คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5075/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขยายระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 คู่ความต้องยื่นคำขอก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ ถ้าหากยื่นคำขอเมื่อพ้นหรือสิ้นระยะเวลา กรณีต้องมีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2537 ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างใช้ค่าปรับ 800 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้อง(วันที่ 31 มีนาคม 2537) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 21 มิถุนายน 2537 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน นับจากวันที่ 13 มิถุนายน 2537 อ้างว่าโจทก์ยื่นคำขอคัดสำเนาคำพิพากษาและขอให้เจ้าหน้าที่รับรอง แต่โจทก์ยังไม่ได้รับมา เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีคำพิพากษาเป็นจำนวนมากที่จะต้องพิมพ์ตามลำดับ
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์มาภายในกำหนดระยะเวลา จึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ได้ ยกคำร้อง.
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 บัญญัติว่า ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นว่าการขยายระยะเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว คู่ความต้องยื่นคำขอก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ ถ้าหากยื่นคำขอเมื่อพ้นหรือสิ้นระยะเวลา กรณีต้องมีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 คดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2537 โจทก์ย่อมยื่นอุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2537 ซึ่งพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ยื่นคำขอคัดสำเนาคำพิพากษาและขอให้เจ้าหน้าที่รับรองแต่ยังไม่ได้รับ เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีคำพิพากษาเป็นจำนวนมากที่จะต้องพิมพ์ตามลำดับ แต่ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยขาดนัด ศาลแรงงานกลางพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว โดยข้อวินิจฉัยมีเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใดเท่านั้น ข้ออ้างในคำร้อง ของโจทก์จึงไม่มีเหตุสุดวิสัยที่โจทก์จะยื่นคำขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายหลังสิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้
พิพากษายืน

Share