คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์ฎีกาว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดินของโจทก์ได้สิ้นอายุก่อนโจทก์นำคดีมาสู่ศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อเสนอศาลให้พิจารณา และการเวนคืนที่ดินโจทก์ ไม่มีการออกกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อเวนคืน จึงเป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2535 แก้ไข พ.ศ. 2538 นั้น เป็นการโต้แย้งการกระทำของโจทก์เอง มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยกำหนดค่าทดแทนโดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2534 เป็นเกณฑ์กำหนดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 หากโจทก์เห็นว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดมีราคาสูงกว่าที่จำเลยกำหนดการกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ไม่เป็นธรรม โจทก์ก็ต้องพิสูจน์ให้ศาลรับฟังได้เช่นนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบพิสูจน์ให้ได้ความดังกล่าว จึงไม่อาจกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตามคำฟ้องได้ การกำหนดค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530หมวด 2 กำหนดรายละเอียดของค่าทดแทนที่ผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พึงได้รับค่าทดแทนไว้แล้วค่าเสียหายทางจิตใจมิใช่ค่าทดแทนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้ถูกเวนคืนพึงได้รับ ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าทดแทนที่เป็นค่าเสียหายทางจิตใจให้โจทก์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5 แปลงที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ราคาค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้โจทก์จำนวน 1,365,865 บาท ไม่เป็นธรรมเพราะต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายในท้องตลาด ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินเพิ่ม41,886,758.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีของต้นเงิน 29,899,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า การกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ได้พิจารณากำหนดตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นเงิน1,341,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 697,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาปัญหาแรกว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดินของโจทก์ ได้สิ้นอายุก่อนโจทก์นำคดีมาสู่ศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อเสนอศาลให้พิจารณา และการเวนคืนที่ดินโจทก์ ไม่มีการออกกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อเวนคืน จึงเป็นการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2535 แก้ไขพ.ศ. 2538 นั้น เป็นฎีกาโต้แย้งการกระทำของโจทก์เอง มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างไว้โดยชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาโจทก์ปัญหาต่อไปที่ว่า การกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ไม่เป็นธรรม เพราะไม่ได้กำหนดตามราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดนั้น เห็นว่า การกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ทางจำเลยกำหนดค่าทดแทนโดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2531ถึง พ.ศ. 2534 เป็นเกณฑ์กำหนดเป็นการกำหนดโดยอาศัยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งให้อำนาจจำเลยอาศัยเป็นหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนด หากโจทก์เห็นว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด มีราคาสูงกว่าที่ทางจำเลยกำหนด การกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ไม่เป็นธรรม โจทก์ก็ต้องพิสูจน์ให้ศาลรับฟังได้เช่นนั้น แต่ทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบพิสูจน์ให้ได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตามคำฟ้องได้ สำหรับฎีกาโจทก์ที่ขอให้ศาลกำหนดค่าเสียหายทางจิตใจที่ถูกจำเลยบังคับเวนคืนด้วยนั้นเห็นว่า การกำหนดค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ในหมวด 2 กำหนดรายละเอียดของค่าทดแทนที่ผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พึงได้รับค่าทดแทนไว้แล้วค่าเสียหายทางจิตใจมิใช่ค่าทดแทนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้ถูกเวนคืนพึงได้รับ ศาลฎีกาจึงกำหนดค่าทดแทนที่เป็นค่าเสียหายทางจิตใจให้โจทก์ตามคำฟ้องไม่ได้
พิพากษายืน

Share