คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 374/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นน้อง ส. ขณะจำเลยเบิกความในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. นั้น จำเลยรู้อยู่แล้วว่าส. ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้โจทก์และผู้อื่นแล้ว จำเลยจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก และไม่มีฐานะเป็นทายาทที่จะร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก การที่จำเลยเบิกความในคดีดังกล่าวว่า ส. มิได้ทำพินัยกรรมทรัพย์มรดกให้ผู้ใด และมิได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก เป็นเหตุให้ศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลย และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. คำเบิกความของจำเลยจึงเป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 จำเลยได้เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ซึ่งความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีกล่าวคือ จำเลยได้เบิกความเป็นพยานในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสาลี จิตต์ธรรม ว่า”ก่อนนายสาลีถึงแก่กรรม นายสาลีมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด และมิได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก” ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 126/2533 ของศาลชั้นต้น ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ เพราะความจริงจำเลยรู้อยู่แล้วว่านายสาลีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นายสุรพล ไชยกาลและโจทก์เพียงสองคนเท่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่ศาลจังหวัดปทุมธานีตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก จำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 นายสาลี จิตต์ธรรม ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานียกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้โจทก์กับนายสุรพล ไชยกาล และแต่งตั้งให้โจทก์กับนายสุรพลร่วมกันเป็นผู้จัดทำการศพ และเป็นผู้จัดการมรดกของตนด้วย ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2533 นายสาลีถึงแก่ความตายจำเลยซึ่งเป็นน้องนายสาลีได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสาลีและเบิกความต่อศาลชั้นต้นว่า ก่อนถึงแก่ความตายนายสาลีมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด และมิได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสาสี คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าขณะจำเลยเบิกความในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสาลีนั้นจำเลยรู้อยู่แล้วว่านายสาลีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์และนายสุรพลแล้ว จำเลยจึงเป็นผู้ถูกตัดขาดมิให้รับมรดก และไม่มีฐานะเป็นทายาทที่จะร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ดังนั้น การที่จำเลยเบิกความในคดีดังกล่าวว่านายสาสีมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ผู้ใด และมิได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก เป็นเหตุให้ศาลเชื่อตามคำเบิกความของจำเลย และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสาลี คำเบิกความของจำเลยจึงเป็นข้อสำคัญในคดีการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share