คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์แห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทคือการรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่จะซื้อสำหรับโจทก์และการชำระค่าที่ดินตามจำนวนที่ตกลงกันสำหรับจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตั้งแต่วันถึงกำหนดโอนตามสัญญาว่ามีการเวนคืนที่ดิน และที่ดินที่จะซื้อจะขายอยู่ในเขตเวนคืนด้วยอันจะมีผลทำให้ที่ดินที่จะซื้อจะขายถูกเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนั้น การปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาจึงเกิดปัญหาทั้งในส่วนจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ และในส่วนจำนวนค่าที่ดินที่จำเลยมุ่งไว้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย กรณีถือได้ว่าการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทในคดีนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันต่อไปอีก กรณีไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ และจำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 902 ให้โจทก์ในราคา 135,000,000 บาท จำเลยรับมัดจำแล้ว 40,000,000 บาทราคาที่เหลือ 95,000,000 บาท โจทก์ตกลงจะชำระให้จำเลยในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากโจทก์ผิดสัญญายอมให้จำเลยริบมัดจำหากจำเลยผิดสัญญายอมคืนมัดจำและชำระค่าปรับอีก 40,000,000 บาทก่อนถึงวันกำหนดนัดจดทะเบียนโอน โจทก์สืบทราบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตสำรวจของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเวนคืนโจทก์จึงแจ้งจำเลยขอขยายเวลารับโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินที่เหลือจนกว่าจะทราบแนวเวนคืนที่แน่ชัด แต่จำเลยไม่ยอมและใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำ 40,000,000 บาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โจทก์ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนมัดจำและชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน87,539,725.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีของต้นเงิน 80,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ทราบว่าที่ดินแปลงพิพาทอยู่ในเขตสำรวจของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเวนคืน หากมีการสำรวจจริงก็ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าที่ดินจะถูกเวนคืนหรือไม่ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเวนคืนที่ดินแปลงนี้หรือกำหนดให้ที่ดินแปลงนี้อยู่ในบริเวณที่จะเวนคืน จำเลยบอกเลิกสัญญาและริบมัดจำโดยชอบ ไม่จำเป็นต้องคืนมัดจำและชำระเบี้ยปรับตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ความตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับตรงกันเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 6กันยายน 2533 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.21 หรือ ล.3 แต่ก่อนวันถึงกำหนดโอนปรากฏว่าทางราชการได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งที่ดินจะซื้อขายอยู่ในเขตเวนคืนทั้งแปลงโจทก์จึงเจรจากับจำเลยขอเลื่อนกำหนดนัดโอนออกไปอีกหกเดือนเพื่อฟังผลการเวนคืนโดยโจทก์ยืนยันว่าจะรับโอนและชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืน จำเลยตกลงยอมเลื่อนเวลาให้โดยตั้งเงื่อนไขให้โจทก์วางเงินมัดจำเพิ่มอีก 10 ล้านบาทโจทก์เห็นว่ามากไป จึงไม่ยอมวางเงินมัดจำเพิ่มตามที่เรียกร้องและมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.24 ถึงจำเลยยืนยันขอเลื่อนกำหนดการโอน จำเลยมีหนังสือเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2534ตอบยืนยันให้ทำการโอนตามกำหนดเดิมตามเอกสารหมาย ล.4 หนังสือถึงโจทก์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2534 และในวันถึงกำหนดโอนคือวันที่6 มีนาคม 2534 โจทก์ได้ทำบันทึกพร้อมแสดงแคชเชียร์เช็คสำหรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินยืนยันขอเลื่อนไปอีก 6 เดือนเพื่อฟังผลการเวนคืนปรากฏตามเอกสารหมาย จ.27 จำเลยยื่นบันทึกต่อเจ้าพนักงานที่ดินและแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีว่าได้มารอพร้อมจะทำการโอนแล้วแต่โจทก์ไม่มารับโอนและชำระราคาที่ดินตามเอกสารหมาย ล.8 ถึง ล.16 ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำปรากฏตามเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2534 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสิทธิและเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงขอมัดจำคืนและเรียกค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7ต่อมาปรากฏผลการเวนคืนว่าที่ดินพิพาทถูกเวนคืนไปเพียงบางส่วนเป็นจำนวน 4 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา และคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินพิพาทตารางวาละ 4,000 บาท จำเลยในฐานะประธานสภาเขตลาดกระบังเป็นกรรมการโดยตำแหน่งอยู่ด้วยแต่จำเลยยังไม่พอใจอัตราค่าทดแทนดังกล่าวและยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มค่าทดแทนอยู่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยผิดสัญญาและต้องคืนมัดจำกับต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าวัตถุประสงค์แห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทตามเอกสารหมาย จ.21, ล.3 นั้น คือ การรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่จะซื้อสำหรับโจทก์และการชำระค่าที่ดินตามจำนวนที่ตกลงกันสำหรับจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตั้งแต่วันถึงกำหนดโอนตามสัญญาว่ามีการเวนคืนที่ดินและที่ดินที่จะซื้อจะขายอยู่ในเขตเวนคืนด้วย อันจะมีผลทำให้ที่ดินที่จะซื้อจะขายถูกเวนคืนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนั้น การปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาจึงเกิดปัญหาทั้งในส่วนจำนวนเนื้อที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับตามที่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ และในส่วนจำนวนค่าที่ดินที่จำเลยมุ่งไว้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย กรณีถือได้ว่า การชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทในคดีนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372 ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกันต่อไปอีก กรณีไม่อาจถือได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาแต่ประการใด โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้สำหรับเงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จากโจทก์ 40,000,000 บาท นั้นเมื่อการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ฟ้องเป็นต้นไปด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 40,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share