แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดโดยยกข้ออ้างว่า จำเลยกล่าวหรือไข่ข่าวซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์ซึ่งเป็นความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา 423แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อข้อความที่จำเลยพูดทางโทรศัพท์แก่ น. ภริยาโจทก์เป็นความจริงการที่จำเลยกล่าวแก่ น. ซึ่งมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นแล้ว ย่อมไม่เป็นละเมิดตามมาตรา 423จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 420จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะนอกเหนือไปจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำผิดกฎหมายกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายข้อความฝ่าฝืนต่อความจริง กล่าวคือ โจทก์รับราชการตำแหน่งนายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดลำพูน จำเลยรับราชการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโจทก์ จำเลยโทรศัพท์ทางไกลกล่าวข้อความต่อนางเรวดี ลือกิจนา ภริยาโจทก์ว่าขณะนี้โจทก์มีความสัมพันธ์ด้านชู้สาวกับนางสาวอังคณา ณ ลำพูนซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์โดยพากันไปรับประทานอาหารนอกที่ทำการทุกวัน ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงไม่ได้เป็นดังที่จำเลยพูด ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเกียรติคุณ ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ลงโทษปรับ 2,000 บาท คดีถึงที่สุดแล้ว ขณะเกิดเหตุโจทก์รับราชการเป็นนายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดลำพูน โจทก์ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปเป็นนายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้ ทางเจริญในหน้าที่ราชการ ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังจากผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้คนในวงสังคมทั่วไป ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกล่าวข้อความแก่นางเรวดี ลือกิจนาภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยชอบการกระทำของจำเลยจึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้โทรศัพท์พูดกับนางเรวดี ลือกิจนาภริยาโจทก์ กล่าวหาว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ด้านชู้สาวกับนางสาวอังคณา ณ ลำพูน ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า คำพูดของจำเลยมีมูลอยู่บ้าง ไม่ถึงกับเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 อุทธรณ์จำเลยในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า จำเลยได้กล่าวข้อความจริงแก่นางเรวดีภริยาโจทก์ ซึ่งเป็นผู้รับข่าวสาส์นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้วจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 423 การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้การกระทำของจำเลยไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 423 เพราะข้อความที่จำเลยกล่าวไม่ถึงกับเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริง แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 420 ซึ่งจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานละเมิดโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยกล่าวหรือไขข่าวซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์ ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งความรับผิดเพื่อละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 423แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าข้อความที่จำเลยพูดทางโทรศัพท์แก่นางเรวดีตามฟ้องมีมูลความจริงอยู่บ้าง ไม่ถึงกับเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริง แสดงว่าข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นความจริง การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวแก่นางเรวดีภริยาโจทก์ซึ่งมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นแล้ว การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นละเมิดตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 423 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยรับผิดตามบทบัญญัติแห่งความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา 420นั้น จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะนอกเหนือไปจากที่ปรากฏในคำฟ้องศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง