คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6562/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกสินสมรสส่วนของโจทก์เฉพาะที่เป็นเงินสดในบัญชีเงินฝากของ พ. ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกไปจากจำเลยที่ 3 จำนวน 3,652,065.20 บาท ว่าโจทก์มีสิทธิได้กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้ปฏิเสธทั้งยังยอมรับในบัญชีทรัพย์อันดับที่ 26 ท้ายรายงานการประชุมของทายาทว่าจำนวนเงิน 3,652,065.20 บาท เป็นสินสมรสระหว่างนาย พ.กับโจทก์ จึงฟังได้ว่าเงินจำนวน 3,652,065.20 บาท ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 เบิกไปจากจำเลยที่ 3 เป็นสินสมรสระหว่าง พ.กับโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 ประกอบด้วยมาตรา 1533 คือ จำนวน 1,826,032.60 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยส่วนดอกเบี้ยนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกเงินสินสมรสของโจทก์ไปแล้วไม่คืนให้โจทก์ย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยให้โจทก์อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีโดยนับแต่วันที่เบิกเอาไปจากจำเลยที่ 3 เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 และ 224 โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินโดยอ้างว่าเป็นสินสมรส และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งแปลงจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทของนายพิชัย กังสัมฤทธิ์ ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายพิชัย จำเลยที่ 3เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์และมีสาขาประกอบกิจการธนาคารในประเทศไทย หลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายพิชัยแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและตามพินัยกรรม ปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์มรดกและเบิกเงินไปจากจำเลยที่ 3 จำนวน 3,652,065.20 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาระหว่างที่นายพิชัยสมรสกับโจทก์ โดยยังไม่ได้ทำการแบ่งแยกออกเป็นสินสมรสส่วนของโจทก์และไม่นำส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายพิชัยไปแสดงไว้ในรายการบัญชีทรัพย์มรดกของนายพิชัยทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับสินสมรสส่วนของโจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 1,826,032.60 บาท ก่อนที่นายพิชัยจะถึงแก่กรรมนายพิชัยและโจทก์ได้ร่วมกันเช่าซื้อที่ดินแปลงที่ 289ซอยสุภาพงษ์ ถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร จากสันนิบาต เทศบาลแห่งประเทศไทย เมื่อนายพิชัยถึงแก่กรรมแล้วโจทก์เป็นผู้ผ่อนชำระต่อ รวมเป็นเงินที่ได้ผ่อนชำระไปทั้งสิ้น 160,800 บาทที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรสระหว่างนายพิชัยกับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้แสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ของสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยและแจ้งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนายพิชัย โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยหลงเชื่อจึงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ไปทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สำหรับจำเลยที่ 3เนื่องจากโจทก์เคยมีหนังสือแจ้งให้ทราบแล้วว่าจำนวนเงินดังกล่าวในบัญชีเงินฝากของนายพิชัยเป็นสินสมรสขอให้จำเลยที่ 3กันและแยกเงินส่วนของโจทก์ที่เป็นสินสมรสไว้ด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาแสดงตนขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 กลับจ่ายให้ไปจึงถือว่าเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับเงินสินสมรสส่วนของโจทก์จำนวน 1,826,032.60 บาท จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปีซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับจากจำเลยที่ 3 หากไม่มีการเบิกเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2527 จนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 296,730.30 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,122,762.90 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 2,122,762.90 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน1,826,032.60 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินแปลงที่ 289 ซอยสุภาพงษ์ถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ หากโอนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้เงินจำนวน 103,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ถอนจำเลยที่ 1และที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายพิชัย และมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแทน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกขึ้นภายใน 15 วันแต่ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครบถ้วนเพราะทรัพย์สินมีมากและอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จำเลยที่ 1และที่ 2 เคยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวแล้วแต่โจทก์ไม่ยอมส่งมอบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้ยื่นคำร้องแจ้งเหตุขัดข้องดังกล่าวพร้อมกับขอขยายเวลาจัดทำบัญชีทรัพย์ต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 3235-3236/2528 และได้ยื่นบัญชีทรัพย์ภายในกำหนดเวลาแล้ว ส่วนเงินในบัญชีกระแสรายวันของนายพิชัยที่ฝากไว้กับจำเลยที่ 3 จำนวน 3,652,065.20 บาทนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขอรับไปเพื่อเปลี่ยนชื่อบัญชีเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิชัยไม่ได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ สำหรับที่ดินแปลงเลขที่ 289ซอยสุภาพงษ์ ถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 และที่ 2รับโอนใส่ชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิชัย เพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์และแบ่งให้แก่ทายาทต่อไปหาได้มีเจตนาปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์มรดกไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้จ่ายเงินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิชัยไปโดยสุจริตเพราะมีคำพิพากษาถึงที่สุดตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายพิชัยแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิชัย กังสัมฤทธิ์ ใช้เงินจำนวน 810,615.47 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 29 มิถุนายน2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้โอนที่ดินแปลงที่ 289 ซอยสุภาพงษ์ ถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์หากโอนไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวน 103,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 ตุลาคม 2528)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ร่วมกันใช้เงินจำนวน 2,122,762.90 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,826,032.60 บาทนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 ตุลาคม 2528) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทของนายพิชัย กังสัมฤทธิ์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายพิชัย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยมิชอบเป็นเหตุให้ต้องถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก และมีเหตุที่จะตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแทนหรือไม่ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1และที่ 2 ตามที่โจทก์อ้างมายังไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2มีเจตนาที่จะปิดบังทรัพย์มรดกดังกล่าว กรณียังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะถอนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีเหตุที่จะตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแทน
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า โจทก์ควรได้รับส่วนแบ่งสินสมรสที่เป็นเงินฝากของนายพิชัยเป็นจำนวนเท่าไร เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกสินสมรสส่วนของโจทก์เฉพาะที่เป็นเงินสดในบัญชีเงินฝากของนายพิชัยที่จำเลยที่ 1 และที่ 2เบิกไปจากจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2527 จำนวน3,652,065.20 บาท ว่าโจทก์มีสิทธิได้กึ่งหนึ่ง คือ จำนวน1,826,032.60 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้ปฏิเสธ ทั้งยังยอมรับในบัญชีทรัพย์อันดับที่ 26 ท้ายรายงานการประชุมของทายาทตามเอกสารหมาย ล.13 ว่าจำนวนเงิน 3,652,065.20 บาท เป็นสินสมรสระหว่างนายพิชัยกับโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เงินจำนวน3,652,065.20 บาท ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกไปจากจำเลยที่ 3เป็นสินสมรสระหว่างนายพิชัยกับโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 ประกอบด้วยมาตรา 1533คือ จำนวน 1,826,032.60 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ส่วนดอกเบี้ยนั้นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เบิกเงินสินสมรสของโจทก์ไปแล้วไม่คืนให้โจทก์ย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยให้โจทก์อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยนับแต่วันที่เบิกเอาไปจากจำเลยที่ 3 คือวันที่ 29 มิถุนายน 2527 เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 และ 224
ปัญหาสุดท้ายมีว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินแปลง 289 (โฉนดที่ดินเลขที่ 118004 ตำบลลาดยาวอำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร) ซอยสุภาพงษ์ ถนนลาดพร้าวกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ทั้งแปลงนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ตามศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นสินสมรส และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 2 โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งแปลง จึงเป็นการไม่ชอบ
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 2,122,762.90 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขอรับผิดเพียง 1,020,589.12 บาท ค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาจึงต้องคิดจากทุนทรัพย์ 1,102,173.78 บาท ซึ่งคิดเป็นเงิน 27,555 บาทแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเป็นเงิน99,060 บาท จึงสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินให้แก่จำเลยที่ 1และที่ 2 จำนวน 71,505 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 1,826,032.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินแปลงเลขที่ 289 (โฉนดที่ดินเลขที่ 118004 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร)ซอยสุภาพงษ์ ถนนลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์โดยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกึ่งหนึ่งในโฉนดที่ดินดังกล่าว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 15,000 บาทและคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาที่เสียเกินมาจำนวน 71,505 บาทแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2

Share