คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5311/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทจำเลยที่ร่วมหุ้นกันซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113(เดิม) การที่โจทก์ชำระเงินค่าหุ้นให้แก่จำเลยตามสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่ายืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 411 จึงไม่อาจเรียกเงินคืนจาก จำเลยฐานลาภมิควรได้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528 จำเลยได้ทำสัญญาร่วมหุ้นกับโจทก์ตกลงให้โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยจำนวน2,500 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 250,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์อาจบอกเลิกสัญญาได้เมื่อครบ 24 เดือน นับแต่วันทำสัญญา จำเลยจะคืนเงินค่าหุ้นทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมเงินปันผลซึ่งจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์จนถึงวันเลิกสัญญาภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันเลิกสัญญา ต่อมาเดือนมกราคม 2532โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาขอให้จำเลยคืนเงินค่าหุ้นจำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงฟ้องจำเลยขอให้คืนเงินค่าหุ้นแก่โจทก์ ศาลพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่2011/2532 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด ในการดำเนินคดีดังกล่าวโจทก์ทราบว่าหุ้นที่จำเลยนำมาขายให้แก่โจทก์เป็นหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งถือไว้ตั้งแต่จำเลยออกหุ้นใหม่ในเดือนตุลาคม 2527จำเลยไม่มีสิทธิทำสัญญาร่วมหุ้นกับโจทก์ เพราะหุ้นดังกล่าวเป็นของบุคคลอื่นนอกจากนี้การโอนหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมมาเป็นของโจทก์ตกเป็นโมฆะเพราะมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนหรือผู้รับโอนและไม่มีการแถลงหมายเลขหุ้นของผู้โอน เมื่อสัญญาร่วมหุ้นเป็นโมฆะ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะรับเงินค่าหุ้นจำนวน 250,000 บาท ของโจทก์ไว้ และต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2528 ซึ่งจำเลยได้รับเงินไปจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน89,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 339,000 บาท ให้แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 339,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 250,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์ทราบถึงที่มาของหุ้นที่จำเลยนำมาขายให้แก่โจทก์ แล้วยังเข้าทำสัญญาและมอบเงินให้แก่จำเลย เป็นการชำระหนี้โดยรู้ว่าไม่มีความผูกพัน และเป็นการชำระหนี้อันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามแจ้งชัดตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 13 เมษายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528 โจทก์ได้ทำสัญญาร่วมหุ้นกับจำเลยตกลงให้โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยจำนวน 2,500 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 250,000 บาทโดยมีข้อสัญญาว่าโจทก์อาจบอกเลิกสัญญาและจำเลยจะต้องคืนเงินค่าหุ้นทั้งหมดพร้อมกับเงินปันผลที่โจทก์มีสิทธิได้รับนับแต่วันทำสัญญาจนถึงวันเลิกสัญญาแก่โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาขอเงินค่าหุ้นคืน จำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2532 ศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (เดิม) ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2011/2532 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์แต่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ร่วมหุ้นกันซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 (เดิม) ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2011/2532 ของศาลชั้นต้น ซึ่งถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ชำระเงินค่าหุ้นให้แก่จำเลยตามสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 411 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share