เมื่อย้อนดูประวัติที่โจทก์ไปรับการตรวจรักษากับแพทย์อื่นในโรงพยาบาลลำพูนหลังการตรวจรักษากับจำเลยที่ 1 จึงน่าเชื่อว่าขณะรับการตรวจรักษาจากจำเลยที่ 1  และแพทย์อื่นในโรงพยาบาลลำพูน อาการของโจทก์ยังไม่ปรากฏให้เป็นข้อสงสัยว่าโจทก์เป็นโรคนิวโรไฟโปรมาโตซิส  ไทน์ทู อันจะต้องส่งโจทก์ไปตรวจที่โรงพยาบาลอื่นที่มีเครื่องมือดีกว่าโรงพยาบาลลำพูน  เชื่อว่าการตรวจวินิจฉัยโรคของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์เป็นการใช้ความรู้ความสามารถตามมาตรฐานหลักวิชาชีพแพทย์โดยทั่วไปอย่างละเอียดเหมาะสมแล้ว  ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า  ผลการวินิจฉัยผิดพลาดของจำเลยที่ 1  ทำให้จิตแพทย์ของโรงพยาบาลลำพูนส่งโจทก์ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลสวนปรุง  จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรคจิตโดยเฉพาะส่งผลให้อาการของโจทก์กำเริบหนักขึ้นนั้น  เห็นว่า นายแพทย์ ว. เป็นผู้วินิจฉัยว่าโจทก์มีอาการทางจิตและส่งตัวโจทก์ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลสวนปรุง โดยวิเคราะห์จากอาการที่ปรากฏในขณะที่โจทก์มารับการรักษากับนายแพทย์ ว.  ประกอบกับคำยืนยันของมารดาโจทก์ในขณะนั้น  หาได้เป็นการวินิจฉัยโรคและสั่งการของจำเลยที่ 1 หรือใช้ข้อมูลจากใบรับรองแพทย์ที่จำเลยที่ 1  ออกให้แก่โจทก์ในการวินิจฉัยโรคของโจทก์แต่อย่างใดเลย  ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1  กระทำละเมิดแก่โจทก์  จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง

Share