แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 และมาตรา 236 ไม่ได้ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแก่อีกฝ่าย ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งให้อีกฝ่ายได้เพื่อให้อีกฝ่ายได้ทราบถึงข้ออุทธรณ์ซึ่งหากมีข้อคัดค้านอย่างใดก็จะได้แก้อุทธรณ์เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลเมื่อโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์แก่จำเลยโดยชอบแล้วแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม กรณีต้องด้วยมาตรา 174(2) ถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้อง
ย่อยาว
สืบเนื่องมาจากโจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ชำระค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในมูลละเมิดในฐานะโจทก์ได้รับช่วงสิทธิเป็นเงิน 40,605 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 38,688 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยต้องรับผิดในมูลละเมิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามอุทธรณ์ ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ สำเนาให้จำเลยจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาเจ้าพนักงานศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์หรือผู้แทนโจทก์ไม่มาเสียค่าธรรมเนียมการส่ง พ้นกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลสั่งแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่ดำเนินการส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ให้จำเลยภายใน 5 วัน ถือว่าโจทก์ไม่ดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ดำเนินการนำส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์สั่งให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีต่อไป มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในกรณีนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้ต้องสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งให้จำเลยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 จะได้บัญญัติบังคับให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าพร้อมด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและฟ้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวรวมทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ที่มีความว่าถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ไม่ได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ทั้งการที่ศาลชั้นต้นสั่งดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้อีกฝ่ายได้ทราบถึงข้ออุทธรณ์ ซึ่งหากมีข้อคัดค้านอย่างใดก็จะได้แก้อุทธรณ์เพื่อประกอบการพิจารณาของศาล ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งและโจทก์ได้ทราบคำสั่งโดยชอบแล้วแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน