แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าคืนจากจำเลยทั้งสามโดย อ้างว่าได้ส่งสินค้าคืนจำเลยทั้งสามแล้ว แม้โจทก์บรรยาย ในคำฟ้องว่า สินค้าของจำเลยไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดและไม่ผ่านการทดสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และจำเลยให้การว่าไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับ โจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า สินค้าของจำเลยชำรุดบกพร่องหรือไม่ ทั้งได้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยตลอดมาถึงศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าโจทก์นำสินค้าไปคืนจำเลยโดยอ้างว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานและจำเลยที่ 1 ก็ยินยอมรับสินค้าคืนจากโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามยินยอมรับคืนโดยมีเงื่อนไขอย่างไร ย่อมฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าคืนจากโจทก์แล้วจึงจำต้องคืนราคาสินค้าแก่โจทก์ด้วย กรณีมิใช่พิพาทกันในเรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ซื้อขายกัน โจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,164,684 บาทแต่ในการชำระราคา เมื่อโจทก์ทราบว่าสายไฟฟ้าที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานจึงสั่งอายัดเช็คจำนวน350,000 บาท และโจทก์ยังค้างชำระราคาสินค้าจำนวน350,000 บาท ดังนั้น จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจาก ราคาสินค้าทั้งหมดก่อน คงเหลือราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1ต้องคืนแก่โจทก์จำนวน 2,814,684 บาท จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ในการเจรจาติดต่อนำสินค้า ไปคืนแก่จำเลยที่ 1 รวมทั้งการทวงถามค่าสินค้าคืนจาก จำเลยที่ 1 โจทก์ได้ติดต่อโดยตรงกับจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ติดต่อซื้อสายไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 โดยติดต่อผ่านส. โดยไม่ระบุยี่ห้อ และไม่มีข้อตกลงกำหนดมาตรฐานคุณภาพของสินค้าไว้ โดยการสั่งซื้อ โจทก์ไม่ได้ระบุว่าสินค้าจะผลิตจากโรงงานใด โจทก์เพียงแต่ระบุขนาดของสายไฟฟ้าที่จะ ใช้เท่านั้น นอกจากนี้ก็เป็นความผิดของโจทก์เองที่นำสายไฟฟ้า ไปติดตั้งก่อนโดยไม่ผ่านการทดสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่ จึงเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลย ไม่อาจคาดเห็นได้ล่วงหน้า จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมรับผิดคืนราคาสินค้า และให้ชดใช้ค่าเสียหายอีกส่วนหนึ่งแก่โจทก์ มิได้พิพาทกัน เกี่ยวกับความรับผิดในการรอนสิทธิ ที่จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ก็ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าขาดอายุความ ในเรื่องใด อย่างไร ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2534 โจทก์สั่งซื้อสายไฟฟ้าจากจำเลยที่ 3 ซึ่งกระทำการในนามจำเลยที่ 1 และชำระราคา 3,164,684 บาท ให้จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์นำสายไฟฟ้าไปติดตั้งในระบบจำหน่ายไฟฟ้าโครงการปาล์มฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ คันทรีคลับที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ปรากฏว่าสายไฟฟ้าไม่ผ่านการทดสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัทปาล์มฮิลล์ พรอพเพอร์ตี้จำกัดผู้ว่าจ้างโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงเปลี่ยนสายไฟฟ้าใหม่จนผ่านการทดสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและนำสายไฟฟ้าเดิมไปคืนให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุญกนิษฐ์ ไวร์ แอนด์ เคเบิ้ล แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมคืนเงินค่าสายไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายในการรื้อสายไฟฟ้าออกและติดตั้งใหม่ จำนวน 400,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 3,564,684 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายสายไฟฟ้าให้แก่ บริษัทปาล์มฮิลล์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด และนางสาวลัดดา ศรีสุภาพ ในฐานะส่วนตัว แต่นางสาวลัดดายังชำระราคาแก่จำเลยที่ 1 ไม่ครบ จำเลยที่ 1 ไม่ผิดสัญญาเพราะเป็นความประมาทของโจทก์ที่ไม่ตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนชำระราคา และฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน3,264,684 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์รับจ้างบริษัทปาล์มฮิลล์ พรอพเพอร์ตี้จำกัด ติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าในโครงการปาล์มฮิลล์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ คันทรีคลับที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2534 ถึงเดือนกันยายน 2534 โจทก์ติดต่อสั่งซื้อสายไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 คิดเป็นราคาทั้งสิ้นจำนวน 3,164,684 บาท นำไปติดตั้งในโครงการจนแล้วเสร็จ แต่คุณภาพของสายไฟฟ้าดังกล่าวไม่ผ่านการทดสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแล้วติดตั้งใหม่ทั้งหมด ครั้นเดือนพฤศจิกายน 2534 โจทก์นำสายไฟฟ้าทั้งหมดไปส่งคืนให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3เป็นผู้รับไว้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดคืนเงินค่าสินค้าแก่โจทก์รวมทั้งค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้ใช้จ่ายไปในการรื้อถอนและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าคืนจากจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่า ได้ส่งสินค้าคืนจำเลยทั้งสามแล้ว แม้จะบรรยายในคำฟ้องว่า สินค้าของจำเลยที่ 1 ไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดและไม่ผ่านการทดสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามให้การว่าไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า สินค้าของจำเลยที่ 1ชำรุดบกพร่องหรือไม่และมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยตลอดมาถึงศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าโจทก์นำสินค้าไปคืนจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานและจำเลยที่ 1ก็ยินยอมรับสินค้าคืนจากโจทก์โดยไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสามว่ายินยอมรับคืนโดยมีเงื่อนไขอย่างไร จึงฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายเมื่อสัญญาเลิกกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าคืนจากโจทก์แล้วจึงจำต้องคืนราคาสินค้าแก่โจทก์ด้วย กรณีหาใช่พิพาทกันในเรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องในตัวทรัพย์ที่ซื้อขายกันแต่อย่างใดไม่ อย่างไรก็ดี แม้จะได้ความว่า โจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,164,684 บาท แต่ในการชำระราคานั้นนางสาวลัดดา ศรีสุภาพ กรรมการผู้จัดการโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสามถามค้านว่า เมื่อพยานทราบว่าสายไฟฟ้าที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานจึงสั่งอายัดเช็คจำนวน350,000 บาท และไม่เคยชำระจนบัดนี้ ซึ่งรับกับข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามที่ว่านางสาวลัดดายังค้างชำระราคาสินค้าจำนวน350,000 บาท ดังนั้น จึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากราคาสินค้าทั้งหมดก่อน คงเหลือราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนแก่โจทก์จำนวน 2,814,684 บาท จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ได้ความจากคำนางสาวลัดดาและนายธนพล ประสาทเขตการณ์ พยานโจทก์ว่า การเจรจาติดต่อนำสินค้าไปคืนแก่จำเลยที่ 1 รวมทั้งการทวงถามค่าสินค้าคืนจากจำเลยที่ 1 นั้น พยานทั้งสองได้ติดต่อโดยตรงกับจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ จึงฟังได้ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
สำหรับปัญหาว่าจำเลยทั้งสามจะต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า ได้ซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1โดยติดต่อผ่านนายอภิชาติ ศักดิ์เชิดชูตระกูล นายอภิชาติเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า นางสาวลัดดา กรรมการผู้จัดการโจทก์ติดต่อซื้อสายไฟฟ้ากับพยานโดยไม่ระบุยี่ห้อ และไม่ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่ามีข้อตกลงกำหนดมาตรฐานคุณภาพของสินค้าไว้อย่างไรหรือไม่ แต่กลับได้ความจากนายอภิชาติพยานโจทก์ว่าการสั่งซื้อของโจทก์นั้น โจทก์ไม่ได้ระบุว่าสินค้าจะผลิตจากโรงงานไหน โจทก์เพียงแต่ระบุขนาดของสายไฟฟ้าที่จะใช้เท่านั้นนอกจากนี้ตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้ กรณีก็เป็นความผิดของโจทก์เองที่นำสายไฟฟ้าไปติดตั้งก่อนโดยไม่ผ่านการทดสอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามระเบียบ ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่จึงเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษซึ่งจำเลยทั้งสามไม่อาจคาดเห็นได้ล่วงหน้า จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์
ส่วนปัญหาเรื่องอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามให้การเพียงว่า “คดีนี้ของโจทก์ขาดอายุความที่จะรอนสิทธิจำเลยหรือบุคคลอื่นใดได้ตามกฎหมาย และคดีของโจทก์ขาดอายุความตามกฎหมายที่จะสามารถดำเนินคดีกับจำเลยได้” เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมรับผิดคืนราคาสินค้าและให้ชดใช้ค่าเสียหายอีกส่วนหนึ่งแก่โจทก์ มิได้พิพาทกันเกี่ยวกับความรับผิดในการรอนสิทธิแต่อย่างใด ที่จำเลยให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความก็ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าขาดอายุความในเรื่องใด อย่างไร ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ก็เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน2,814,684 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์