คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 881/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลการรื้อถอนอาคาร ถือได้ว่าเป็นผู้จัดให้มีการรื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุ เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการรื้อถอนอาคารอันอาจจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 31 วรรคแรกแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมงานในความหมายตามมาตรา 4 จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 31 วรรคสองอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดให้มีการรื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุได้ดำเนินการรื้อถอนโดยทุบพื้นคอนกรีตทุกชั้นก่อนเพื่อให้วัสดุที่รื้อถอนหล่นลงมาข้างล่างตามช่องพื้นที่ทุบไว้ และเศษอิฐเศษปูนที่ไม่สามารถผ่านช่องพื้นที่ทุบไว้ได้คงค้างอยู่จนพื้นชั้นที่ 6 รับน้ำหนักไม่ไหว เป็นเหตุให้อาคารที่กำลังรื้อถอนอยู่นั้นพังลงมาทับคนงานที่กำลังรื้อถอนอาคารอยู่ถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย เป็นการรื้อถอนที่ผิดไปจากแบบแปลนและเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดและเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,390และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31,70

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ควบคุมการรื้อถอนอาคารตึกแถวในบริเวณศูนย์การค้าราชประสงค์ ได้ร่วมกันจัดให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าวผิดไปจากแบบแปลนและเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดจำเลยทั้งสองได้กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะที่มีอาชีพในการรับเหมาก่อสร้างจัดต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นเหตุให้อาคารรวม 4 คูหา พังยุบลงทับนายสำเริง สุทธิเรือง นายบุญฤกษ์หรือแคล้ว นิคาโมถึงแก่ความตาย นายไฉน ไทยสูง นายประสิทธิ์ ริ้วคำนายเผชิญ ไทยสูง นายลัน ถูกจิต นายสว่างทอง ชินแก้วได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 65, 70
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 70 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 6 ปี จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์ฟ้อง บริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัดได้เช่าที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยจะต้องรื้อถอนตึกแถว 7 ชั้นจำนวน 12 คูหาที่มีอยู่เดิมออกไปเสียก่อนทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ขออนุญาตรื้อถอนตึกแถวดังกล่าวต่อกรุงเทพมหานครและเนื่องจากบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด เป็นผู้ซื้อซากอาคารจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัดจึงได้ให้นายจิราวุธ วรรณศุภ วิศวกรของบริษัทฯ เป็นผู้ควบคุมรื้อถอนตามคำขอเอกสารหมาย จ.1 และใบอนุญาตให้ทำการรื้อถอนเอกสารหมาย จ.2 แต่บริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด ได้จ้างเหมาบริษัทเต็ตตราไทยเอ็นยีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัดเป็นผู้รื้อถอน ตามสัญญาจ้างเหมารื้อถอนอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆเอกสารหมาย จ.4 ขณะที่กำลังทำการรื้อถอนอาคารดังกล่าวอยู่นั้นอาคารบางส่วนได้พังลงมาทับคนงานที่ทำการรื้อถอนถึงแก่ความตายและบาดเจ็บตามฟ้อง คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุหรือไม่ ปัญหาข้อนี้โจทก์มีนางอรพันธ์ คงวัฒนานนท์สมุห์บัญชีของบริษัทเต็ดตราไทยเอ็นยีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นจำกัด ผู้รับเหมาการรื้อถอนจากบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัดมาเบิกความต่อศาลว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนี้เป็นผู้มอบให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทเป็นผู้ทำการรื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุ นางสาววสุพร บุญมีเบิกความว่าพยานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยเป็นเสมียนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำหน้าที่จ่ายเงินให้คนงาน จำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นผู้รับเหมารื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสองควบคุมงานทุกวัน สอดคล้องต้องกับคำเบิกความของนายเผชิฐ ไทยสูง นายสัน ถูกจิตร คนงานที่ทำการรื้อถอนและนายอันบุ้น แซ่โค้ว ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเสมียน เครื่องมือ และทำความสะอาดบริเวณการรื้อถอนที่ต่างก็เบิกความตรงกันว่าจำเลยทั้งสองมาดูแลงานรื้อถอนทุกวัน พยานเหล่านี้ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยและทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย คำเบิกความมีน้ำหนักรับฟังได้ พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิสั่งให้คนงานรื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุ เพราะผู้ดำเนินการรื้อถอนคือบริษัทวังเพชรบูรณ์ จำกัด จำเลยที่ 1 เพียงแต่คอยชี้ให้คนงานเก็บเศษเหล็กเพื่อนำไปขายร่วมกับจำเลยที่ 2 นั้นเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักพอที่จะฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลการรื้อถอนอาคาร ถือได้ว่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุจริง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการรื้อถอนอาคารอันอาจเป็นความผิดตาม มาตรา 31 วรรคแรกแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมงานในความหมายตามมาตรา 4 จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 31 วรรคสองอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์แต่อย่างใด
ข้อ 2. จำเลยที่ 1 ได้จัดให้มีการรื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุผิดไปจากแบบแปลนและเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดและเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ โจทก์มีนายเจริญ ไทยสูง นายประสิทธิ์ ริ้วดำ และนายไฉน ไทยสูงคนงานรื้อตึก นายอันบุ้น แซ่โค้ว ลูกจ้างจำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมการทำงานในการรื้อถอนอาคารได้ทุบพื้นออกทุกชั้นก่อนแล้วจึงทุบเสา คานและผนังตึกของชั้นที่ 7 ไล่ลงมาแล้วปล่อยให้เศษวัสดุร่วงลงมาตามช่องพื้นที่ทุบไว้ พยานเหล่านี้ไม่มีสาเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย เป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์และลงมือปฏิบัติในการรื้อถอนอาคาร และปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายเผชิญ เอกสารหมาย ปจ.(สุรินทร์)1 และของนายอันบุ้นเอกสารหมาย จ.12 คนทั้งสองให้การกับพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุนั้นเอง ก็ให้การยืนยันข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่เบิกความต่อศาล ส่วนจำเลยไม่นำสืบหักล้าง กลับนำสืบทำนองว่าการรื้อถอนอาคารตามหลักวิชาการอาจทำเช่นนั้นก็ได้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า ในการรื้อถอนอาคารจำเลยที่ 1 สั่งให้ทุบพื้นออกทุกชั้นก่อนแล้วจึงทุบเสา คานและผนังของชั้นที่ 7 ไล่ลงมา แล้วปล่อยให้เศษวัสดุหล่นลงมาตามช่องพื้นที่ทุบไว้ ในการกระทำดังกล่าวได้ความจากนายเผชิญและนายประสิทธิ์อีกว่าอาคารพังลงมาเนื่องจากเศษอิฐชั้นที่ 7ตกมากองบนชั้นที่ 6 มากจนอาคารรับน้ำหนักไม่ได้เสาและคานเอนเข้าหากันและพังถล่มลงไปทับชั้นล่าง ๆ จนถึงชั้นที่ 2 สอดคล้องกับรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่ายหมาย จ.8, จ.10นอกจากนี้ปรากฏตามคำขออนุญาตรื้อถอนอาคารเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 5 ข้อ 2. ระบุว่า ในการทุบตัวอาคาร จะต้องทุบตั้งแต่ชั้นยอดของชั้น 7 ลงมาตามลำดับจนถึงพื้นและใบอนุญาตให้รื้อถอนอาคารตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4(1) บังคับให้ผู้ได้รับอนุญาตให้รื้อถอนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งออกตามความในมาตรา 8(11) มาตรา 8 หรือมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกับได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5(3) และมาตรา 8(11) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 29 ระบุว่า การขนถ่ายวัสดุที่รื้อถอนลงจากที่สูงมาสู่ที่ต่ำ ผู้ดำเนินการต้องกระทำโดยใช้รางหรือสายพานเลื่อนที่มีความลาดเหมาะสมและปลอดภัยจากการตกหล่น สำหรับการขนถ่ายวัสดุโดยลิฟต์ส่งของ หรือปั้นจั่น หรือโยนหรือทิ้งเป็นต้นผู้ดำเนินการจะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดให้มีการป้องกันภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินแล้วห้ามผู้ดำเนินการกองวัสดุที่รื้อถอนไว้บนพื้นหรือส่วนของอาคารที่สูงกว่าพื้นดินฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดให้มีการรื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุได้ดำเนินการรื้อถอนโดยทุบพื้นคอนกรีตทุกชั้นก่อนเพื่อให้วัสดุที่รื้อถอนหล่นลงมาข้างล่างตามช่องพื้นที่ทุบไว้และเศษอิฐเศษปูนที่ไม่สามารถผ่านช่องพื้นที่ทุบไว้ได้คงค้างอยู่จนพื้นชั้นที่ 6 รับน้ำหนักไม่ไหวเป็นเหตุให้อาคารที่กำลังรื้อถอนอยู่นั้นพังลงมาทับคนงานที่กำลังรื้อถอนอาคารอยู่ จึงเป็นการรื้อถอนที่ผิดไปจากแบบแปลนและเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดและเป็นการกระทำโดยประมาท เพราะหากจำเลยที่ 1 ดำเนินการรื้อถอนตามแบบแปลนและเงื่อนไขที่กำหนดไว้แล้ว เหตุร้ายดังกล่าวย่อมจะไม่เกิดขึ้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอการลงไว้ 3 ปี โดยให้จำเลยที่ 1ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๆ 3 เดือน มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share