เช่าซื้อ(รถยนต์) ค้ำประกัน : กรณีเจ้าหนี้ไม่ได้มีหนังสือทวงถามผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่ลูกหนี้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดในค่าขาดประโยชน์เพียง 60 วัน  นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4998/2562)

เช่าซื้อ(รถยนต์) ค้ำประกัน : กรณีเจ้าหนี้ไม่ได้มีหนังสือทวงถามผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่ลูกหนี้ผิดนัด ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดในค่าขาดประโยชน์เพียง 60 วัน  นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4998/2562

                   ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที

จากคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานหลักฐานได้ความว่าจำเลยที่  1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 21  มีนาคม  2558 เป็นต้นมา แม้ตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.9  จะลงวันที่  2 เมษายน  2558  ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากจำเลยที่  1 ผิดนัดไม่ถึง  60  วัน ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวทั้งสี่แผ่นแล้ว  ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานว่าจำเลยที่  2 ได้รับหนังสือฉบับนี้แต่อย่างใด กรณียังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้บอกกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2  ทราบถึงการผิดนัดของจำเลยที่  1 แล้ว  แต่อย่างไรก็ตามได้ความต่อไปว่าโจทก์มีหนังสือไปถึงจำเลยที่  2 อีกสามฉบับ  กล่าวคือ  เมื่อวันที่ 19  พฤศจิกายน  2558 โจทก์แจ้งให้ชำระหนี้ปิดบัญชีและประมูลขายทอดตลาดรถยนต์  เมื่อวันที่ 2  กุมภาพันธ์  2559 โจทก์แจ้งผลการประมูลและสรุปภาระหนี้ และเมื่อวันที่  15  มีนาคม 2559 โจทก์แจ้งให้ชำระหนี้ส่วนที่ขาดทุนตามเอกสารหมาย  จ.11 จ.13  และ  จ.14 ซึ่งจำเลยที่  2  ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว โดยหนังสือทั้งสามฉบับนี้มีเนื้อความโดยสรุปว่าจำเลยที่  1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมียอดหนี้จำนวนเงินที่ค้างชำระจนโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและติดตามรถยนต์กลับคืนและได้นำออกขายทอดตลาดแจ้งยอดให้จำเลยที่  2 ชำระหนี้ส่วนที่โจทก์ขาดทุนอยู่ เช่นนี้  ถือได้ว่าก่อนฟ้อง โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่  2 ผู้ค้ำประกันแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 686  วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่)  ซึ่งกำหนดว่า  เจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้  ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อได้ 

                   หนังสือฉบับลงวันที่  19 พฤศจิกายน  2558 ซึ่งเป็นฉบับแรกในสามฉบับดังกล่าว  ปรากฏว่ามีผู้ลงลายมือชื่อไว้แทนจำเลยที่  2 เมื่อวันที่  25  พฤศจิกายน 2558 ตามใบไปรษณีย์ตอบรับเอกสารหมาย จ.11  ซึ่งหากนับตั้งแต่วันที่  21 มีนาคม  2558  อันเป็นวันที่จำเลยที่  1 ผิดนัดถึงวันดังกล่าวย่อมมีระยะเกินกว่า 60  วันแล้ว  กรณีจึงเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา  686 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่  12  กุมภาพันธ์ 2558 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะผิดนัด โดยบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน  60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด  60  วัน  ดังนี้ จำเลยที่  2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่  1 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องแก่โจทก์  สำหรับค่าขาดประโยชน์ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง  จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในค่าขาดประโยชน์เพียง 60  วัน  นับแต่วันที่จำเลยที่  1 ผิดนัด

Share