คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6991/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำหนังสือมอบอำนาจที่มิได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ไปยื่นขอเสียเงินอากรและเงินเพิ่มอากรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ต่อจากนั้นย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะพิจารณาวินิจฉัย เมื่อโจทก์ได้เสียเงินอากรและเงินเพิ่มอากรตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ก็ถือได้ว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 117 จึงใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ และถือได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 30,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 60,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 1,202,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,352,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท ชำระให้แก่โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 15,000 บาท ชำระให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 39,200 บาทชำระให้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 360,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลังจากจำเลยให้การต่อสู้คดีว่าไม่ขอรับรองความถูกต้องในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแล้ว โจทก์ได้ขอหนังสือมอบอำนาจจากศาลชั้นต้น แล้วนำไปยื่นขอเสียเงินอากรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 114 พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามประมวลรัษฎากรมาตรา 115 โดยจัดการเรียกเก็บเงินจากโจทก์เป็นเงินอากร 10 บาทและเงินเพิ่มอากรเป็นจำนวน 6 เท่า ของเงินอากรเป็นเงิน 60 บาทรวมเป็นเงิน 70 บาท แล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกใบสลักหลังตราสารจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ยังต้องถือว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เพราะเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปซึ่งต้องเรียกเก็บเงินอากรเป็นรายตัวผู้มอบอำนาจคนละ 10 บาทผู้มอบอำนาจมี 3 คน คือ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จึงต้องเรียกเก็บ30 บาท มิใช่เรียกเก็บเก็บเพียง 10 บาท ในปัญหานี้ปรากฏว่าโจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องของตนแล้ว โดยการนำหนังสือมอบอำนาจไปยื่นขอเสียเงินอากรและเงินเพิ่มอากรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ต่อจากนั้นย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะจัดการเรียกเก็บเงินอากรและเงินเพิ่มอากรโดยเป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่กรณีเช่นนี้ประมวลรัษฎากร มาตรา 117 บัญญัติไว้ว่า “ตราสาร ที่มีผู้เสียอากรหรือเสียอากรและเงินเพิ่มอากรถ้ามี ตามความใน มาตรา 114แล้วให้ถือว่าเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์” ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้เสียเงินอากรและเงินเพิ่มอากรตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 114 แล้ว ก็ถือได้ว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จึงใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ และถือได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share