คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5589/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 11 เมษายน2531 ก่อนวันนัดโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 7 เมษายน 2531ขอแก้ไขคำฟ้อง ศาลมีคำสั่งอนุญาต และสั่งคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องต่อไปว่า “สำเนาให้จำเลย ส่งธรรมดาไม่ได้ ให้ปิด”ขณะเดียวกันจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไป วันที่ 15 มิถุนายน 2531 ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า โจทก์ไม่นำส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 ว่า ถือว่า โจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดี และเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 15 มิถุนายน 2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้จำหน่ายคดีของโจทก์อีกครั้งหนึ่งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม2531 เป็นกรณีการอ้างเหตุตามมาตรา 132(1)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และเมื่อมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว มีผลทำให้คดีเสร็จไปจากศาลชั้นต้นดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นกลับดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา และมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ซ้ำอีก จึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีผลใช้บังคับคงเหลือเพียงคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่19 พฤษภาคม 2531 เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 ไม่ชอบโจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเป็นการพิจารณาผิดระเบียบศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจสั่งให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 27 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่เป็นผลทำให้จำเลยเสียประโยชน์ จำเลยย่อมมีสิทธิฎีกาได้ตามหลักทั่วไป และคำพิพากษา ของศาลอุทธรณ์ในกรณีที่ให้เพิกถอนการพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่ผิดระเบียบให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ ตามรูปคดีหาได้มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นที่สุดไม่ จำเลย จึงฎีกาในข้อนี้ได้ ตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องขอแก้จากเดิมที่ขอเรียกค่าเสียหาย นับแต่วันทำละเมิดเป็นนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้เอาประกันภัย เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ ประสงค์จะแก้ไขให้ถูกต้องตามสิทธิของโจทก์ในฐานะที่โจทก์ เป็นผู้รับประกันภัยที่มีสิทธิเรียกเอาเงินที่ตนได้ใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันนับแต่วันที่ใช้เงินไปมิใช่นับแต่วันที่มีการละเมิด ทั้งการแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่โจทก์คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเช่นนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180,181 คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยก็เป็นเพียงเพื่อให้รับทราบเท่านั้น และเมื่อมิใช่คำฟ้องตั้งต้นคดีซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 174(1) แล้ว บทบัญญัตินี้ก็จะนำมาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์อันจะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนรถยนต์ให้โจทก์หากไม่สามารถคืนให้โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสุรินทร์ จาวลาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทชลไชยกิจ จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวหงษ์ แซ่ลิ้มเป็นจำเลยร่วมที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 ให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ส่วนจำเลยร่วมที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531ศาลชั้นต้นสั่งว่า “โจทก์ขอแก้ฟ้องให้ตรงตามที่เป็นจริง อนุญาตสำเนาให้จำเลยส่งธรรมดาไม่ได้ให้ปิด” แต่โจทก์ไม่ได้มานำส่งภายในกำหนดศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่า ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องทั้งหมด ให้จำหน่ายคดี
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้เพิกถอนการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบนั้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาถึงชั้นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2531 แล้ว ก่อนวันนัดดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 7 เมษายน 2531 ข้อแก้ไขคำฟ้องจากเดิมที่ขอเรียกค่าเสียหายนับแต่วันที่ละเมิด คือวันที่ 2 ธันวาคม 2529(ที่ถูกเป็น 2528) เป็นนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย คือวันที่ 15 มกราคม 2529 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และสั่งคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องต่อไปว่า “สำเนาให้จำเลยส่งธรรมดาไม่ได้ ให้ปิด” ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 11 เมษายน 2531 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปวันที่ 15 มิถุนายน 2531 ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่มานำส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 ว่าถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีและเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 15 มิถุนายน 2531 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ขาดนัดพิจารณาให้จำหน่ายคดีของโจทก์อีกครั้งหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาประการแรกว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้เพิกถอนการพิจารณาผิดระเบียบของศาลชั้นต้นไม่ชอบเพราะคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นในวันที่ 15 มิถุนายน 2531ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ ที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่19 พฤษภาคม 2531 เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เพื่อที่จะไม่ต้องอยู่ในฐานะคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 ในเบื้องต้นจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2531มีผลใช้บังคับหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งจำหน่ายคดีเป็นผลให้คดีเสร็จไปจากศาลโดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี นอกเหนือจากการวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีในกรณีใดนั้น ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีนี้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 เป็นการอ้างเหตุตามมาตรา 132(1) และเมื่อมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้วมีผลทำให้คดีเสร็จไปจากศาลชั้นต้นการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา และมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2531 ซ้ำอีกจึงเป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่15 มิถุนายน 2531 จึงไม่มีผลใช้บังคับคงเหลือเพียงคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 ดังนั้น เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 ไม่ชอบโจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ และมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเป็นการพิจารณาผิดระเบียบศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจสั่งให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นเนื่องจากโจทก์ทิ้งฟ้อง เป็นคำสั่งที่ถูกต้องในปัญหานี้โจทก์แก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาไม่ได้เพราะศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาล คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ถึงที่สุดแล้วศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นผลทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2เสียประโยชน์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ย่อมมีสิทธิฎีกาได้ตามหลักทั่วไปและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีนี้ก็หาได้มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นที่สุดไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงฎีกาในข้อนี้ได้ ส่วนเหตุที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 อ้างมาในฎีกาว่า คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) โจทก์ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 กล่าวคือ โจทก์จะต้องร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยภายในกำหนด7 วัน เมื่อโจทก์ไม่นำส่งจึงเป็นการทิ้งฟ้อง นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในคดีนี้เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ประสงค์จะแก้ไขให้ถูกต้องตามสิทธิของโจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยที่มีสิทธิเรียกเอาเงินที่ตนได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยนับแต่วันที่ใช้เงินไป มิใช่นับแต่วันที่มีการละเมิด ทั้งการแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นคุณแก่โจทก์ คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเช่นนี้จึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180, 181 คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยก็เป็นเพียงเพื่อให้รับทราบเท่านั้นทั้งการสั่งให้ปิดหมายนัดก็มิได้สั่งให้โจทก์ปฏิบัติเช่นใดให้ชัดเจน และเมื่อมิใช่คำฟ้องตั้งต้นคดีซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(1) แล้ว บทบัญญัตินี้ก็จะนำมาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาในข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share