คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4634/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทราบมาก่อนซื้อที่ดินพร้อมบ้านแล้วว่าจำเลยจะก่อสร้างปรับปรุงยกระดับถนน โจทก์จึงคาดหมายได้ว่าการยกระดับถนนอาจทำให้ที่ดินและบ้านที่โจทก์กำลังจะซื้อนั้น ถูกถนนพิพาทบังทางลมและแสงสว่าง เท่ากับโจทก์ยอมรับสถานการณ์ดังกล่าวก่อนซื้อที่ดินและบ้านไว้แล้ว และเมื่อเปรียบเทียบประโยชน์ที่ประชาชนทั่วไปจำนวนมากที่จะได้รับความสะดวกปลอดภัยและความเจริญของท้องถิ่นจากการยกระดับถนนพิพาทในระดับที่สร้างกับการที่โจทก์ต้องขาดความสะดวกสบายไปบ้างแล้ว ความเดือดร้อนของโจทก์ไม่เกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมาย โจทก์จำต้องยอมรับเอาดังเช่นบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกับโจทก์ในสังคมยอมรับ ควรก่อสร้างปรับปรุงยกระดับถนนพิพาทการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนายณรงค์ ภาณุสุวัฒน์ เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 54265 ตำบลสำโรงใต้ อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 427 หมู่ที่ 19บนที่ดินจำเลยที่ 1 ก่อสร้างทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3109 ทางผ่านแนวเขตที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ถ้าสร้างถนนเสร็จตามโครงการแล้วจะบังทางลมและแสงสว่างที่จะเข้าบ้านโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้จำเลยทั้งสามงดการก่อสร้างถนนทางหลวงสายดังกล่าวด้วย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 3 ก่อสร้างขยายปรับปรุงทางหลวงจังหวัดหมายเลข 109 (สายคลองเตย-จระเข้น้อย) ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ และก่อสร้างตามแบบแปลนที่ได้สำรวจออกแบบตามความจำเป็นของสภาพถนนที่ต้องยกระดับสูงขึ้นเพื่อให้ได้ระดับกับถนนเดิมอันเป็นสะพานข้ามคลอง เพื่อป้องกันน้ำท่วมและเพื่อความสะดวกปลอดภัยในการจราจรของประชาชน จำเลยทั้งสามไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์เดือดร้อนเสียหาย และโจทก์ก็ไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ตามปกติและเหตุอันควร ทั้งโจทก์ทราบว่าจะมีการก่อสร้างถนนทางหลวงนี้มาก่อนรับโอนบ้านแล้ว โจทก์ย่อมต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามทำละเมิดโดยทำให้เกิดความเสียหายหรือเดือดร้อนแก่โจทก์เกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติหรือเหตุอันควรหรือไม่โจทก์มีตัวโจทก์และนายณรงค์ ภาณุสุวัฒน์ เบิกความสรุปได้ว่าการก่อสร้างปรับปรุงถนนพิพาททำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าออกบ้านโจทก์ทางทิศตะวันออกได้และบังทางลมกับแสงสว่าง ทั้งค้าขายได้ไม่เป็นปกติก่อนสร้างถนนพิพาทโจทก์ขายสินค้าได้เดือนละ 70,000 บาทขึ้นไปปัจจุบันขายได้ไม่เกิน 63,000 บาท โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านในราคา500,000 บาท และเสียค่าตกแต่งอีก 100,000 บาทเศษ ขณะนี้โจทก์จะขายที่ดินพร้อมบ้านในราคา 1,200,000 บาท ส่วนฝ่ายจำเลยมีนายวันชัย ภาคลักษณ์ วิศวกรโยธา 6 กองสำรวจและออกแบบของจำเลยที่ 1 ผู้ออกแบบก่อสร้างถนนพิพาท และนายฟูศักดิ์ เลาหสวัสดิ์นายช่างโยธา 6 กองก่อสร้างทางหลวงจังหวัดของจำเลยที่ 1 ผู้ควบคุมการก่อสร้างถนนพิพาทเบิกความสรุปได้ว่า เดิมถนนพิพาทมีระดับต่ำบางช่วงเสียหายมาก ไม่เหมาะสำหรับใช้สัญจรไปมา บางช่วงน้ำท่วมจึงจำเป็นต้องยกระดับถนนให้สูงขึ้น บางช่วงเขตทางแคบเพียง 12 เมตรจึงต้องทำกำแพงกันดินโดยเฉพาะหน้าบ้านโจทก์อยู่ในบริเวณคอสะพานข้ามคลองสำโรงซึ่งเป็นสะพานเก่า การสร้างสะพานข้ามคลองสำโรงเป็นส่วนหนึ่งของถนนพิพาทจึงจำเป็นต้องสร้างถนนเชื่อมให้ได้ระดับที่รับกัน และเพื่อความมั่นคงแข็งแรงและป้องกันความเดือดร้อนของชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ข้างถนนจึงต้องสร้างตัวพยุงดินหรือแบริ่งยูนิตพร้อมทั้งก่อกำแพงกันดินจากคอสะพานทั้งสองด้านออกไปเป็นระยะทางประมาณ 70 เมตร เหตุที่ต้องยกระดับถนนพิพาทในระดับที่สร้างเพราะกรมชลประทานไม่ให้ลดระดับของสะพานข้ามคลองสำโรง หากจะปรับปรุงถนนพิพาทให้สูงจากพื้นดินเดิม 80 เซนติเมตร จะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่รถที่วิ่งข้ามไปมาบนสะพานและทำให้รถต้องวิ่งช้าทำให้การจราจรติดขัดซึ่งสภาพของถนนเดิมเกิดอุปสรรคดังกล่าวอยู่แล้ว หลังจากสร้างถนนพิพาทแล้วบ้านโจทก์ได้รับประโยชน์จากการทำท่อประปา เนื่องจากเดิมบ้านโจทก์ต้องใช้น้ำบาดาล และน้ำไม่ท่วมถนนฝุ่นไม่มี ทั้งราคาที่ดินน่าจะสูงขึ้น กันสาดชั้นล่างของบ้านโจทก์ล้ำเข้ามาในเขตถนนพิพาท ซึ่งถ้าตัดกันสาดนี้ออกลมและแสงแดดก็จะเข้าสู่บ้านโจทก์ได้ดีขึ้น โจทก์สามารถนำรถยนต์เข้าออกบ้านโจทก์ได้ทางด้านทิศใต้ และฝ่ายจำเลยมีนายทองปอนด์ พรรณสังข์ หัวหน้าฝ่ายผลประโยชน์กองจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา กรมชลประทาน เบิกความสนับสนุนว่า เมื่อ พ.ศ. 2521 คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับการสร้างสะพานข้ามทางน้ำชลประทานคือคลองสำโรงซึ่งเป็นทางน้ำประเภทสอง คือทางน้ำที่เรือแพใช้สัญจรไปมาและมีการชลประทานทางน้ำรวมอยู่ด้วยการสร้างสะพานข้ามคลองประเภทสองต้องสูงกว่าระดับน้ำสูงสุดในบริเวณนั้นโดยนับจากคานสะพานถึงระดับน้ำสูงสุดไม่น้อยกว่า 3 เมตร80 เซนติเมตร คลองสำโรงใช้สำหรับเรือสัญจรไปมาและให้เรือขุดผ่านเข้าออกไปขุดลอกคลองและใช้เพื่อโครงการตามพระราชดำริเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร กรมชลประทานไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1รื้อสะพานข้ามคลองสำโรงเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดกรณีพิพาทคดีนี้ ข้อ 7 กำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวงจังหวัด และข้อ 18 ให้อธิบดีของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่กำกับ ตรวจตราและควบคุมงานที่เกี่ยวกับทางหลวงจังหวัด จำเลยที่ 1ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงถนนพิพาททางหลวงจังหวัดหมายเลข 3109โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว เพื่อความสะดวกปลอดภัยในการจราจรของประชาชนทั่วไปและเพื่อป้องกันน้ำท่วมซึ่งเป็นการก่อสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น โดยมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ใดประกอบกับไม่สามารถหลีกเลี่ยงการยกระดับถนนให้ต่ำลงกว่าที่สร้างได้ เพราะจะทำให้การจราจรติดขัดและอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้ที่ต้องใช้ทางหลวงจังหวัดสายนี้จำนวนมากได้ ทั้งโจทก์ทราบมาก่อนซื้อที่ดินพร้อมบ้านแล้วว่าจำเลยที่ 1 จะก่อสร้างปรับปรุงยกระดับถนนพิพาท เมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่ดินพร้อมบ้านที่โจทก์ซื้อดังกล่าวซึ่งอยู่ติดถนนพิพาทมาคำนึงประกอบแล้ว โจทก์จึงคาดหมายได้ว่าการยกระดับถนนพิพาทอาจทำให้ที่ดินและบ้านที่โจทก์กำลังจะซื้อนั้นถูกถนนพิพาทบังทางลมและแสงสว่าง เท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพดังกล่าวก่อนซื้อที่ดินและบ้านไว้แล้ว และเมื่อเปรียบเทียบประโยชน์ที่ประชาชนทั่วไปจำนวนมากจะได้รับความสะดวกปลอดภัยและความเจริญของท้องถิ่นจากการยกระดับถนนพิพาทในระดับที่สร้างกับการที่โจทก์ต้องขาดความสะดวกสบายไปบ้างแล้ว เห็นว่า ความเดือดร้อนของโจทก์ดังกล่าวไม่เกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ และมีเหตุอันสมควร โจทก์จำต้องยอมรับเอาดังเช่นบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกับโจทก์ในสังคมยอมรับ การก่อสร้างปรับปรุงยกระดับถนนพิพาทไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share