แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยไม่ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ไป จำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ จึงขออนุญาตยื่นคำให้การศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ จึงขออนุญาตยื่นคำให้การ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จำเลยอุทธรณ์ทั้งคำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น สำหรับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและยกคำร้องดังกล่าวเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสองและเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226(1) ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ และศาลอุทธรณ์ไม่มี อำนาจพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งนั้นเสียและวินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลย แต่กลับไปวินิจฉัยถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมีเหตุสมควรรับคำให้การของจำเลยไว้ การวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยว่า จำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่นั่นเองคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษา ถือว่าอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยในปัญหาที่ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และเนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลย เพื่อให้การวินิจฉัยคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยเสียก่อนเนื่องจากผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจเกี่ยวโยงไปถึงสิทธิในการฎีกาคดีนี้ต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง และแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เช่าตึกแถวเลขที่ 11 ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนครกรุงเทพมหานคร จากนายวิบูล บูรณเวช และให้จำเลยหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรเพชรการช่างทำสัญญาเช่าช่วงกับโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 700 บาท ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าโจทก์ทวงถามและบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงแล้ว จำเลยไม่ยอมออกจากตึกแถวพิพาทเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาท และส่งมอบตึกแถวดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย(ค่าปรับ) วันละ 1,000 บาท นับแต่วันบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากตึกแถวพิพาท ให้ชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าภาษีโรงเรือนรวมเป็นเงิน 41,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำให้การในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรเพชรการช่าง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำให้การของจำเลยรวมทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาภายหลังทั้งหมด และสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดจักรเพชรการช่าง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ดำเนินคดีต่อไป และขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 25 มิถุนายน 2533 ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2533จำเลยยื่นคำร้องว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ จึงขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2533ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและให้ยกคำร้องและนัดสืบพยานโจทก์ไป จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากห้องเลขที่ 11 ถนนเจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนครกรุงเทพมหานคร ให้ชำระค่าเช่าที่ค้างและภาษีโรงเรือนรวม35,879.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 18 มกราคม 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระค่าปรับเดือนละ 7,000 บาท นับแต่วันเลิกสัญญาเช่าช่วง (วันที่ 6ธันวาคม 2532) จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากตึกแถวดังกล่าวให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาทแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รับคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2533 ส่งสำเนาให้โจทก์แล้ว ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่อุทธรณ์คำพิพากษาแก่จำเลยค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยไม่ยื่นคำให้การศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2533 ว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ไปจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่15 มิถุนายน 2533 ว่า จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การจึงขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งลงวันที่17 กรกฎาคม 2533 ว่า จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การจึงขออนุญาตยื่นคำให้การ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีดังกล่าวข้างต้น จำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น สำหรับอุทธรณ์คำสั่งนั้น หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ไปจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต คำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและยกคำร้องดังกล่าวเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2533 จึงเป็นการไม่ชอบศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งนั้นเสีย และวินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลย แต่กลับไปวินิจฉัยถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมีเหตุสมควรรับคำให้การของจำเลยไว้ การวินิจฉัยดังกล่าวก็เท่ากับเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยว่า จำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่นั่นเองคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษา ถือว่าอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยในปัญหาที่ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และเนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยเพื่อให้การวินิจฉัยคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยเสียก่อน เนื่องจากผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจเกี่ยวโยงไปถึงสิทธิในการฎีกาคดีนี้ต่อไปอีก
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของโจทก์ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่ คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ