แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้ทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลโดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเองเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 ซึ่งหมายเรียกดังกล่าวระบุให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหมาย จำเลยที่ 2 สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงย่อมอ่านและเข้าใจข้อความในหมายเรียกได้ดีกว่าจำเลยทั้งสองต้องยื่นคำให้การต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหมายเรียกนั้นแต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กำหนด จนกระทั่งโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 27 สิงหาคม 2535ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่โจทก์ขอเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2535 จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองที่ว่าไม่เคยถูกฟ้องคดีแพ่งมาก่อนและไม่ทราบกระบวนพิจารณาทางกฎหมาย เข้าใจว่าคงเป็นเช่นเดียวกับคดีอาญาซึ่งจำเลยทั้งสองเคยถูกฟ้องและได้ไปหาทนายความก่อนวันที่ศาลนัดเพียง 2 ถึง 3วันก็ได้นั้น ไม่เป็นเหตุผลให้รับฟังได้ แม้ได้ความจากเอกสารการตรวจรับงานและการจ่ายเงินว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ยึดถือระยะเวลาการทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาเป็นสาระสำคัญก็ตาม แต่หลังจากครบกำหนด 300 วัน ตามสัญญาโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ.ก่อสร้างบ้านต่อจากจำเลยที่ 1 ซึ่งก่อสร้างไว้ไม่แล้วเสร็จ โดยตกลงค่าจ้างเป็นเงินจำนวน 3,916,901 บาท และโจทก์ต้องเสียค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องจ้างห้างหุ้นส่วนจำกักผ.ทำการก่อสร้างบ้านต่อจากที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเป็นเงิน 1,816,901 บาทจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดใช้เงินค่าจ้างที่โจทก์ต้องเสียเพิ่มขึ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามที่ได้สัญญาไว้ แต่โดยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์เป็นเงินเพียง900,000 บาท และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียค่าจ้างเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เพียง 900,000 บาท คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ทำงานนอกสัญญาจ้างเดิมโดยให้ก่อสร้างรั้วป้อมยามกับศาลาพักร้อนและโจทก์ค้างชำระค่าจ้างดังกล่าวเป็นเงิน 624,000 บาทเศษ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจหักเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยได้นั้น เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ขอหักกลบลบหนี้จำนวนดังกล่าวไว้ จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยทั้งสองจะขอหักกลบลบหนี้ได้เช่นนั้น ศาลไม่มีอำนาจหักเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยได้ เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379เป็นเรื่องลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ข้อกำหนดตามสัญญาข้อ 3 ที่ว่าถ้าจำเลยผู้รับเหมาเพิ่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญา แต่โจทก์ผู้ว่าจ้างมิได้บอกเลิกสัญญาจำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันวันละ 5,000 บาท มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้นในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรแยกไว้ชัดแจ้งเป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้ว ส่วนการที่หนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคาร ข้อ 5 มีข้อความว่า ในวันทำสัญญานี้จำเลยได้นำหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท มีกำหนดเวลาค้ำประกันตั้งแต่วันที่สัญญานี้มีผลบังคับใช้จนกว่าจำเลยจะพ้นความรับผิดชอบตามสัญญามามอบให้ผู้ว่าจ้างยึดถือไว้เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ถ้าระยะเวลาการก่อสร้างต้องล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเหตุให้ระยะเวลาต้องยึดออกไปด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามหรือมีเหตุให้จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาเพิ่มขึ้น จำเลยสัญญาว่าจะต่ออายุหนังสือค้ำประกันออกไปหรือเพิ่มจำนวนเงินที่ค้ำประกันให้เพียงพอกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น โดยจะนำมามอบให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์เรียกร้อง และวรรคสองระบุว่าหนังสือค้ำประกันที่จำเลยนำมามอบให้โจทก์ยึดถือไว้ตามวรรคแรกโจทก์จะคืนให้เมื่อจำเลยได้มอบงานซึ่งเสร็จสมบูรณ์ให้แก่โจทก์และนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อเป็นประกันความชำรุดบกพร่องของอาคารที่สร้างขึ้นตามข้อ 22 มามอบให้โจทก์แล้ว และข้อ 21 ระบุว่าเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยยอมให้โจทก์ดำเนินการตามข้อ 21.1คือริบหลักประกันดังกล่าวในสัญญาข้อ 5 เช่นนี้ ข้อสัญญาเกี่ยวกับหลักประกันดังกล่าวแสดงว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองประสงค์ให้มีการวางหลักประกันหรือหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 5 เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยทั้งสอง แต่ในที่สุดจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำหลักประกันหรือหนังสือค้ำประกันมาวางเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์สัญญาข้อ 5 และข้อ 21.1 ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำขึ้นและปฏิบัติต่อกันเช่นที่กล่าวมานี้จึงเป็นเพียงให้มีการวางหลักประกันหรือหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซึ่งโจทก์อาจมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเช่นที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 3เท่านั้น หาใช่เป็นข้อสัญญาเพื่อกำหนดเบี้ยปรับขึ้นใหม่ไม่ และกรณีนี้เมื่อไม่มีการวางหลักประกันหรือหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 5และ ข้อ 21.1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้เงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน2,316,901 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ อ้างว่าไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน1,200,000 บาท ให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินแก่โจทก์ 800,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่30 พฤศจิกายน 2531 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก่อสร้างบ้านให้โจทก์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 47121ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในราคาค่าจ้างเหมา 9,000,000 บาท แบ่งงานเป็น 9 งวด และโจทก์จะชำระค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นงวดตามผลสำเร็จของงานแต่ละงวด โดยจำเลยที่ 1 จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จและส่งมอบงานทั้งหมดให้โจทก์ภายใน 300 วัน นับแต่วันทำสัญญาจำเลยที่ 1ก่อสร้างและส่งมอบงานให้โจทก์ได้ 7 งวด โจทก์ได้จ่ายเงินค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 สำหรับงานทั้ง 7 งวดเป็นเงินจำนวน 6,900,000บาท จำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน2533 แล้วโจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดผลเจริญและวิศวกรรมให้ทำการก่อสร้างอาคารส่วนที่เหลือจนแล้วเสร็จในราคาค่าจ้างทั้งสิ้น3,916,901 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นข้อแรกว่าจำเลยทั้งสองมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้ทำคำให้การแก้คดียื่นต่อศาลโดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเองเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 ซึ่งหมายเรียกดังกล่าวระบุให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การต่อศาลภายใน15 วัน นับแต่วันได้รับหมาย จำเลยที่ 2 สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงย่อมอ่านและเข้าใจข้อความในหมายเรียกได้ดีว่าจำเลยทั้งสองต้องยื่นคำให้การต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหมายเรียกนั้นแต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้ยื่นคำให้การภายในเวลาที่กำหนดจนกระทั่งโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 27 สิงหาคม 2535 ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่โจทก์ขอเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2535 จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่เคยถูกฟ้องคดีแพ่งมาก่อนและไม่ทราบกระบวนพิจารณาทางกฎหมาย เข้าใจว่าคงเป็นเช่นเดียวกับคดีอาญาซึ่งจำเลยทั้งสองเคยถูกฟ้องและได้ไปหาทนายความก่อนวันที่ศาลนัดเพียง2 ถึง 3 วันก็ได้นั้น ไม่เป็นเหตุผลให้รับฟังได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างไม่ได้ยึดถือระยะเวลาทำงานแล้วเสร็จภายใน 300 วันตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์จะบอกเลิกสัญญาโจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาให้จำเลยที่ 1 ทำงานให้แล้วเสร็จก่อน เมื่อโจทก์ไม่ได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ทำงานให้แล้วเสร็จโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่าแม้ได้ความจากเอกสารการตรวจรับงานและการจ่ายเงินหมาย จ.6และ จ.7 ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ยึดถือระยะเวลาการทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาเป็นสาระสำคัญก็ตาม แต่โจทก์ก็มีนายชาญ พีรโภคิน กรรมการของโจทก์เบิกความเป็นพยานยืนยันว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ได้เรียกประชุมผู้ออกแบบและผู้รับเหมาซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วยเพื่อเร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จสิ้นตามสัญญา แต่ปรากฏว่างานไม่คืนหน้าแต่อย่างใด โจทก์เห็นว่าหากปล่อยไว้โจทก์ละเสียหายโจทก์จึงมีหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.8 บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2533 ซึ่งจำเลยที่ 2เองก็เบิกความรับว่า ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างในงวดที่ 8 และที่ 9 อยู่นั้น โจทก์ได้เรียกประชุมเป็นครั้งคราวและต่อมาโจทก์มีหนังสือตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.8 บอกเลิกสัญญาคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเจือสมพยานหลักฐานของโจทก์ให้ฟังได้ว่าหลังจากครบกำหนด 300 วัน ตามสัญญาโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์จะเรียกค่าเสียหายเป็นเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะโจทก์ต้องจ้างคนอื่นทำการก่อสร้างในส่วนที่จำเลยทั้งสองดำเนินการไม่แล้วเสร็จต่อไปได้หรือไม่ เพียงใดในปัญหานี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ต้องเสียค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดผลเจริญและวิศวกรรมทำการก่อสร้างบ้านต่อจากที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเป็นเงิน 1,816,901 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้เงินค่าจ้างที่โจทก์ต้องเสียเพิ่มขึ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามที่ได้สัญญาไว้แต่โดยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์เป็นเงินเพียง900,000 บาท และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียค่าจ้างเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์เพียง 900,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ทำงานนอกสัญญาจ้างเดิมโดยให้ก่อสร้างรั้วป้อมยาม กับศาลาพักร้อน และโจทก์ค้างชำระค่าจ้างในส่วนการจ้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 รวมเป็นเงิน 624,000 บาทเศษ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจหักเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยได้ นั้นเห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ขอหักกลบลบหนี้จำนวนดังกล่าวไว้จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยทั้งสองจะขอหักกลบลบหนี้ได้เช่นนั้นศาลไม่มีอำนาจหักเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยได้จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียค่าจ้างเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์จำนวน 900,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ว่าหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5 และข้อ 21.1 เป็นการกำหนดเบี้ยปรับหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379เป็นเรื่องลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องเมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ซึ่งตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 มีข้อกำหนดอยู่แล้วว่าถ้าผู้รับเหมาส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาแต่ผู้ว่าจ้างมิได้บอกเลิกสัญญาผู้รับเหมายินยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้
3.1 ปรับผู้รับเหมาเป็นรายวันวันละ 5,000 บาท(ห้าพันบาทถ้วน) นับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันที่งานแล้วเสร็จบริบูรณ์
3.2 เรียกค่าเสียหายพิเศษอันเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ผู้รับเหมาทำงานล่าช้า (หากจะพึงมี)
3.3 เรียกค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในกรณีที่ผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้รับเหมาส่งมอบงานตามจำนวนที่ผู้ว่าจ้างต้องเสียให้ผู้ควบคุมงาน เว้นแต่ความล่าช้านั้นได้รับอนุมัติ หรือยินยอมเป็นหนังสือจากสถาปนิกหรือวิศวกรผู้ควบคุมงาน
ข้อกำหนดตามสัญญาข้อ 3 ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้นในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรแยกไว้ชัดแจ้งเป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้วส่วนการที่หนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5มีข้อความว่า “ในวันทำสัญญานี้ผู้ว่าจ้าง (ที่ถูกน่าจะเป็นผู้รับจ้าง) ได้นำหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท(ห้าแสนบาทถ้วน) มีกำหนดเวลาค้ำประกันตั้งแต่วันที่สัญญานี้มีผลบังคับใช้จนกว่าผู้รับจ้างจะพ้นความรับผิดชอบตามสัญญามามอบให้ผู้ว่าจ้างยึดถือไว้เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ถ้าระยะเวลาก่อสร้างต้องล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเหตุให้ระยะเวลาต้องยืดออกไปด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม หรือมีเหตุให้ผู้รับเหมาต้องรับผิดตามสัญญาเพิ่มขึ้น ผู้รับเหมาสัญญาว่าจะต่ออายุหนังสือค้ำประกันออกไปหรือเพิ่มจำนวนเงินที่ค้ำประกันให้เพียงพอกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น โดยจะนำมามอบให้แก่ผู้ว่าจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างเรียกร้อง” และวรรคสองระบุว่า”หนังสือค้ำประกันที่ผู้รับเหมานำมามอบให้ผู้ว่าจ้างยึดถือไว้ตามวรรคแรก ผู้ว่าจ้างจะคืนให้เมื่อผู้รับเหมาได้มอบงานซึ่งเสร็จสมบูรณ์ให้แก่ผู้ว่าจ้างและนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อเป็นประกันความชำรุดบกพร่องของอาคารที่สร้างขึ้นตามข้อ 22มามอบให้ผู้ว่าจ้างแล้ว” และข้อ 21 ระบุว่า “เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วผู้รับเหมายอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้ 21.1 ริบหลักประกันดังกล่าวในสัญญาข้อ 5” ข้อสัญญาเกี่ยวกับหลักประกันดังกล่าวแสดงว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองประสงค์ให้มีการวางหลักประกันหรือหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 5 เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยทั้งสอง แต่ในที่สุดจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำหลักประกันหรือหนังสือค้ำประกันมาวางเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ สัญญาข้อ 5 และข้อ 21.1 ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ทำขึ้นและปฏิบัติต่อกันเช่นที่กล่าวมานี้จึงเป็นเพียงให้มีการวางหลักประกันหรือหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซึ่งโจทก์อาจมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเช่นที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 3 เท่านั้น หาใช่เป็นข้อสัญญาเพื่อกำหนดเบี้ยปรับขึ้นใหม่ไม่ และกรณีนี้เมื่อไม่มีการวางหลักประกันหรือหนังสือค้ำประกันตามสัญญาข้อ 5 และ ข้อ 21.1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้เงินจำนวน 500,000 บาทให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน900,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์