คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข.เป็นบิดาโจทก์เป็นเจ้าของโรงเรียนและที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนโดยโจทก์เป็นเพียงผู้มีสิทธิดำเนินกิจการโรงเรียนเท่านั้น แม้โจทก์จะมีสิทธิใช้สอยและครอบครองที่ดินที่โรงเรียนตั้งอยู่ก็ตาม ก็เป็นการครอบครองแทน ข.เมื่อต่อมาภายหลังข.ได้แบ่งแยกที่ดินที่โรงเรียนตั้งอยู่ออกเป็น5 แปลง และยกกรรมสิทธิ์ที่ดินที่แบ่งแยกให้แก่บุตรทั้ง 4 คน รวมทั้งโจทก์และจำเลยคนละแปลง ส่วนที่เหลือเป็นของ ข. ซึ่งให้จำเลยเช่า จำเลยทำรั้วขึ้นในเขตพื้นที่ที่ดินของจำเลย ส่วนบริเวณที่จำเลยขนโต๊ะเก้าอี้และเครื่องเล่นเด็กสนามไปไว้เป็นบริเวณที่ดินของข.ซึ่งได้ให้จำเลยเช่าจำเลยย่อมมีสิทธิในที่ดินส่วนนี้ตามสัญญาเช่า เมื่อจำเลยไม่ยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยและที่ดินส่วนที่จำเลยเช่าจากข. จำเลยจึงมีสิทธิที่จะกระทำการใด ๆในที่ดินได้ตามกฎหมายโดยไม่ต้องดำเนินการทางศาลก่อนการกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรียนสุขเนตรเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2534 จำเลยขนโต๊ะ เก้าอี้เครื่องเล่น เด็กสนาม ไม้เสาเข็ม เข้าไปไว้ในบริเวณอาคารเรียนของโจทก์ และต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2534จำเลยกั้นรั้วขึงลวดหนามกลางสนามหน้าโรงเรียนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้สอยสถานที่บริเวณโรงเรียนเป็นปกติสุข และเกรงว่าอาจเกิดอันตรายแก่เด็กนักเรียน ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายโต๊ะ เก้าอี้เครื่องเล่นเด็กสนามและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรั้วลวดหนามออกจากบริเวณโรงเรียนของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อถอนขนย้ายเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในบริเวณโรงเรียนของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงเรียนแต่ที่ดินที่ตั้งของโรงเรียนเป็นของนายแข นายประยูร นายบางและนายสำรวย มีสุข ซึ่งทุกคนต่างไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ที่ดินและได้แจ้งให้กระทรวงศึกษาธิการทราบแล้ว จำเลยเป็นผู้เช่าที่ดินจากนายแขและนายบาง จึงมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์แต่เป็นการใช้สิทธิครอบครองตามสัญญาเช่าโดยบอกกล่าวโจทก์ก่อนแล้ว จำเลยกั้นรั้วในเขตที่ดินจริงแต่ไม่ได้ทำให้เด็กนักเรียนเดือดร้อนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วออกไปจากบริเวณโรงเรียนของโจทก์ คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมโรงเรียนสุขเนตรดำเนินกิจการบนที่ดินโฉนดเลขที่ 7640ซึ่งเป็นของนายแข มีสุข บิดาโจทก์จำเลยโดยโจทก์เป็นผู้ขออนุญาตเป็นเจ้าของจัดตั้งโรงเรียนและเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงเรียนดังกล่าว ต่อมานายแขได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวออกเป็น 5 แปลง ยกให้แก่บุตร 4 คน คือโจทก์จำเลยนายบางและนายประยูรคนละแปลง ส่วนที่เหลือเป็นของนายแขแต่นายแขได้ให้จำเลยเช่า ปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.10 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยได้กั้นรั้วและนำอุปกรณ์โต๊ะต่าง ๆ ไปไว้ที่บริเวณสนามของโรงเรียนสุขเนตรดังโจทก์ฟ้องจริง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านโจทก์ยอมรับว่า นายแข มีสุขซึ่งเป็นบิดาโจทก์เป็นเจ้าของโรงเรียนสุขเนตรและที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนโดยโจทก์เป็นเพียงผู้มีสิทธิดำเนินกิจการโรงเรียนตามใบอนุญาตเอกสารหมาย จ.1 เท่านั้นการดำเนินกิจการโรงเรียนดังกล่าวแม้โจทก์จะมีสิทธิใช้สอยและครอบครองที่ดินที่โรงเรียนตั้งอยู่ก็ตาม ก็เป็นการครอบครองแทนนายแขผู้เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้น เมื่อต่อมาภายหลังนายแขได้แบ่งแยกที่ดินที่โรงเรียนตั้งอยู่และยกกรรมสิทธิ์ที่ดินที่แบ่งแยกให้แก่บุตรทั้ง 4 คน คนและแปลงและโจทก์ยอมรับว่าแนวรั้วที่จำเลยทำขึ้นอยู่ในเขตพื้นที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 3606 ซึ่งเป็นของจำเลย ส่วนบริเวณที่จำเลยขนโต๊ะเก้าอี้และเครื่องเล่นเด็กสนามไปไว้ เป็นบริเวณที่ดินของนายแขซึ่งได้ให้จำเลยเช่า จำเลยย่อมมีสิทธิในที่ดินส่วนนี้ตามสัญญาเช่า เมื่อจำเลยไม่ยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยและที่ดินส่วนที่จำเลยเช่าจากนายแขจำเลยจึงมีสิทธิที่จะกระทำการใด ๆ ในที่ดินได้ตามกฎหมายโดยไม่ต้องดำเนินการทางศาลก่อนดังโจทก์ฎีกา การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share