คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7219/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในการก่อสร้างเพิ่มเติมไม่มีการตกลงกันไว้ว่าจะให้โจทก์ชำระเงินเมื่อใด แต่การที่โจทก์รับว่าจะชำระค่าก่อสร้างเพิ่มเติมให้แก่จำเลยตามที่จำเลยทวงถาม โดยมิได้โต้แย้งอย่างใด ย่อมถือได้ว่าโจทก์รับมอบการก่อสร้างเพิ่มเติมส่วนที่จำเลยทำเสร็จแล้ว โจทก์จึงต้องชำระค่าก่อสร้างเพิ่มเติมแก่จำเลยเมื่อโจทก์ไม่ชำระ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2527 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการก่อสร้างอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสามชั้นครึ่งหลังคาคาดฟ้าจำนวน 3 คูหา ในที่ดินโฉนดเลขที่ 113113ซอยลาดพร้าว 31 เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างทั้งค่าแรงงานและจัดหาวัสดุอุปกรณ์เอง เป็นเงินทั้งสิ้น1,600,000 บาท กำหนดชำระค่าจ้าง 10 งวด งวดละ 160,000 บาท แต่หลังจากจำเลยที่ 1 รับเงินค่าจ้างงวดที่ 8 ไปแล้ว ในวันที่30 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้ทิ้งงานไม่ทำการก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญา ทั้งยังทำลายทรัพย์สินในอาคารเสียหายเป็นเงิน 30,000 บาทจนถึงปลายเดือนมีนาคม 2528 จำเลยที่ 1 จึงได้มาตกลงยอมรับผิดต่อโจทก์ที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินและยอมทำการก่อสร้างอาคารต่อไปให้แล้วเสร็จ โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงได้ตกลงทำสัญญาเพิ่มเติมว่าจำเลยที่ 1 รับจะก่อสร้างอาคารต่อไปให้แล้วเสร็จภายในวันที่30 กันยายน 2528 ทั้งยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้ารับช่วงงานก่อสร้างด้วยเฉพาะทำหินขัด ปูกระเบื้องห้องน้ำ เทพื้นชั้นล่างเป็นเงินค่าจ้าง 160,000 บาท โจทก์จึงได้ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 ซึ่งหากจำเลยทั้งสองทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดยอมให้ปรับวันละ 5,000 บาทโดยจำเลยที่ 2 ได้รับค่าจ้างไปจากโจทก์แล้วจำนวน 105,300 บาทแต่ทำการก่อสร้างได้บางส่วน แล้วจำเลยทั้งสองทิ้งงานไปอีกทั้งยังได้ทำลายสายไฟ กรอบทองเหลือที่ใช้ปูหินขัดคิดเป็นเงิน30,000 บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จตามสัญญา แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ในเดือนกรกฎาคม 2528 โจทก์จึงได้บอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างต่อจำเลยทั้งสอง ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม2528 โจทก์ได้ว่าจ้างนายอ้วน บุญมา ให้ทำการก่อสร้างอาคารในงวดที่ 9 และที่ 10 คือทำหินขัด ปูโมเสก ปูกระเบื้อง ห้องน้ำและอื่น ๆสิ้นเงินค่าแรงงานและค่าวัสดุอุปกรณ์ไปเป็นเงิน 919,506 บาทซึ่งหากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ต้องเสียเงินค่าก่อสร้างจำนวน 214,700 บาท การที่จำเลยทั้งสองทิ้งงานทำให้โจทก์ต้องเสียเงินเพิ่ม 704,806 บาท และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับวันละ 5,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงวันละ 1,000 บาทเป็นเวลา 76 วัน เป็นเงิน 76,000 บาท จำเลยทั้งสองได้ทำลายทรัพย์สินโจทก์เป็นเงินอีก 30,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งหมด 810,806 บาทขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 810,806 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 106,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2527โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ปลูกอาคารตึกสามชั้นครึ่งหลังคาดาดฟ้าในราคา 1,600,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยโจทก์ มิได้ทักท้วงและจ่ายค่าก่อสร้างให้จนถึงงวดที่ 8 แต่ระหว่างนั้นโจทก์สั่งให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างเพิ่มเติมหลายรายการ เป็นต้นว่าต่อเติมอาคารคูหาที่ 1ชั้นล่างบริเวณชักล้างให้เป็นห้องก่อฝาผนัง 3 ด้าน ราคา 25,000 บาทต่อเติมระเบียงด้านหลังของคูหาที่ 2 ที่ 3 ขึ้น เป็นชั้นลอย เทพื้นทำกำแพง คูหาละ 8,000 บาท ต่อเติมดาดฟ้าทั้งสามคูหาให้เป็นห้องนอนพร้อมระเบียงห้องละ 60,000 บาท รวม 3 ห้อง เป็นเงิน 150,000 บาทและเพิ่มเติมห้องน้ำปูกระเบื้องสีบนชั้น 2 ชั้น 3 และดาดฟ้าทั้งสามคูหารวม 9 ห้อง ห้องละ 20,000 บาท คิดเป็นเงิน 180,000 บาทซึ่งรวมเป็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติมทั้งสิ้น 401,000 บาท และจำเลยที่ 1ได้ดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว แต่โจทก์ไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างส่วนนี้ให้จำเลยที่ 1 คงจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะงานก่อสร้างในงวดที่ 8เพียงอย่างเดียว โดยโจทก์อ้างว่าการเงินขัดข้อง พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 หยุดงานก่อสร้างในงวดที่ 9 และที่ 10 ไว้ก่อน จำเลยที่ 1ไม่เคยละทิ้งงานและไม่เคยทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายจำนวน30,000 บาท ต่อมาในวันที่ 28 มีนาคม 2528 โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานในงวดที่ 9 และที่ 10 โดยตกลงให้เวลาก่อสร้างเหลือเพียง 6 เดือน กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 30 กันยายน 2528 และตกลงที่จะจ่ายเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติมดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ก่อนโดยจ่ายผ่านจำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งจำเลยที่ 1 มอบหมายให้ทำงานในงวดที่ 9จำนวน 105,300 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างงานในงวดที่ 9เสร็จเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นเงิน 130,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงได้บอกโจทก์ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2528 ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาการก่อสร้างว่าจะขนย้ายคนงานและเครื่องมือไปก่อสร้างงานที่อื่นก่อน โดยจะทำงานก่อสร้างของโจทก์ให้ทันกำหนดโจทก์ก็มิได้ทักท้วง แต่หลังจากจำเลยที่ 1 ขนย้ายเครื่องมือก่อสร้างและคนงานออกไป โจทก์กลับแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินว่าจำเลยที่ 1กับคนงาน 4 คน ร่วมกันลักทรัพย์ในอาคารที่ปลูกสร้าง ทำให้จำเลยที่ 1และคนงานถูกจับกุมดำเนินคดี แต่ผลที่สุดพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 และคนงานทั้ง 4 คน โจทก์ห้ามจำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปในสถานที่ก่อสร้างมิฉะนั้นจะแจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุกทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในระหว่างเวลาก่อสร้างแล้วโจทก์ทำสัญญาให้นายอ้วน บุญมา เข้าทำการก่อสร้างในส่วนที่เหลือ ทำให้จำเลยที่ 1เข้าไปทำการก่อสร้างไม่ได้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและเบี้ยปรับ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงเรื่องเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าด้วยและหากฟ้องเรียกค่าเสียหายเต็มจำนวนแล้วจะเรียกเบี้ยปรับด้วยเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง และสัญญาระหว่างโจทก์กับนายอ้วนเป็นการสมยอมกันทำขึ้น ค่าก่อสร้างและราคาวัสดุสูงกว่าท้องตลาดมาก โจทก์ต้องชำระค่าก่อสร้างเพิ่มเติมที่โจทก์ค้างชำระอยู่จำนวน 295,700 บาท รวมทั้งค่าก่อสร้างในงวดที่ 9 และที่ 10 อีก 130,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำงานในงวดที่ 9 และที่ 10 จำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 475,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจนถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 48,482 บาทขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 524,182 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 475,700 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำงานงวดที่ 9 และที่ 10 จำเลยที่ 2กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์หลอกลวงให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาก่อสร้างกับโจทก์ เงินที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติม ไม่ใช่ค่ากันสร้างงวดที่ 9 จำเลยที่ 2 ไม่เคยทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ในการก่อสร้างทั้ง 4 รายการดังกล่าวมิใช่การก่อสร้างเพิ่มเติม แต่อยู่ในสัญญาว่าจ้างเดิมแล้วและค่าก่อสร้างทั้งหมดไม่เกิน 153,000 บาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1รับเงินในงวดที่ 8 แล้วก็ทิ้งงานไป จนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2528จำเลยที่ 1 จึงได้มายอมรับผิดต่อโจทก์และจะขอทำการก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยจำเลยที่ 2 ได้เข้ามารับช่วงทำงานบางส่วน แต่แล้วจำเลยทั้งสองก็ทิ้งงานไปอีก จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์รวมทั้งผลกำไรดังกล่าวและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องคดีภายใน 2 ปีขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน358,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 เสร็จสิ้น แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกินที่จำเลยที่ 1 ขอ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1จำนวน 259,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาตามข้อ (1) ว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างเพิ่มเติมหรือไม่ คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างเพิ่มเติมจริง
ปัญหาต่อไปตามข้อ (2) ที่ว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา ปัญหานี้ปรากฎตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้ทวงถามค่าก่อสร้างเพิ่มเติมส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมเสร็จแล้วเป็นเงิน200,000 บาทเศษ โจทก์ผัดผ่อนว่าจะชำระในต้นเดือนพฤศจิกายน 2527ครั้นถึงกำหนดโจทก์ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 จึงชะลองาน ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 เบิกความว่าในการก่อสร้างเพิ่มเติมไม่มีการตกลงกันไว้ว่าจะให้โจทก์ชำระเงินเมื่อใด แต่การที่โจทก์รับว่าจะชำระค่าก่อสร้างเพิ่มเติมให้แก่จำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 ทวงถามโดยมิได้โต้แย้งอย่างใดย่อมถือได้ว่าโจทก์รับมอบการก่อสร้างเพิ่มเติมส่วนที่จำเลยที่ 1ทำเสร็จแล้ว โจทก์จึงต้องชำระค่าก่อสร้างเพิ่มเติมแก่จำเลยที่ 1เมื่อโจทก์ไม่ชำระ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
สำหรับปัญหาข้อ (3) ที่ว่า โจทก์ค้างชำระค่าก่อสร้างแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด ปัญหานี้จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าก่อสร้างในนามจำเลยที่ 1 ไปแล้ว 105,300 บาท เงินจำนวนนี้จำเลยที่ 1 นำสืบว่าเป็นเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติม โจทก์นำสืบว่าเป็นเงินค่าก่อสร้างงานงวดที่ 9 ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.1ระบุว่า งานงวดที่ 9 มีงานทำหินขัด ปูกระเบื้องห้องน้ำ และเทพื้นชั้นล่าง ซึ่งจำเลยที่ 1 จะมีสิทธิรับเงินได้เมื่อส่งมอบงานแล้วแต่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 รับเงินไปก่อนงานเสร็จ ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1ที่ว่าเงินที่โจทก์จ่ายแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติมจึงมีเหตุผลดีน่ารับฟังกว่าข้อนำสืบของโจทก์ แต่เนื่องจากเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติม จำเลยที่ 1 คำนวณรายการที่ 1 ที่ทำเสร็จแล้วเป็นเงิน 25,000 บาท และรายการที่ยังทำไม่เสร็จซึ่งผู้เชี่ยวชาญคำนวณค่าก่อสร้างที่ได้ทำไปบ้างแล้วเป็นเงิน 304,000 บาทหักเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 2 แล้ว 105,300 บาท โจทก์คงค้างค่าก่อสร้างเพิ่มเติมแก่จำเลยที่ 1 เพียง 223,700 บาท สำหรับงานงวดที่ 9 และที่ 10 ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ทำงานให้โจทก์บ้างแล้วคงขาดเฉพาะส่วนที่โจทก์จ้างนายอ้วน บุญมา มาทำต่อ มีหินขัดปูกระเบื้องห้องน้ำ ทาสี ติดอุปกรณ์กระจก ประตู เท่านั้น จำเลยที่ 1เรียกร้องค่าก่อสร้างที่ทำไว้แล้วเป็นเงิน 30,000 บาท เมื่อคำนวณเฉลี่ยงานที่ยังทำไม่เสร็จกับงานที่ทำเสร็จ และคำนึงถึงงานงวดที่ 10ที่จำเลยที่ 1 ทำไปบ้างแล้ว เห็นว่า ค่าก่อสร้างที่จำเลยที่ 1ขอมาเป็นจำนวนที่เหมาะสม จึงกำหนดให้ตามที่ขอ รวมจำนวนเงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนของงานที่ทำแล้วกับงานก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นเงิน 353,700 บาท
สำหรับเรื่องค่าเสียหายตามปัญหาข้อสุดท้ายนั้น เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ส่วนค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 เพียงแต่คาดการณ์ว่าหากจำเลยที่ 1 ทำงานเสร็จจะได้กำไร ซึ่งยังเป็นเรื่องไม่แน่นอน ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 1นั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน 353,700 บาท แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 14กรกฎาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share