แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยขับรถโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่า ว. คนขับรถยนต์ของโจทก์ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถที่จำเลยขับด้วยหรือไม่เพื่อกำหนดค่าเสียหายตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 ซึ่งให้นำบทบัญญัติ มาตรา 223 มาใช้โดยอนุโลม เมื่อเหตุที่เกิดรถชนกันทำให้ รถยนต์ของโจทก์เสียหายเป็นเพราะ ว. ประมาทเลินเล่อด้วยซึ่งโจทก์ต้องร่วมรับผิดค่าเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย แม้ศาลมิได้ กำหนดประเด็นไว้ว่าว.คนขับรถยนต์ของโจทก์ประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ หมายเลขทะเบียนก-1038 ชุมพร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 4ร-5789 กรุงเทพมหานคร มีจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2530 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 คันดังกล่าวไปตามทางถนนเลียบริมทางรถไฟจากสะพานเทศบาล 2 มุ่งหน้าไปทางสถานีรถไฟชุมพรถึงบริเวณสี่แยกตัดกับถนนปรมินทรมรรคา ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ของโจทก์ซึ่งนายวุฒิสาร กิจสุบรรณ ขับผ่านบริเวณกลางสี่แยกดังกล่าว ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 112,600 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,445 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 121,045 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 112,600 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายวุฒิสารเป็นฝ่ายขับรถประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีนี้เหตุเกิดขึ้นเพราะนายวุฒิสารขับรถยนต์ของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 8,445 บาทโจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีเพียงข้อกฎหมายข้อเดียวว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นไว้ว่า นายวุฒิสาร กิจสุบรรณ คนขับรถยนต์ของโจทก์ประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่านายวุฒิสารขับรถยนต์ของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อด้วยนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 4 ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ และข้อ 6 ว่าค่าเสียหายมีเพียงใดแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่านายวุฒิสารคนขับรถยนต์ของโจทก์ทั้งรถด้วยความประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อจะได้กำหนดค่าเสียหายได้ถูกต้อง เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้โดยอนุโลมและมาตรา 223 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร”ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเหตุที่เกิดรถชนกันนี้เป็นเพราะนายวุฒิสารคนขับรถยนต์ของโจทก์ประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 คนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ความรับผิดในค่าเสียหายของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นพับกันไปนั้นชอบแล้วหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่โจทก์ฎีกาไม่”
พิพากษายืน