คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองและใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวไปกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่มีความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 78 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83, 91, 32 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55,78 วรรคหนึ่งและวรรคสามริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55 ประกอบมาตรา 78 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ความผิดฐานพยายามฆ่าและใช้ระเบิดเพื่อฆ่าผู้อื่นเป็นกรรมเดียวกันความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานมีวัตถุระเบิดจำคุก 2 ปีแต่เมื่อรวมโทษทั้งสองกระทงแล้ว คงให้จำคุกตลอดชีวิตเพียงสถานเดียวตามมาตรา 91(3) ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2535 เวลาประมาณ 22 นาฬิกาได้มีคนร้ายขว้างระเบิดทำให้นางจรินทร์ คงสมสุข ผู้เสียหายที่ 1 และนายหา ภูหมื่น ผู้เสียหายที่ 2 ถูกสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมายจ.1 และ จ.2 เจ้าพนักงานตำรวจได้นำชิ้นส่วนระเบิดไปตรวจสอบแล้วปรากฏว่าเป็นส่วนหนึ่งของระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบเอสเอฟจี 82อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้มีได้และเมื่อเกิดระเบิดขึ้นมีอำนาจทำลายสังหารชีวิตมนุษย์ สัตว์ และทรัพย์สินเสียหายได้ในรัศมีฉกรรจ์ประมาณ 10 เมตรจากจุดระเบิด ตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย ป.จ.1 ของศาลอาญา คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้ขว้างระเบิดดังกล่าวเพื่อพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1และสะเก็ดระเบิดพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 2 ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุเล็กน้อย พยานได้ยินเสียงจำเลยกับนางตุ๊กภรรยา พยานจึงใช้ไฟฉายส่องดู จำเลยได้พูดขึ้นว่า มึงฉายไฟหาลูกปืนหรือ แล้วจำเลยกับพยานมีปากเสียงทะเลาะกันด้วยถ้อยคำหยาบคาย สักครู่พยานเห็นนางตุ๊กเดินกลับเข้าไปในบ้าน ขณะนั้นพยานยืนอยู่ห่างจากจำเลยเพียงวาเศษที่ตรอกเข้าบ้านพยานมีไฟฟ้าสาธารณะอยู่ตรงกันข้ามบ้านผู้เสียหายที่ 2 ส่องไปทางบ้านนางสาลี่ซึ่งเป็นแม่ยายจำเลยแสงไฟดังกล่าวสามารถเห็นหน้าจำเลยได้ ได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1รู้จักจำเลยมาก่อนและก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ได้ยินเสียงคุยกันซึ่งจำได้ว่าเป็นเสียงจำเลยคุยกับนางตุ๊กภรรยาจำเลย จึงได้ใช้ไฟฉายส่องดูและเห็นว่าเป็นจำเลยและขณะที่ทะเลาะกันผู้เสียหายที่ 1 ก็ได้ใช้ไฟฉายส่องหน้าจำเลยถึง 3 ครั้ง จากการฉายไฟฉายดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เห็นเสื้อผ้าที่จำเลยสวมใส่อยู่ในขณะเกิดเหตุได้ชัดเจนว่าจำเลยนุ่งกางเกงสีเทา ใส่เสื้อสีน้ำเงินคอสีขาว น่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ทะเลาะกับจำเลย และจากลักษณะการกระทำของจำเลยที่ผู้เสียหายที่ 1 เห็นกล่าวคือ ในตอนแรกที่ทะเลาะกันเห็นจำเลยเดินเข้าไปในกระท่อมแล้วเดินออกมาที่ผู้เสียหายที่ 1 และกลับมาทะเลาะกับผู้เสียหายที่ 1อีก หลังจากนั้นได้เดินถอยหลังไปและพูดว่ามึงแน่ใช่ไหม โดยพูดเน้นถึง 3 ครั้ง แล้วก้มหยิบวัตถุที่พื้นดิน ผู้เสียหายที่ 1รู้สึกว่ามีวัตถุถูกเหวี่ยงมาจากทางจำเลยข้ามศีรษะผู้เสียหายที่ 1ไปและได้ยินเสียงวัตถุที่เหวี่ยงมาตกทางด้านหลังผู้เสียหายที่ 2ดังตูม ซึ่งก็คือการระเบิดของลูกระเบิด ตามที่ฟังได้ดังกล่าวข้างต้นจึงเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขว้างระเบิดดังกล่าว เพราะว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงและมิได้ทะเลาะกับผู้อื่นอีกในขณะนั้น ขณะเกิดเหตุมีเพียงแต่ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยเท่านั้นที่อยู่ในที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ตามคำเบิกความของพันตำรวจโทสุรชัย คีรีวิเชียร พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ก็ปรากฏว่า ในชั้นสอบสวนที่ได้กระทำในวันรุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 ก็ได้ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้าย ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 เอกสารหมายจ.3 และในการตรวจสถานที่เกิดเหตุในคืนเกิดเหตุตามเอกสารหมายป.จ.1 ของศาลจังหวัดชัยนาท ก็ได้ระบุข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ว่าเชื่อว่าจำเลยได้ใช้ระเบิดขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 1 เพื่อฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ที่เกิดมีปากเสียงกัน ประกอบกับผู้เสียหายที่ 1ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษส่วนเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 1ไม่ไปชี้ตัวจำเลยนั้นน่าเชื่อว่าเป็นเพราะผู้เสียหายที่ 1 กลัวโดยจะเห็นได้จากที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า หลังจากเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายที่ 1 ต้องหลบไปนอนที่อื่น และปรากฏต่อมาว่าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2535 ผู้เสียหายได้ไปดูตัวจำเลยแล้วยืนยันว่าเป็นคนร้ายที่ขว้างระเบิดใส่ผู้เสียหายที่ 1 จริง ตามบันทึกคำให้การผู้เสียหายที่ 1 เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 2 และที่จับจำเลยได้หลังจากเกิดเหตุ 1 เดือนนั้น พันตำรวจโทสุรชัยก็ได้เบิกความว่ามิใช่เป็นเรื่องที่ไม่ทราบว่าจำเลยเป็นคนร้ายดังจะเห็นได้จากบันทึกการตรวจสอบที่เกิดเหตุและบันทึกคำให้การผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นซึ่งระบุชัดว่าจำเลยเป็นคนร้ายเมื่อพิจารณาถึงการที่จำเลยทะเลาะกับผู้เสียหายที่ 1 และกิริยาของจำเลยที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ในขณะเกิดเหตุ ตลอดจนพฤติการณ์แวดล้อมทุกอย่างที่โจทก์นำสืบมาโดยตลอดแล้ว มีข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน และสอดคล้องต้องกันฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า หลังจากทะเลาะกับผู้เสียหายที่ 1แล้ว จำเลยเดินเข้าไปหยิบลูกระเบิดในกระท่อม และจำเลยได้ใช้ลูกระเบิดดังกล่าวขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 1 โดยเล็งเห็นว่าลูกระเบิดดังกล่าวขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 1 โดยเล็งเห็นว่าลูกระเบิดที่ขว้างไปดังกล่าวสามารถทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้จึงเป็นการขว้างไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 แต่การกระทำของจำเลยกระทำไปไม่ตลอดเพราะสะเก็ดระเบิดไม่ถูกอวัยวะสำคัญของผู้เสียหายที่ 1ผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่ตายสมดังเจตนาของจำเลย จึงเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 และเมื่อสะเก็ดระเบิดพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 2 ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ จึงถือได้ว่าเป็นพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 ด้วย กรณีเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุระเบิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับฐานใช้วัตถุระเบิดไปกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม มารวมสองกรรมโดยเห็นว่าเป็นความผิดคนละกรรมกันนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่จำเลยมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองและใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวไปกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่มีความผิดต่อกฎหมายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 55 ประกอบมาตรา 78 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ความผิดฐานมีวัตถุระเบิด ฐานพยายามฆ่า และใช้วัตถุระเบิดเพื่อฆ่าผู้อื่นเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ริบของกลาง

Share