แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สินค้าของกลางที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรและจำหน่าย หรือเสนอจำหน่าย มีคำว่า MITA ซึ่งเป็นชื่อใช้กับสินค้า ของโจทก์ร่วม และที่ กล่องสินค้ามีข้อความว่า DC-211,213RE,313Z และ 313ZD ตรงกับที่กล่องสินค้าของโจทก์ร่วม แต่ผู้ผลิตสินค้าของกลางมิได้เอาคำว่า MITAมาใช้อย่างเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าแต่อย่างใด กล่าวคือ สินค้าของกลางบางส่วนไม่มีเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าระบุไว้คงมีแต่คำว่า MITA ปะปนอยู่กับคำภาษาอังกฤษอื่นที่สลากสินค้าเท่านั้น และสินค้าของกลางอื่นมีเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าระบุไว้ว่าKTN อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมต่างกับคำว่า MITA ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้า หรือชื่อในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมอย่างชัดแจ้ง สินค้าของกลางจึงไม่เป็นสินค้าที่มีชื่อ หรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 272(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274, 275, 83, 91, 33 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 272(1), 83ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3คนละ 1 ปี และปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “MITA” ซึ่งใช้กับสินค้าจำพวกเครื่องถ่ายเอกสาร อุปกรณ์ผงหมึกและผงเหล็กตามวัตถุพยานหมาย จ.17 ถึง จ.19 โจทก์ร่วมได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย โดยมีบริษัทมิต้าประเทศไทย จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ส่วนจำเลยทั้งสามร่วมกันสั่งสินค้าจำพวกผงหมึกและผงเหล็กตามวัตถุพยานหมาย จ.4 ถึง จ.6 จากบริษัทคาตูนคอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในราชอาณาจักรและจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายสินค้าดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.29 และ ล.9 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3ว่า สินค้าจำพวกผงหมึกและผงเหล็กตามวัตถุพยานหมาย จ.5 ถึง จ.7(ที่ถูก จ.4 ถึง จ.6) ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรและจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าดังกล่าวนั้นมีชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมตามวัตถุพยานหมาย จ.17 ถึง จ.19หรือไม่ แม้วัตถุพยานหมาย จ.4 ถึง จ.6 มีคำว่า MITA ซึ่งเป็นชื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ร่วมตามวัตถุพยานหมาย จ.17 ถึง จ.19 และที่กล่องสินค้าตามวัตถุพยานหมาย จ.6 มีข้อความว่า DC-211, 213 RE,และ 313 ZD ตรงกับที่กล่องสินค้าของโจทก์ร่วมตามวัตถุพยานหมาย จ.17ด้วยก็ตาม แต่ผู้ผลิตสินค้าตามวัตถุพยานหมาย จ.4 ถึง จ.6 มิได้เอาคำว่า MITA มาใช้อย่างเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าแต่อย่างใด กล่าวคือ สินค้าตามวัตถุพยานหมาย จ.4 และ จ.5 ไม่มีเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าระบุไว้คงมีแต่คำว่าMITA ปะปนอยู่กับคำภาษาอังกฤษอื่นที่สลากสินค้าตามวัตถุพยานดังกล่าวเท่านั้นและสินค้าตามวัตถุพยานหมาย จ.6 ก็มีเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าระบุไว้ว่า KTN อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมต่างกับคำว่า MITA ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าหรือชื่อในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมอย่างชัดแจ้ง การที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรและจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าตามวัตถุพยานหมายจ.4 ถึง จ.6 นั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรและจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275ประกอบด้วยมาตรา 272(1), 83 ตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาขึ้นมา แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดตามฟ้องนั้นเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบกับมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม