คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยตกลงให้ค่านายหน้าแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3ที่ชี้ช่องจนจำเลยสามารถขายที่ดินแก่โจทก์ที่ 1 ได้เมื่อจำเลยกับโจทก์ที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่โจทก์ที่ 2และที่ 3 แม้ต่อมาสัญญาจะซื้อขายเป็นอันเลิกกันด้วยเหตุใดจำเลยก็ต้องชำระค่าบำเหน็จนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแจ้งแก่โจทก์ทั้งสามว่า จะขายที่ดินในราคา 16,530,000 บาท หากโจทก์ทั้งสามารถชี้ช่องหรือแนะนำบุคคลใดมาซื้อที่ดินได้จะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 100,000 บาท จะจ่ายให้ในวันที่ 5 ตุลาคม 2532 หากจำเลยผิดสัญญายอมเสียดอกเบี้ยให้อีกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ทั้งสามได้ให้โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินจำเลยโดยผู้จะซื้อชำระค่าที่ดินบางส่วนจำนวน 1,000,000 บาทด้วยเช็ค และจำเลยได้รับเงินดังกล่าวไปแล้ว การที่จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันเป็นผลสำเร็จเพราะโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ชี้ช่องและจัดการให้เข้าทำสัญญากัน แต่เมื่อถึงวันครบกำหนดชำระค่านายหน้า จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระแก่โจทก์คนละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องอีกคนละ 13,280 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์แต่ละคนจากต้นเงินคนละ100,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยแล้ว ถึงกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือกันในวันที่ 5 ตุลาคม 2532 โจทก์ที่ 1 ไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ตามกำหนดและไม่มีตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารอาวัล ไปชำระแก่จำเลย โจทก์ที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ทำให้สัญญาจะซื้อขายเป็นอันยกเลิก ผลการชี้ช่องของโจทก์ทั้งสามให้จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายจึงไม่เป็นผล สัญญาให้บำเหน็จนายหน้าต้องสิ้นสุดลง โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จนายหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2532 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่าตามสัญญาให้ค่าบำเหน็จนายหน้า เอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุไว้ว่า “…สำหรับการที่บุคคลทั้งสาม เป็นผู้ชี้ช่องจนข้าพเจ้าสามารถขายที่ดินโฉนดเลขที่… เนื้อที่ 87 ไร่ได้ โดยจะชำระในวันที่ 5 ตุลาคม 2532…” มีความหมายว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยจะต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระค่าที่ดินกันจึงจะถือว่า จำเลยสามารถขายที่ดินได้และมีหน้าที่ชำระค่าบำเหน็จนายหน้านั้น เห็นว่า เกี่ยวกับสัญญานายหน้าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 บัญญัติว่า “บุคคลใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดีจัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าชี้ช่องหรือได้จัดการนั้น…”สัญญานายหน้าจึงเป็นสัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้เขาได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอกและนายหน้ารับกระทำการตามนั้น เมื่อได้ชี้ช่องหรือจัดการให้เขาได้ทำสัญญากันแล้ว นายหน้าก็จะได้บำเหน็จตามที่ตกลงกันไว้และคำว่าสัญญาสำเร็จมิได้หมายความว่าสำเร็จถึงขนาดจัดการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแก่กัน เพียงแต่นายหน้าได้ทำการชี้ช่องให้คู่กรณีได้ทำสัญญาเป็นการผูกมัดกันตามกฎหมาย นายหน้าก็หมดหน้าที่เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ชี้ช่องหรือจัดการให้จำเลยกับโจทก์ที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3หาใช่จะต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระราคาต่อกันครบถ้วน จำเลยจึงจะมีหน้าที่ชำระค่าบำเหน็จนายหน้าดังจำเลยฎีกาไม่”
พิพากษายืน

Share