คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6192/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันในการประกันการเพิ่มวงเงินมีข้อความว่า ถ้าผู้ให้กู้ผ่อนเวลา การชำระหนี้หรือต่ออายุสัญญาเงินกู้ให้แก่ผู้กู้โดยจะแจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก็ตาม ผู้ค้ำประกันเป็นอันยอมตกลงด้วยการให้ผ่อนเวลาการชำระหนี้หรือการให้ต่ออายุสัญญาเงินกู้เช่นว่านั้นทุกครั้งไป แม้สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนการค้ำประกันการเพิ่มวงเงินกู้นั้นจะมีข้อความแตกต่างไปโดยไม่มีข้อความเกี่ยวกับการต่ออายุสัญญาเงินกู้ แต่ก็มีข้อตกลงว่า ถ้าผู้ให้กู้ผ่อนเวลาให้แก่ผู้กู้ชำระหนี้โดยจะได้แจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก็ตาม ผู้ค้ำประกันเป็นอันยอมตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้นทุกครั้งไป การต่ออายุสัญญาเงินกู้ให้ผู้กู้ในกรณีนี้ก็หมายถึงการผ่อนเวลาชำระหนี้นั่นเองแม้ไม่มีข้อความระบุถึงการต่ออายุสัญญาโดยตรง เมื่อมีการผ่อนเวลาชำระหนี้โดยต่ออายุสัญญากู้ให้ลูกหนี้ก็ถือว่าผู้ค้ำประกันยินยอมตกลงด้วยผู้ค้ำประกันจึงยกเอาเหตุนี้มาปลดเปลื้องความรับผิดไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระหนี้ตามตั๋วเงินสัญญาบัญชีเดินสะพัด สัญญาค้ำประกัน และสัญญาจำนอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ระงับไปแล้ว จำเลยที่ 3 ให้ความยินยอมในการทำบันทึกต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเพียง พ.ศ. 2519 เท่านั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงมีเพียงยอดหนี้ของปีนั้น ขอให้ยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้ยื่นคำให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 173,010.56บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน145,971.16 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามบัญชีเลขที่ 6896 เป็นเงิน5,034,081.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามบัญชีเลขที่ 6752 เป็นเงิน35,664,311.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 17 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2528 จนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2528 เมื่อได้ดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดให้ทบกับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินใหม่ และให้เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินใหม่ในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ และบัญชีเลขที่ 645เป็นเงิน 12,334,338.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ17 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2528 จนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม2528 เมื่อได้ดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดให้ทบกับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินใหม่ และให้เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินใหม่ในอัตราร้อยละ17 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จและบัญชีเลขที่ 1334 เป็นเงิน 25,201,988.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2528จนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2528 เมื่อได้ดอกเบี้ยเป็นจำนวนเท่าใดให้ทบกับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินใหม่ และให้เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินใหม่ในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2528จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 5ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2522 จนกว่าจะชำระเสร็จ และจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จแต่รวมดอกเบี้ยทั้งสองจำนวนคิดถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2528ไม่เกิน 33,221,917.81 บาท หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมายจ.50 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 17 (ที่ถูกเอกสารหมาย จ.60) ไม่มีข้อความใดระบุยินยอมในการต่ออายุสัญญาทุกครั้งโดยไม่มีกำหนดจำเลยที่ 3 จึงร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพียงการต่อสัญญาถึงพ.ศ. 2520 เท่านั้น เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.50 และ จ.55 ข้อ 3 มีข้อสัญญาเช่นเดียวกันว่าถ้าผู้ให้กู้ผ่อนเวลาการชำระหนี้หรือต่ออายุสัญญาเงินกู้ให้แก่ผู้กู้โดยจะได้แจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก็ตามผู้ค้ำประกันเป็นอันยอมตกลงด้วยการให้ผ่อนเวลาการชำระหนี้หรือการให้ต่ออายุสัญญาเงินกู้เช่นว่านั้นทุกครั้งไป แม้สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.60 ที่ทำกันขึ้นในการค้ำประกันก่อนการค้ำประกันในการเพิ่มวงเงินกู้ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมายจ.50, จ.55 จะมีข้อความแตกต่างจากสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.50, จ.55 กล่าวคือ ตามข้อสัญญาข้อ 3 ไม่มีข้อความเกี่ยวกับการต่ออายุสัญญาเงินกู้ แต่ก็มีข้อตกลงว่า ถ้าผู้ให้กู้ผ่อนเวลาให้แก่ผู้กู้ชำระหนี้โดยจะได้แจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก็ตาม ผู้ค้ำประกันเป็นอันยอมตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้นทุกครั้งไป และยอมมิให้ถือเอาการให้ผ่อนเวลาเช่นว่านั้น เป็นเหตุปลดเปลื้องความรับผิดของผู้ค้ำประกันเป็นอันขาด ศาลฎีกาเห็นว่า การต่ออายุสัญญาเงินกู้ให้ผู้กู้ในกรณีนี้ก็หมายความถึงการผ่อนเวลาชำระหนี้นั่นเอง ดังนั้น แม้จะไม่มีข้อความระบุถึงการต่ออายุสัญญาโดยตรง เมื่อมีการผ่อนเวลาชำระหนี้โดยต่ออายุสัญญากู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ถือว่าจำเลยที่ 3ยินยอมตกลงด้วย จำเลยที่ 3 จึงจะยกเอาเหตุหนี้มาปลดเปลื้องความรับผิดไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้ตามบัญชีเลขที่ 6752 เป็นเงิน 11,223,369.37 บาท บัญชีเลขที่ 645เป็นเงิน 4,720,029.49 บาท และบัญชีเลขที่ 1334 เป็นเงิน10,159,475.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยแบบทบต้นอัตราร้อยละ 17 ต่อปีของต้นเงินแต่ละบัญชี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2523 จนถึงวันที่24 พฤษภาคม 2523 นับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2523 จนถึงวันที่9 กันยายน 2523 และนับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2523 จนถึงวันที่18 มิถุนายน 2523 ตามลำดับ เป็นเงินจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นต้นเงินในแต่ละบัญชีดังกล่าวแล้วคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2523 วันที่ 10 กันยายน2523 และวันที่ 19 มิถุนายน 2523 ตามลำดับ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share