คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4956/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยกับพวกในข้อหาทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่าและปล้นทรัพย์ แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องในข้อหาพยายามฆ่าและปล้นทรัพย์ คงสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยในมูลกรณีเดียวกันเป็นคดีนี้ แม้ว่าโจทก์จะได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนสั้นและอาวุธปืนยาวทุบตีทำร้ายร่างกายโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสแล้วร่วมกันปล้นเอาทรัพย์ของโจทก์ไปหลายอย่าง หลังจากนั้นจำเลยได้ใช้อาวุธปืนสั้นยิงพยายามฆ่าโจทก์โดยกระทำการต่อเนื่องกันเป็นลำดับก็ตาม แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องระบุชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทและอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาในคำขอท้ายฟ้องโจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและอ้างมาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้องไม่ ดังนี้เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเพียงกรรมเดียวและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 90, 289, 297, 340
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นอีกคดีหนึ่งต่อศาลชั้นต้นในข้อหาทำร้ายร่างกายโจทก์ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำเลยให้การรับสารภาพศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295ลงโทษปรับ 2,000 บาท ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1713/2535ของศาลชั้นต้น และคดีถึงที่สุดแล้ว
โจทก์แถลงรับว่าจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1713/2535 ของศาลชั้นต้น เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยคดีนี้ วันเวลาเกิดเหตุและมูลคดีก็เป็นเรื่องเดียวกัน
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ มีคำสั่งให้งดการสืบพยานและพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีในความผิดฐานปล้นทรัพย์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า จำเลยกับพวกได้กระทำการอันผิดกฎหมายต่อโจทก์ โจทก์ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยกับพวกในข้อหาทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่าและปล้นทรัพย์ ต่อมาพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องจำเลยสำหรับข้อหาพยายามฆ่าและปล้นทรัพย์ คงสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาทำร้ายร่างกายโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลย คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในมูลกรณีเดียวกันนั้นไว้เป็นคดีนี้ด้วยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (4) หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 นั้น ต้องมีองค์ประกอบความผิดคือการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วย ดังนั้นการใช้กำลังประทุษร้ายจึงเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของความผิดฐานปล้นทรัพย์ การทำร้ายร่างกายกับการปล้นทรัพย์จะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันหรือไม่ ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับคดีนี้ ตามฟ้องโจทก์นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนสั้นและยาวทำร้ายร่างกายโจทก์ ใช้อาวุธปืนสั้นยิงโจทก์โดยเจตนาฆ่าและจำเลยกับพวกร่วมกันฉกฉวยชิงเอาทรัพย์ของโจทก์ไปหลายอย่าง เหตุดังกล่าวเกิดในเวลาเดียวกัน การที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ และปล้นทรัพย์โจทก์กับการที่จำเลยใช้อาวุธยิงพยายามฆ่าโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวในฟ้องนั้นเป็นการกระทำต่อเนื่องอันเดียวกัน จึงมิใช่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หากแต่การกระทำเพียงกรรมเดียว ถ้าเป็นความผิดก็ย่อมเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องระบุชัดเจนว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทอยู่แล้ว โจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันและอ้างมาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้องไม่ ดังนี้เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเพียงกรรมเดียวและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องนั้นแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นมูลกรณีเดียวกันจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share