คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ว.พ.ป.ส.คและช.กับพวกนั่งคุยและผิงไฟจับกลุ่มกันอยู่ที่ถนนหน้าบ้าน จำเลยขับรถอีแต๋น จะกลับบ้านและรถได้ตกลงไปในคลองข้างบ้าน พ.จำเลยไปขอให้บุคคลเหล่านั้นไปช่วยยกรถ บุคคลเหล่านั้นไม่ยอมไปช่วย จำเลยต่อว่าว่าไม่มีน้ำใจ แล้วกลับไปเอามีดเหลียนมาไล่ฟันพ.พวกของพ.ก็เข้าไปช่วยเหลือพ.แล้วเกิดต่อสู่ทำร้ายซึ่งกันและกันโดยจำเลยใช้มีดเหลียนฟันป.ส่วนพวกของพ.ใช้จอบฟันและใช้ไม้ตีจำเลย ดังนี้ การที่จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยไปเอามีดเหลียนและใช้มีดเหลียนไล่ฟันพ.ก่อนจำเลยจะอ้างเหตุป้องกันตัวหาได้ไม่ แต่พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยใช้มีดเหลียนฟันป. ในขณะชุลมุนต่อสู่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ซึ่งจำเลยไม่มีโอกาสที่จะเลือกฟันได้และฟันไปเพียงครั้งเดียวจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าป.คงมีเจตนาเพียงทำร้ายเท่านั้น บาดแผลของป.ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 30 วัน ทำให้ป.ทำงานตามปกติไม่ได้เป็นเวลา1 เดือนเศษ จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8) คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำโดยเจตนาทำร้ายด้วยซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัว เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีฟันนางหนูพัว หาญสกล และนายประเสริฐเสนีวงษ์ ผู้เสียหายหลายครั้งโดยเจตนาฆ่า แต่เนื่องจากจำเลยฟันนางหนูพัวไม่ถูก ส่วนนายประเสริฐถูกฟันที่บริเวณลำคอปรากฎตามรายงานผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง แพทย์ทำการรักษาพยาบาลได้ทันท่วงทีผู้เสียหายทั้งสองจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย นายประเสริฐได้รับอันตรายสาหัสป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและจนประกอบกรณีกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ให้จำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า วันเกิดเหตุที่บ้านของนายวิเชียร รางน้ำประดิษฐ์ และนางหนูพัว หาญสกล ได้จัดงานวันเกิดให้บุตรชาย ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา งานเลิกแล้วแต่นายวิเชียร นางหนูพัว นายประเสริฐ เสนีวงษ์ นายสมชายรางน้ำประดิษฐ์ นายชลอ รางน้ำประดิษฐ์ กับพวกยังนั่งคุยและผิงไฟจับกลุ่มกันอยู่ที่ถนนหน้าบ้าน จำเลยขับรถอีแต๋น จะกลับบ้านและรถได้ตกลงไปในคลองข้างบ้านนางหนูพัว จำเลยไปขอให้บุคคลเหล่านั้นไปช่วยยกรถ บุคคลเหล่านั้นไม่ยอมไปช่วย จำเลยจึงไปเอามีดเหลียนแล้วกลับมาที่เกิดเหตุและต่อมาได้ใช้มีดเหลียน ฟันนายประเสริฐ 1 ครั้ง ถูกที่บริเวณลำคอ ปรากฎตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง
ปัญหาว่า ที่จำเลยกระทำไปนั้นเป็นการป้องกันตัวหรือไม่เห็นว่า จำเลยเบิกความรับว่า เพราะเหตุที่ นางหนูพัวกับพวกจับกลุ่มกันอยู่ที่ถนนทำให้จำเลยต้องขับรถหลบไปข้างทางและรถตกลงไปในคลอง ครั้งจำเลยไปขอให้นางหนูพัวกับพวกไปช่วยยกรถนางหนูพัวกับพวกไม่ยอมไปช่วย แต่นางหนูพัวกลับพูดว่าจำเลยขับรถตกเองก็ยกเอง จำเลยต่อว่าจำเลยไม่มีน้ำใจ จากนั้นไปที่บ้านนางสมจิตร์บุตรสาวแล้วเอามีดเหลียน ติดตัวไปยังที่เกิดเหตุ ดังนี้พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยต้องไม่พอใจในการกระทำของนางหนูพัวกับพวก และการที่จำเลยเอามีดเหลียน ติดตัวไปด้วยก็โดยมีเจตนาจะไปทำร้ายนางหนูพัวกับพวก ที่จำเลยอ้างว่าจะเอามีดเหลียนไปเพื่อใช้ถาง ต้นไม้บริเวณที่รถตกไปนั้นไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้เมื่อจำเลยไม่พอใจและเอามีดเหลียน ติดตัวไปโดยเจตนาจะไปทำร้ายนางหนูพัวกับพวกดังได้วินิจฉัยมาดังกล่าวแล้ว ก็น่าเชื่อตามคำพยานโจทก์ว่า เมื่อไปถึงจำเลยได้ใช้มีดเหลียน ไล่ฟันนางหนูพัวแต่ขณะนั้นปรากฎว่านายวิเชียรสามีนางหนูพัว นายประเสริฐนายสมชายและนายชลออยู่ในที่เกิดเหตุด้วย จึงเป็นการผิดปกติวิสัยที่บุคคลเหล่านั้นจะปล่อยให้จำเลยไล่ฟันนางหนูพัวโดยไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือนางหนูพัวตามที่พยานโจทก์เบิกความ คำพยานโจทก์ในตอนนี้ไม่น่าเชื่อ เมื่อเป็นดังนี้ ประกอบกับจำเลยก็มีบาดแผลโดยปรากฎจากคำเบิกความของจำเลยซึ่งสอดคล้องกับสำเนาผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายคำแถลงการณ์ปิดคดีของจำเลย ซึ่งเป็นเอกสารในคดีหมายเลขดำที่ 288/2536 ของศาลชั้นต้น ที่จำเลยเป็นผู้เสียหายและเป็นโจทก์ร่วมกล่าว นายประเสริฐกับพวกเป็นอีกคดีหนึ่งว่า จำเลยมีบาดแผลที่ท้ายทอยฉีกขาดถึงกะโหลกศีรษะ 2 แห่ง ขนาด 5 X 10 เซนติเมตรบาดแผลฉีกขาดที่หน้าผากขนาด 1 X 5 เซนติเมตร บาดแผลฉีกขาดเหนือข้อมือซ้ายขนาด 0.3 X 2 เซนติเมตร กระดูกแขนท่อนล่างซ้ายหักและกระดูกสะบักข้างซ้ายหัก ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน บาดแผลดังกล่าวแสดงว่าจำเลยถูกทำร้ายเช่นกัน ทั้งนายสมชายพยานโจทก์เบิกความรับว่าขณะนั้นพยานมีจอบด้วยรูปคดีจึงน่าเชื่อว่าเมื่อจำเลยใช้มีดเหลียน ไล่ฟันนางหนูพัว พวกของนางหนูพัวก็เข้าไปช่วยเหลือนางหนูพัวแล้วเกิดต่อสู้ทำร้ายซึ่งกันและกันโดยจำเลยใช้มีดเหลียนฟันนายประเสริฐ ส่วนพวกของนางหนูพัวใช้จอบฟันและใช้ไม้ตีจำเลยจำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยไปเอามีดเหลียน และใช้มีดเหลียน ไล่ฟันนางหนูพัวก่อน จึงจะอ้างเหตุป้องกันตัวหาได้ไม่ แต่พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยใช้มีดเหลียน ฟันนายประเสริฐ ในขณะชุลมุนต่อสู้ทำร้ายซึ่งกันและกันซึ่งจำเลยไม่มีโอกาสที่จะเลือกฟันได้ และฟันไปเพียงครั้งเดียว จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยฆ่านายประเสริฐคงมีเจตนาเพียงทำร้ายเท่านั้น บาดแผลของนายประเสริฐได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์สุริยงศ์ ศรีคุณ พยานโจทก์ ประกอบกับรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องว่า ต้องใช้เวลารักษาประมาณ30 วัน ทั้งได้ความจากนายประเสริฐว่าทำงานตามปกติไม่ได้เป็นเวลา1 เดือนเศษ จึงฟังได้ว่านายประเสริฐได้รับอันตรายสาหัส จำเลยต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำโดยเจตนาทำร้ายด้วยซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัวเมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานะความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายอนึ่ง พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ตามข้อนำสืบของจำเลยว่าเป็นเพราะกลุ่มพวกผู้เสียหายจับกลุ่มคุยกันอยู่ที่ถนนข้างบ้านนางหนูพัว ทำให้จำเลยต้องหักรถหลบไปข้างทางเป็นเหตุให้รถตกลงไปในคลอง อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่องคดีนี้ขึ้นมานับได้ว่าฝ่ายผู้เสียหายก็มีส่วนผิดอยู่ด้วย และเมื่อจำเลยพูดต่อว่าและขอให้ช่วยยกรถฝ่ายผู้เสียหายนอกจากจะไม่ช่วยเหลือแล้ว นางหนูพัวกลับพูดว่าขับรถตกเองก็ยกเองส่อลักษณะเป็นการยั่วยุจำเลยให้เกิดโทสะและข้อเท็จจริงยังได้ด้วยว่า ฝ่ายผู้เสียหายซึ่งมีหลายคนได้รุมทำร้ายจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยได้รับบาดเจ็บมิใช่น้อย ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงมีข้อน่าเห็นใจจำเลย ซึ่งเป็นเหตุอันควรปรานีสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลยไว้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8) จำคุก 2 ปี ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 6 เดือนตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ

Share