คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อัตราโทษสูงสุดตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91กำหนดไว้ถ้าเป็นกรณีที่มีการเพิ่มโทษหรือลดโทษจะต้องนำมาใช้ เมื่อมีการเพิ่มโทษหรือลดโทษแล้ว มิใช่ต้องปรับบทมาตรา 91 เสียก่อน แล้วจึงจะเพิ่มหรือลดโทษ เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษ จำคุกจำเลย 33 กระทง กระทงละ 1 ปี เป็นจำคุก 33 ปีลดโทษตามมาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 24 ปี 9 เดือนแล้วจึงนำบทบัญญัติมาตรา 91(2) มาปรับเป็นว่าจำคุกจำเลย20 ปี เป็นการชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด ผู้เสียหายร่วมกันกระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ร่วมกันลักเงินสดจากการขายสินค้าของผู้เสียหาย รวม 33 รายการ เป็นเงิน254,547.50 บาท ไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 91, 83 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายจำนวน 246,747.50 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(11) วรรคสาม (ที่ถูกคือวรรคสอง) รวม 33 กรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 33 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 24 ปี 9 เดือนจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปีจึงให้จำคุกจำเลย 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 246,747.50 บาท แก่ผู้เสียหายจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ 33 กระทง ศาลลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ1 ปี แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และหากรวมโทษจำคุกของจำเลยแล้วจะเกิน 20 ปี จึงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ในกรณีเช่นนี้การลดโทษหนึ่งในสี่นั้น จะต้องคิดลดจากโทษจำคุกที่รวมทุกกระทงหรือจะคิดลดจากโทษที่ศาลจะพึงลงได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เห็นว่า มาตรา 78 วรรคแรกบัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้” แสดงว่าบทบัญญัติมาตรา 78เป็นการลดโทษแก่ผู้กระทำผิดอย่างหนึ่ง และมาตรา 91 บัญญัติว่า”เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตามเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้” ฉะนั้น จากข้อความของบทบัญญัติมาตรา 91 ที่ว่า”แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม” จะเห็นได้ว่า อัตราโทษสูงสุดตามที่มาตรา 91 กำหนดไว้นั้นถ้าเป็นกรณีที่มีการเพิ่มโทษหรือลดโทษจะต้องนำมาใช้เมื่อมีการเพิ่มโทษหรือลดโทษแล้ว มิใช่ต้องปรับบทมาตรา 91 เสียก่อนแล้วจึงจะเพิ่มหรือลดโทษดังที่จำเลยฎีกา ศาลล่างทั้งสองจำคุกจำเลย 33 กระทง กระทงละ 1 ปี เป็นจำคุก 33 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 24 ปี 9 เดือนแล้วจึงนำบทบัญญัติมาตรา 91(2) มาปรับเป็นว่าจำคุกจำเลย 20 ปีเป็นการชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share