คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5888/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำขอท้ายฟ้องของโจทก์กำหนดให้จำเลยกระทำการชำระหนี้หลายอย่างทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับ เมื่อไม่สามารถกระทำอย่างแรกแล้วให้กระทำอย่างหลัง เมื่อการชำระหนี้อย่างแรกยังไม่ตกเป็นพ้นวิสัยการกำหนดให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมร่วมกันชำระหนี้เป็นเงินซึ่งเป็นการชำระหนี้อย่างหลังไปเสียทีเดียว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 202

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันขุดหน้าดินที่ดินโฉนดเลขที่ 2128 ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบ่อขนาดใหญ่มีความลึกประมาณ 15 ถึง 20 เมตร กว้างเต็มเนื้อที่ดินโดยมิได้เว้นระยะห่างจากแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 3821 และ 3824 ของโจทก์ทำให้พื้นผิวที่ดินโจทก์เลื่อนไหลพังทลายลงไปในบ่อดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบริเวณกว้าง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กตามแนวที่ดินด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 3821 และ 3824 ความยาวรวม 2 แปลง56 เมตร และลึกนับแต่พื้นผิวดินเดิมลงไปจนถึงพื้นผิวของก้นบ่อดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมีรากฐานอันมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิชาการสามารถป้องกันการเลื่อนไหลของผิวดินได้กับนำดินมาถมในที่ดินดังกล่าวของโจทก์เพื่อให้พื้นผิวดินอยู่ในสภาพคงเดิมเริ่มตั้งแต่แนวสันเขื่อนตลอดไปจนเต็มเนื้อที่ดินที่พังทลายและให้มีระดับกับความหนาแน่นเท่ากับพื้นผิวดินเดิมของโจทก์หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าก่อสร้างเขื่อนและค่าถมดินแก่โจทก์ 10,000,000 บาทเพื่อโจทก์ดำเนินการเอง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า มิได้เป็นผู้ขุดดินตามฟ้องที่ดินจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขายให้แก่ผู้อื่นไปแล้วแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอน ที่ดินโจทก์มิได้พังทลายเสียหายและค่าเสียหายไม่ถึง 10,000,000 บาท ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกนางสาวอัญชนี ประชากุล เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 7,190,800 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้เงินค่าดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและถมดินแก่โจทก์เพียงอย่างเดียวได้หรือไม่เพียงใด ในปัญหาว่าจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยร่วมขุดดินในที่ดินจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยทั้งสามจึงร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์
ปัญหาต่อไปที่ว่า ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามใช้เงินค่าดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและถมดินแก่โจทก์เพียงอย่างเดียวได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า นอกจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันการเลื่อนไหลของผิวดินและถมดินให้คงสภาพเดิม ยังมีคำขอว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ใช้เงินค่าก่อสร้างเขื่อนและค่าถมดินแก่โจทก์เป็นเงิน 10,000,000 บาท เพื่อโจทก์ดำเนินการเองดังนี้ คำขอของโจทก์เป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสามกระทำการชำระหนี้หลายอย่างทีละอย่างก่อนหลังตามลำดับกล่าวคือ ไม่สามารถจะกระทำอย่างแรกแล้วจึงให้กระทำอย่างหลังและการชำระหนี้อย่างแรกด้วยการสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กยังไม่ตกเป็นอันพ้นวิสัย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมให้ร่วมกันชำระหนี้เป็นเงินไปเสียทีเดียว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 202 สำหรับจำนวนค่าดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและถมดินควรเป็นเท่าใดนั้นปรากฏว่าที่ดินโจทก์ทั้ง 2 แปลงพังทลายเสียหายตลอดแนวติดต่อกับที่ดินจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยพังลงไปลึกมากมีความยาวถึง 56 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ นายสมเกียรติพยานโจทก์ได้สำรวจและคำนวณการสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันกับถมดินให้คงสภาพเดิมต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินถึง 10,899,252 บาท ตามเอกสารหมาย จ.11 แต่การที่ศาลล่างทั้งสองคำนวณค่าก่อสร้างเขื่อนตามที่จำเลยนำสืบมาแล้วเพิ่มราคาอีกร้อยละ 20 เป็นเงิน 3,190,800 บาท นั้นเป็นการคำนวณให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ค่าวัสดุก่อสร้างและค่าจ้างมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมจึงเหมาะสมแล้วส่วนค่าถมดินนั้น เห็นว่า ตามรายการที่จำเลยทั้งสามอ้างในใบประมาณราคาเอกสารหมาย ล.7 เป็นเงิน 840,000 บาทนั้นเป็นการเหมาจ่ายไม่มีรายละเอียดว่าถมในที่ดินกว้างยาวและลึกเท่าใดในราคาหน่วยละเท่าไร จึงถือเอาเป็นค่าถมดินที่แท้จริงไม่ได้สำหรับโจทก์นำสืบตามเอกสารการประกวดราคาหมาย จ.11 ว่าต้องเสียค่าถมดิน 90,000 บาท ต่อความยาว 1 เมตรนั้น ก็ปรากฎว่าต้องถมลึกถึง 15 เมตร แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายศักดิ์ชัย เสนทับพระพยานจำเลยทั้งสามตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า บ่อดินความลึก 20 เมตรอยู่ในที่ดินจำเลย แต่ที่แนวเขตที่ดินโจทก์จำเลยมีความลึกเพียง 5 เมตร ค่าถมดินจึงเหลือ 30,000 บาท ต่อความยาว 1 เมตรเท่านั้น เมื่อต้องถมยาว 56 เมตร ค่าถมดินจึงเป็นเงิน 1,680,000 บาทที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าถมดินให้แก่โจทก์จำนวน 4,000,000 บาทจึงสูงเกินไปกว่าที่โจทก์นำสืบ ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดค่าถมดินให้เป็นเงิน 1,680,000 บาท รวมกับค่าก่อสร้างเขื่อน 3,190,800 บาทเป็นเงินค่าดำเนินการทั้งสิ้น 4,870,800 บาท ฎีกาจำเลยทั้งสามจึงฟังขึ้นบางส่วน คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกกันชำระได้แม้จำเลยร่วมจะมิได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมร่วมกันสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ตามแบบเอกสารหมาย ล.6)ตามแนวที่ดินโจทก์ด้านทิศใต้โฉนดเลขที่ 3821 และ 3824ตำบลคลองเจ็ด (คลองหกวาสายล่างฝั่งใต้) อำเภอลำลูกกา (มีนบุรี)จังหวัดปทุมธานี (มีนบุรี) ความยาว 2 แปลง รวม 56 เมตรและให้ร่วมกันถมดินในที่ดินโจทก์ทั้ง 2 แปลงดังกล่าวตลอดแนวที่พังทลายให้มีระดับและความหนาแน่นเท่ากับพื้นผิวดินเดิมของโจทก์หากจำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตาม ให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,870,800 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share