แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก 10ซึ่งเป็นเครื่องบอกเวลาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2494 เป็นรูปมงกุฎห้ายอด บนยอดมงกุฎแต่ละยอดมีจุดกลมสีดำ ใต้มงกุฎมีอักษรโรมันคำว่า ROLEX ส่วนจำเลยเพิ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก 39 รายการดินสอ และสินค้าจำพวก 39 ทั้งจำพวกเมื่อปี 2524 และปี 2526 เป็นรูปมงกุฎห้ายอดมีจุดกลมสีดำอยู่บนยอดมงกุฎ ใต้มงกุฎต่างมีอักษรโรมันคำว่าLOlex ซึ่งมีลักษณะตัวอักษรคล้ายคลึงกัน ทั้งยังอ่านออกเสียงคล้ายคำว่า “โรเล็กซ์” ด้วย เมื่อพิจารณารวมทั้งหมดจะคล้ายคลึงกันมาก แม้จำเลยจะจดทะเบียนในสินค้าต่างจำพวกกับของโจทก์ ก็เป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิด แม้จำเลยจะยังมิได้นำสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายแต่การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปทำการจดทะเบียนถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไปได้ จำเลยลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และนำไปจดทะเบียนกับสินค้าคนละประเภทกับโจทก์ ทั้งจำเลยยังมิได้นำสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายในท้องตลาดจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเรื่องค่าเสียหาย โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทมานานกว่า 80 ปี และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย เป็นการอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) นอกเหนือจากการที่เคยใช้สิทธิโต้แย้งต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 22 ไว้แล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า ROLEX และรูปมงกุฎประดิษฐ์ตามภาพถ่ายท้ายคำฟ้องโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งแยกกันและรวมกันกับสินค้านาฬิกา สายนาฬิกา ร่ม กระเป๋า เป็นต้น สินค้าของโจทก์เฉพาะนาฬิกามีจำหน่ายแพร่หลายนานหลายสิบปี โดยตัวแทนจำหน่ายทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วหลายคำขอ เช่นคำขอจดทะเบียนเลขที่ 16918,16918/1 และทะเบียนเลขที่ 11151 จำเลยได้นำเครื่องหมายการค้ารูปมงกุฎและอักษรโรมันคำว่า Lolex อ่านว่า โรเร็กซ์ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 120718 ทะเบียนเลขที่ 80432 และคำขอเลขที่ 130119ทะเบียนเลขที่ 84377 โดยใช้วิธีดัดแปลงอักษรโรมันคำว่า ROLEXของโจทก์ กล่าวคือ ROLEX ของโจทก์เขียนด้วยตัวพิมพ์ จำเลยเปลี่ยนตัว R เป็น L และเขียนด้วยตัวเขียน อ่านออกเสียงว่าโรเล็กซ์หรือโรเร็กซ์ เหมือนหรือคล้ายกัน ส่วนรูปมงกุฎมี 5 ยอดและมีจุดบน 5 ยอด เหมือนคล้ายของโจทก์ ปรากฏตามภาพถ่ายท้ายคำฟ้องการที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้ารูปมงกุฎและคำว่า Lolex ไปใช้กับสินค้า เช่น ดินสอ เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นของโจทก์ หรือโจทก์เป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วย และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้เหมือนหรือคล้ายกัน การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ได้ลงทุนสร้างชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าเพื่อให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท ค่าโฆษณาเป็นเงินหลายล้านบาทต่อปีจึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 50,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวผู้รับมอบอำนาจโจทก์คนก่อนได้คัดค้านคำขอทะเบียนของจำเลยเลขที่ 120718 แต่นายทะเบียนยกคำคัดค้าน ส่วนคำขอเลขที่ 130119 โจทก์ไม่ทันได้คัดค้าน ขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้ารูปมงกุฎและอักษรโรมันคำว่า Lolex ของจำเลยเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้ารูปมงกุฎและอักษรโรมันคำว่า ROLEXของโจทก์ ให้จำเลยและหรือนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 120718 ทะเบียนเลขที่ 80432และคำขอเลขที่ 130119 ทะเบียนเลขที่ 84377 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปมงกุฎและอักษรโรมันคำว่า ROLEXอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 50,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกใช้
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ นอกจากนี้ชนิดสินค้าคือนาฬิกาที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นสินค้าคนละชนิดและจำพวกกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งอยู่ในจำพวก 39 มีดินสอ กระดาษ เครื่องเขียน และเครื่องเย็บสมุด ปัจจุบันจำเลยยังไม่ได้นำเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอไปใช้และหรือจำหน่ายสินค้าตามที่ขอจดทะเบียน เพียงจัดพิมพ์สติกเกอร์เป็นรูปเครื่องหมายการค้าของจำเลย เพื่อเตรียมนำมาติดบนสินค้าดังกล่าวและจะนำเสนอขาย ในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ปี 2524 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนโดยสุจริตโดยโจทก์ได้ทราบและได้โต้แย้งคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์ใช้สินค้าต่างจำพวกไม่มีความสัมพันธ์กัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยต่อไป โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนหรือนำคดีสู่ศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน โจทก์จึงไม่มีสิทธิโต้แย้งสิทธิความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในคำขอจดทะเบียนเลขที่ 120718ทะเบียนเลขที่ 80432 และคำขอเลขที่ 130119 ทะเบียนเลขที่ 84377ของจำเลย การกระทำของจำเลยไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 120718 ทะเบียนเลขที่ 80432 และคำขอจดทะเบียนเลขที่ 130119 ทะเบียนเลขที่ 84377 หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในประการแรกว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยมิได้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิด เห็นว่า โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก 10 ซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวกับเครื่องบอกเวลาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2494 ตามเอกสารหมาย จ.5 เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปมงกุฎห้ายอด บนยอดมงกุฎแต่ละยอดมีจุดกลมสีดำ ใต้มงกุฎมีอักษรโรมันคำว่า ROLEX (โรเล็กซ์) ส่วนจำเลยเพิ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก 39 รายการดินสอ และสินค้าจำพวก 39 ทั้งจำพวกเมื่อปี 2524 และปี 2526ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 โดยเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นรูปมงกุฎห้ายอดมีจุดกลมสีดำอยู่บนยอดมงกุฎเช่นเดียวกันใต้มงกุฎต่างก็มีอักษรโรมันคำว่า Lolex ซึ่งมีลักษณะตัวอักษรคล้ายคลึงกัน ทั้งยังอ่านออกเสียงคล้ายคำว่า “โรเล็กซ์” ด้วยเมื่อพิจารณารวมทั้งหมดจะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกันมาก แม้จำเลยจะจดทะเบียนในสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าของโจทก์ ก็นับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิด เพราะผู้ซื้อหรือผู้ใช้สินค้าอาจหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าที่โจทก์ผลิตขึ้น แม้จำเลยจะยังมิได้นำสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายแต่การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปทำการจดทะเบียนถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อไปได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า จำเลยยังไม่เคยนำสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายในท้องตลาดจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเรื่องค่าเสียหายนั้น เห็นว่า จำเลยลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และนำไปจดทะเบียนกับสินค้าคนละประเภทกับโจทก์ ทั้งจำเลยมิได้นำสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายในท้องตลาด โจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการกระทำของจำเลยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเรื่องค่าเสียหาย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยฎีกาต่อมาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าคัดค้านคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ยกคำคัดค้านของโจทก์หรือนำคดีไปสู่ศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยจากนายทะเบียนนั้นเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ามานานกว่า 80 ปี และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย เป็นการอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) นอกเหนือจากการที่เคยใช้สิทธิโต้แย้งต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 22 ไว้แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในเรื่องค่าเสียหายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์