คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้อง ทำ สัญญา เช่า โรงงาน ประกอบ รถยนต์ ซึ่ง เป็น ทรัพย์ ใน กอง ทรัพย์สิน ของ จำเลย กับ เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ หลังจาก ศาล มี คำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ จำเลย เด็ดขาด แล้ว กรณี จึงเป็น เรื่อง ที่ เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ เข้า จัดการ ทรัพย์สิน ของ จำเลย ตาม พระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(1) ฉะนั้น เมื่อ มี ข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับ สิทธิ และ หน้าที่ อัน เนื่อง มา จาก สัญญา เช่า ระหว่าง เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ กับ ผู้ร้อง เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ ก็ ชอบ ที่ จะ ใช้ สิทธิ ฟ้อง ผู้ร้อง ตาม มาตรา 22(3) จะ ใช้ วิธี แจ้งความ เป็น หนังสือ ให้ ผู้ร้อง ชำระเงิน ตาม มาตรา 119 หา ได้ ไม่ เพราะ ไม่ ใช่ กรณี ที่ จำเลย มี สิทธิ เรียกร้อง ต่อ ผู้ร้อง อัน เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ จะ จัด การ รวบ รวม ทรัพย์สิน ของ จำเลย ตาม มาตรา 22(1) ปัญหา นี้ เป็น ปัญหา ข้อกฎหมาย อัน เกี่ยว ด้วย ความ สงบ เรียบร้อย ของ ประชาชน ผู้ร้อง ยกขึ้น ฎีกา ได้ แม้ จะ ไม่ ได้ ยก ขึ้น ว่า กัน มา แล้ว ใน ศาลล่าง

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม2530 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2531ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเช่าโรงงานประกอบรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ในกองทรัพย์สินของจำเลยจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 ผู้ร้องได้รับสำเนาหนังสือแจ้งความของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถึงผู้ร้องให้ชำระหนี้ 50,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่กองทรัพย์สินของจำเลย โดยผู้ร้องไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าว ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้ตามหนังสือดังกล่าวพร้อมด้วยเหตุผลที่ยื่นหนังสือปฏิเสธหนี้ล่าช้าแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้รับหนังสือแจ้งความโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ปฏิเสธหนี้ภายใน 14 วันนับแต่วันรับจึงขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือแจ้งความของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2533
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ผู้ร้องได้รับหนังสือแจ้งความชำระหนี้ไว้โดยชอบ ผู้ร้องมิได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำฟ้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องได้เช่าโรงงานประกอบรถยนต์ ซึ่งเป็นทรัพย์ในกองทรัพย์สินของจำเลยจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งความฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2533ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ร้องชำระเงินค่าเสียหายฐานผิดสัญญาดังกล่าวจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่กองทรัพย์สินของจำเลยในคดีล้มละลาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องข้อแรกว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจแจ้งความเป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้ กรณีเช่นนี้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(1) ฉะนั้นเมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่อันเนื่องมาจากสัญญาเช่าระหว่างเจ้าพนักงานพิทักษ์กับผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องผู้ร้องตามมาตรา 22(3) จะใช้วิธีแจ้งความเป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระเงินตามมาตรา 119 หาได้ไม่ เพราะไม่ใช่กรณีที่จำเลยมีสิทธิเรียกร้องต่อผู้ร้องอันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยตามมาตรา 22(2) การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งความให้ผู้ร้องชำระเงินกรณีนี้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้ร้องเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นนี้ศาลฎีกาก็วินิจฉัยให้ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาผู้ร้องข้ออื่นอีกต่อไป ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งความของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฉบับลงวันที่ 2 เมษายน 2533

Share