แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลในคดีส่วนแพ่งคัดค้านคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่มีคำสั่งไม่เข้าดำเนินคดี ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยในคดีส่วนแพ่งตามคำขอของจำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483อันเป็นสาขาคดีหนึ่งของกระบวนพิจารณาในคดีล้มละลายที่จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลในคดีส่วนล้มละลายจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามคำร้องของจำเลย ศาลในคดีส่วนแพ่งไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์จำเลยทั้งสี่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยทั้งสี่ตกลงชำระเงินจำนวน 6,474,329.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากผิดนัดให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสื่อออกขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 58545, 58547, 115231 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3และได้ขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2532 วันที่ 12พฤษภาคม 2532 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด อ้างเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ไปในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2533ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา คู่ความแถลงรับกันว่าเมื่อวันที่31 กรกฎาคม 2533 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 519/2533 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาด้วยตนเองเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2533 ภายหลังถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 3 และให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 เสียด้วย
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2535จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีที่จำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 519/2533 ของศาลชั้นต้น ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22, 25 เพื่อคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งยกคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 3 โดยคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สมควรวินิจฉัยในปัญหาว่า ที่จำเลยที่ 3ยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ ชอบหรือไม่ ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจในการยื่นคำร้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามคำร้องดังกล่าวจำเลยที่ 3 อ้างว่าเมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 3 โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาคดีนี้ด้วยตนเองภายหลังถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ จำเลยที่ 3ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีที่จำเลยที่ 3 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.519/2533 ของศาลชั้นต้น โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22, 25 เพื่อคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้แทนจำเลยที่ 3 แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์ไปให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้ประมูลได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจที่จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ขอให้มีคำสั่งในคดีนี้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 3 โดยทำคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนจำเลยที่ 3 ตามกฎหมายต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เห็นว่า คำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 3 เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ร้องคัดค้านคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่มีคำสั่งไม่เข้าดำเนินคดีร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ตามคำขอของจำเลยที่ 3 ทำให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งยืนตามกลับหรือแก้ไขหรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรได้ คดีตามคำร้องของจำเลยที่ 3เป็นสาขาคดีหนึ่งของกระบวนพิจารณาในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.519/2533 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 3 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลในคดีส่วนล้มละลายดังกล่าวจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามคำขอร้องของจำเลยที่ 3 ศาลในคดีส่วนแพ่งคดีนี้ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามคำร้องของจำเลยที่ 3 ได้ การที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยที่ 3โดยไม่ไต่สวนต้องตามกันมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน