คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 และ 279ต้องกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เรื่องอายุของผู้เสียหายเป็นองค์ประกอบความผิดด้วย เมื่อผู้เสียหายอายุ 14 ปี5 เดือน แต่จำเลยสำคัญผิดว่าอายุ 18 ปี จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยไม่รู้จักผู้เสียหายมาก่อนก็ไม่มีข้อห้ามที่ไม่ให้จำเลยอ้างความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงมะปราง ศิริแตง อายุ 14 ปี 5 เดือน ผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยทั้งสามโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้และผลัดกันเข้าข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง โดยเด็กหญิงมะปรางไม่ยอมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำชำเราผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3 กระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมแต่จำเลยทั้งสามสำคัญผิดว่าผู้เสียหายมีอายุ 18 ปี แล้วการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมประเวณี และจำเลยที่ 3ได้กระทำอนาจารแก่เด็กหญิงมะปราง ศิริแตง ผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 14 ปี 5 เดือน โดยสำคัญผิดว่า ผู้เสียหายมีอายุ 18 ปี จริงคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3ได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายหรือไม่ ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยทั้งสามร่วมประเวณีหรือไม่ และจำเลยทั้งสามจะอ้างเหตุสำคัญผิดเรื่องอายุของผู้เสียหายได้หรือไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 3ได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย แต่ตอนตอบคำถามค้านกลับเบิกความว่าร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวแต่พอตอบคำถามติงกลับตอบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมประเวณีด้วยคำเบิกความดังกล่าวจึงไม่แน่นอนที่จะรับฟังได้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แม้ผู้เสียหายให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 3ได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย แต่เมื่อมาเบิกความในศาลและถูกซักค้านกลับเบิกความกลับไปกลับมา หาข้อยุติไม่ได้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ย่อมมีน้ำหนักน้อยที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย ทั้งจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนว่ามิได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย เพียงแต่กระทำอนาจารเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณียังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายหรือไม่ จึงชอบแล้ว
ฎีกาประการที่สองมีว่า ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมประเวณี และจำเลยที่ 3 กระทำการอนาจารหรือไม่โจทก์มีตัวผู้เสียหายให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลว่าไม่ยินยอม แต่ตอบคำถามค้านว่ายินยอมให้จำเลยที่ 2 ร่วมประเวณีคำให้การหรือคำเบิกความของผู้เสียหายจึงไม่แน่นอน ต้องอาศัยพฤติการณ์ในคดี จากรายละเอียดในคำเบิกความของผู้เสียหายปรากฏว่าเมื่อผู้เสียหายเลิกงานเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ได้ไปดูคอนเสิร์ตที่ศูนย์การค้ามาบุญครองจนเวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา จึงเดินทางกลับบ้านโดยนั่งรถโดยสารไปลงที่ศูนย์การค้าเมอร์รี่คิงส์สาขาปิ่นเกล้า แต่ไม่มีรถโดยสารที่จะต่อไปยังที่พัก จึงกลับไปศูนย์การค้ามาบุญครองอีกและไปยืนบนสะพานลอยตรงหน้าศูนย์การค้าจำเลยที่ 1 ได้มาชวนคุยแล้วพาเดินเข้าไปในซอย ผู้เสียหายเดินตามไปและพบจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนจำเลยที่ 1 ขณะนั้นเวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ดึงแขนผู้เสียหายเข้าไปในตึกแถวกอดปล้ำและร่วมประเวณีกับผู้เสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้เข้าไปร่วมประเวณีกับผู้เสียหายอีก ผู้เสียหายเพลียได้นอนหลับไป ตอนเช้าจำเลยที่ 2 ปลุกให้ลุกขึ้นไปทำงาน เมื่อไปถึงที่ทำงานนายจ้างสอบถาม ผู้เสียหายเล่าเหตุการณ์ให้ฟังนายจ้างจึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามสภาพห้องที่เกิดเหตุรับฟังได้ว่าค่อนข้างแคบเนื่องจากเป็นห้องของยามรักษาการณ์กว้างประมาณ 3 ฟุต ยาวประมาณ 6 ฟุต หน้าห้องเกิดเหตุมีถนนกว้างประมาณ 2 วา ตรงข้ามห้องที่เกิดเหตุมีร้านขายข้าวต้มโต้รุ่งและด้านข้างก็มีร้านขายข้าวต้มโต้รุ่งห่างจากห้องเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร มีป้อมยามและเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ที่ป้อมยามขณะนั้นด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ไปชวนผู้เสียหาย ผู้เสียหายก็สมัครใจไปกับจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ดึงให้เข้าไปในตึกแถวตรงช่องว่างหน้าประตูซึ่งเป็นห้องแคบ ๆ ของยามรักษาการณ์ และใกล้ที่เกิดเหตุก็เป็นร้านขายข้าวต้มโต้รุ่ง ทั้งอยู่ใกล้ป้อมยามของเจ้าพนักงานตำรวจถ้าหากผู้เสียหายขัดขืนย่อมจะมีผู้รู้เห็น และอย่างน้อยก็อยู่ใกล้เจ้าพนักงานตำรวจ ย่อมจะได้รับความช่วยเหลือทันที แต่กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายจนสำเร็จถึงสองคน โดยจำเลยแต่ละคนไม่มีอาวุธอะไรเลย เชื่อได้ว่าผู้เสียหายสมัครใจร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และสมัครใจให้จำเลยที่ 3 กระทำอนาจาร
ฎีกาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยจะอ้างความสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 และมาตรา 279 ผู้กระทำผิดจะต้องกระทำแก่เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี เรื่องอายุของผู้เสียหายเป็นองค์ประกอบของความผิดด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าผู้กระทำผิดได้รู้หรือไม่ การรู้หรือไม่รู้ข้อเท็จจริงจะผิดหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ข้อเท็จจริงใดถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดฯลฯ แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิดฯลฯจึงเห็นได้ว่าเมื่อจำเลยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายแม้ความจริงไม่ใช่อย่างที่จำเลยสำคัญผิด จำเลยย่อมไม่มีความผิดการที่จำเลยไม่รู้จักผู้เสียหายมาก่อน ก็ไม่มีข้อห้ามที่ไม่ให้จำเลยอ้างความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัว ฉะนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง”
พิพากษายืน

Share