คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3953/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกอดคอผู้เสียหายและจับแขนผู้เสียหายลากเพื่อจะพาเข้าห้องพักในโรงแรม เป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ มีความผิดฐานกระทำอนาจาร โดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ผู้เสียหายนั่งรถยนต์ไปกับจำเลย ผู้เสียหายขอลงจากรถตั้งแต่ตอนถึงตลาดแล้ว แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงเป็นว่าจะไปธุระกับเพื่อนก่อน เมื่อถึงหน้าโรงแรม ผู้เสียหายรู้ตัวว่า จำเลยคิดมิดีมิร้ายจึงพูดขอลงและจะเปิดประตูรถ แต่จำเลย ไม่ยอมให้ลงโดยล็อกประตูรถไว้ ดังนี้จำเลยมีเจตนาหน่วงเหนี่ยวผู้เสียหายไม่ให้ลงจากรถจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยใช้กำลังบังคับหน่วงเหนี่ยวและกักขังนางสาวอุษาแซ่โค้ว ผู้เสียหายไว้ในรถยนต์กระบะ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และจำเลยได้กระทำอนาจาร ผู้เสียหายอายุ 27 ปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำ จับนมผู้เสียหายต่อหน้าธารกำนัลโดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 278, 310
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278, 310 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารจำคุก 1 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278ส่วนความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นางสาวอุษา แซ่โค้วผู้เสียหายได้นั่งรถยนต์กระบะไปกับจำเลย แล้วจำเลยขับรถพาผู้เสียหายเข้าไปในบริเวณโรงแรมเพลินเพชร คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานกระทำอนาจาร และฐานหน่วยเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายด้วยหรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อรถมาถึงตลาดบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานีผู้เสียหายขอลงจะกลับเอง จำเลยก็บอกว่าเสียเวลาจะไปส่งเอง จำเลยขับรถถึงบริเวณหน้าโรงแรมเพลินเพชร พอจำเลยจะเลี้ยวขวาเข้าไปในบริเวณลานหน้าโรงแรม ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยคิดมิดีมิร้ายแล้วและพูดขอลง จำเลยเอามือมาจับคอผู้เสียหายไว้ผู้เสียหายเปิดล็อกประตูจะลงแต่จำเลยล็อกไว้ แล้วจำเลยขับรถเลี้ยวเข้าไปในช่องซึ่งเป็นโรงแรมม่านรูด ผู้เสียหายพยายามดิ้นให้หลุด จำเลยปล่อยพวงมาลัยเข้ามากอดผู้เสียหายผู้เสียหายพูดดี แต่จำเลยไม่ฟัง เกิดสู้กัน จำเลยชกท้อง ผู้เสียหายสู้ไม่ได้จึงกรี๊ดเสียงดัง และหลังจากจำเลยชกท้องแล้ว ผู้เสียหายรู้สึกจุก จำเลยเปิดประตูรถข้างคนขับเดินอ้อมไปทางหน้ารถมาเปิดประตูด้านผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายเปิดประตูและลงจากรถก่อนเพื่อจะหนี้จำเลยเข้ามาจับแขนผู้เสียหายลากจะพาเข้าห้อง ผู้เสียหายก็ร้องกรี๊ดอีกครั้ง มีพนักงานโรงแรมมาดูเป็นจำนวนมากจำเลยจึงปล่อยมือแล้วพูดว่าเดี๋ยวจะไปส่ง แต่ผู้เสียหายไม่ยอม หยิบกระเป๋าเดินออกไปบริเวณหน้าโรงแรม จำเลยขับรถพุ่งตาม ผู้เสียหายกลัวว่าจำเลยจะพุ่งชนหรือลากตัวไปอีกจึงหลบเข้าบ้านคน จำเลยหลบหนีไปนางรจนา ครุฑชาติ พนักงานโรงแรมก็เบิกความสนับสนุนผู้เสียหายว่าวันเกิดเหตุ ขณะพยานกวาดขยะบริเวณลานหน้าห้องพักภายในโรงแรมได้ยินเสียงผู้หญิงร้องวี๊ดมาจากหน้าห้องพักหลังโรงแรม พยานเข้าไปดูเห็นผู้เสียหายถือกระเป๋าออกมาจากรถยนต์กระบะแล้วเดินไปส่วนจำเลยยังนั่งอยู่ในรถแล้วจำเลยก็ขับรถออกไป ดังนี้ เห็นว่าผู้เสียหายเป็นหญิงสาว ขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขประจำสถานีอนามัยบ้านใน อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานีชาวบ้านเรียกผู้เสียหายว่า หมอบัว หากเรื่องไม่เป็นความจริงแล้วไหนเลยผู้เสียหายจะกล้าเสี่ยงร้องทุกข์จำเลยต่อพนักงานสอบสวนเพราะเป็นที่เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของตนเองและต่อหน้าที่ในทางราชการด้วย ฉะนั้น ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า ที่ผู้เสียหายส่งเสียงร้องกรี๊ดออกมาครั้งแรกนั้นคงถูกจำเลยกอดรัดคอขณะนั่งอยู่ในรถ ส่วนที่ผู้เสียหายร้องกรี๊ดครั้งที่สองนั้นเชื่อว่าคงถูกจำเลยจับแขนลากจะพาเข้าห้องพักของโรงแรม นางรจนาก็เบิกความสนับสนุนว่าได้ยินผู้เสียหายร้องวี๊ดจริง แม้ในตอนจับกุมจำเลยก็รับสารภาพต่อจ่าสิบตำรวจไพสิทธิ์ สุขมี ตามเอกสารหมาย จ.3ตอนลงบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี จำเลยก็รับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.6 ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยกอดคอผู้เสียหายก็ดี ตอนจับแขนผู้เสียหายเพื่อจะพาเข้าห้องห้องพักในโรงแรมก็ดีล้วนเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 แล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยจะมีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายด้วยหรือไม่นั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายขอลงจากรถจำเลยตั้งแต่ตอนถึงตลาดบ้านดอน แล้ว แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงเป็นว่าจะไปธุระกับเพื่อนก่อน เมื่อถึงหน้าโรงแรมเพลินเพชร ผู้เสียหายรู้ตัวว่าจำเลยคิดมิดีมิร้ายแก่ตนแล้วจึงพูดขอลงและจะเปิดประตูรถแต่จำเลยก็ไม่ย่อมให้ลงโดยล็อกประตูรถไว้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาหน่วงเหนี่ยวผู้เสียหายไม่ให้ลงจากรถอันเป็นการทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก อีกฐานหนึ่งด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share