คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3061/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องได้รับมรดกจากบิดาระหว่างสมรสก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มรดกที่ได้จึงเป็นสินสมรส การที่ผู้ร้องนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์มรดกดังกล่าวไปซื้อที่ดินพิพาทภายหลังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 แม้ต่อมาจะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาก็หากระทบกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ในที่ดินพิพาทใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินและส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อ หรือใช้ราคารถยนต์คันที่เช่าซื้อทั้งสองคันให้แก่โจทก์ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน 1,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 2 ไม่ชำระโจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดนั้นเป็นของผู้ร้องมิใช่ของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธินำยึด ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนแก่ผู้ร้อง
โจทก์ให้การว่า ผู้ร้องเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 และที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ร้อง แม้ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 2 และผู้ร้องจะจดทะเบียนหย่ากันก็ไม่ทำให้กรรมสิทธิ์ในสินสมรสของจำเลยที่ 2 เสียไป ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2517และพักอาศัยอยู่ร่วมกันที่บ้านเลขที่ 8/8 ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวตั้งอยู่หน้าที่ดินที่โจทก์นำยึด ต่อมาปี 2533 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ผู้ร้องและโจทก์ต่างนำสืบโต้เถียงในกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โดยผู้ร้องอ้างว่าในปีเดียวกันกับที่ผู้ร้องสมรสกับจำเลยที่ 2 บิดาของผู้ร้องถึงแก่กรรม ผู้ร้องได้รับมรดกจากบิดาเป็นหินหยก จำนวน 1 ก้อนผู้ร้องได้นำหินหยกนั้นไปเจียระไนและนำไปขายให้แก่นางดวงทิพย์คนองนึก และนางบังอร ร่มจำปา ในราคา 2,000,000 บาทเศษ แล้วผู้ร้องนำเงินที่ขายหยกเจียระไนได้ไปซื้อที่ดินพิพาทจากพันตำรวจโทมาโนชย์ในราคา 1,500,000 บาท ฝ่ายโจทก์ก็อ้างว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ร้องเห็นว่า ผู้ร้องรับว่าได้รับมรดกหินหยกจากบิดาของผู้ร้องมาระหว่างสมรสกับจำเลยที่ 2 ในปี 2517 ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ใช้บังคับ ดังนั้น หินหยกจำนวน 1 ก้อนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสก้อนหินหยกของผู้ร้องจึงตกเป็นสินสมรส แม้ต่อมาผู้ร้องได้เจียระไนหินหยกแล้วขายให้แก่นางดวงทิพย์และนางบังอรในราคา 2 ล้านบาทเศษ เงินที่ได้จากการขายหยกเจียระไนเป็นทรัพย์สินที่สืบเนื่องมาจากก้อนหินหยกและผู้ร้องได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสเช่นกัน การที่ผู้ร้องนำเงินที่ขายหยกเจียระไนดังกล่าวไปซื้อที่ดินพิพาทจากพันตำรวจโทมาโนชย์ในราคา 1,500,000 บาท เมื่อปี 2532 ภายหลังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519ใช้บังคับแล้วที่ดินพิพาทถือว่าเป็นสินสมรสด้วย การที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาในปี 2533 หากกระทบกระเทือนกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ในที่ดินพิพาทไม่ เพราะจำเลยที่ 2 ยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกับผู้ร้องอยู่ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ได้
พิพากษายืน

Share