คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4575/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตาย ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 50 วรรคแรก บัญญัติให้บิดา มารดาสามีหรือภริยาที่สิทธิได้รับส่วนแบ่งเงินทดแทนจากนายจ้างและในวรรคสามบัญญัติว่า… ถ้าผู้ได้รับส่วนแบ่งผู้ใดตาย…ให้ส่วนแบ่งของบุคคลดังกล่าวเป็นยุติ แสดงว่า สิทธิในการรับเงินทดแทนเป็นสิทธิเฉพาะตัวขณะที่ ส.ถึงแก่ความตายนั้นส. ยังไม่ได้รับเงินทดแทนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินทดแทนของ ส. อันเนื่องมาจากการตายของบุตรย่อมยุติลง ผู้ใดจะไปเรียกร้องเงินทดแทนส่วนของ ส.ไม่ได้พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งยกคำร้องของ ส. ที่เรียกร้องเงินทดแทนไว้ก่อนตายย่อมทำให้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้อ 60 ระงับไปด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิจะได้รับเงินทดแทนของ ส. ถึงที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2532เวลาประมาณ 5 นาฬิกา นายสุพจน์ รูปหล่อ ลูกจ้างของโจทก์ได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายในสถานที่ทำงานด้วยสาเหตุส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานไม่ใช่ถึงแก่ความตายเพราะการปฏิบัติหน้าที่การงานหรืออันเนื่องมาจากการทำงาน หรือเพื่อป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ หลังจากนายสุพจน์ถึงแก่ความตาย นายสุพรรณและนางแดงรูปหล่อ บิดามารดาของลูกจ้างได้แจ้งต่อพนักงานเงินทดแทนสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ด้วยวาจา เรียกร้องเงินทดแทนพนักงานเงินทดแทนเห็นว่าการประสบอันตรายของลูกจ้างไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหน้าที่การงานในความรับผิดชอบและมิใช่เกิดจากการป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้าง จึงมีคำสั่งยกคำร้อง นายแดงอุทธรณ์ต่อจำเลย จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนแก่ผู้มีสิทธิ คือนายสุพรรณ และนายแดงเป็นรายเดือนเดือนละ 1,560 บาท มีกำหนด 5 ปีโดยให้ผู้มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละเท่า ๆ กัน เป็นเงินคนละ 780 บาทแต่เนื่องจากนายสุพรรณได้ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม2533 จึงให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนครั้งเดียวแก่นายสุพรรณเป็นเงิน6,240 บาท ส่วนนางแดงให้จ่ายค่าทดแทนครั้งแรกตั้งแต่เดือนที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายจนถึงเดือนที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งรวมกันส่วนครั้งต่อ ๆ ไปให้จ่ายทุกวันที่ 19 ของแต่ละเดือน จนกว่าจะครบตามข้อ 50 และข้อ 54(4) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน และให้จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นเงิน 7,800 บาทตามข้อ 52 วรรคสามแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน คำสั่งของจำเลยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายการตายของลูกจ้างเนื่องมาจากสาเหตุส่วนตัว ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ต้องจ่ายเงินทดแทน และจำเลยไม่มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนแก่นายสุพรรณ เนื่องจากนายสุพรรณไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนในส่วนที่เกี่ยวกับนายสุพรรณจึงถึงที่สุด นอกจากนี้การแจ้งขอรับเงินทดแทนของนายสุพรรณ และนางแดงต่อพนักงานเงินทดแทนเป็นการแจ้งด้วยวาจา ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดไว้ และตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ที่ว่าประสบอันตราย หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตาย หรือการป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างนั้น ไม่สามารถใช้บังคับได้ เพราะขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 2(6) ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและคำสั่งของจำเลยที่ 41/2535 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 เรื่องอุทธรณ์คำสั่งพนักงานเงินทดแทน
จำเลยให้การว่า นายสุพรรณ รูปหล่อ บิดาของลูกจ้างได้ยื่นคำร้องตามแบบที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกำหนด ต่อมาวันที่29 มิถุนายน 2533 พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งที่ 176/2533 ยกคำร้องของนายสุพรรณ ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 นายสุพรรณถึงแก่ความตาย นายแดง รูปหล่อ มารดาลูกจ้างได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งพนักงานเงินทดแทนตามแบบที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกำหนดนายแดงจึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์แทนได้ แม้นางแดงจะมิได้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อพนักงานเงินทดแทน พนักงานเงินทดแทนและจำเลยก็มีอำนาจสั่งจ่ายเงินทดแทนแก่นายสุพรรณและนางแดงซึ่งเป็นทายาทตามกฎหมายได้ ทั้งนายสุพรรณและนางแดงได้ยื่นคำร้องตามแบบที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกำหนด ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการทุกประการ นายสุพจน์ลูกจ้างของโจทก์ถูกยิงถึงแก่ความตายขณะปฏิบัติหน้าที่ตามปกติในสถานประกอบการของนายจ้างโดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนร้าย และไม่ได้ความว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานและเรื่องส่วนตัว ถือได้ว่าลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 2(6) คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สิทธิในการได้รับเงินทดแทนเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิเท่านั้น ผู้ใดจะใช้สิทธิแทนไม่ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากพนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งยกคำร้องแล้ววันที่ 2 กรกฎาคม 2533 นายสุพรรณถึงแก่ความตายนางแดงแต่เพียงผู้เดียวอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนต่อจำเลย คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนในส่วนที่เกี่ยวกับนายสุพรรณย่อมถึงที่สุด ที่จำเลยมีคำสั่งให้จำเลย (ที่ถูกคือโจทก์)จ่ายเงินทดแทนแก่นายสุพรรณจึงไม่ชอบ นายสุพจน์ รูปหล่อและนายสวิง สกขุนทด ถูกคนร้ายยิงตายพร้อมกัน เชื่อได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง ดังนั้น คำสั่งของจำเลยที่ให้จ่ายเงินทดแทนแก่นางแดงจึงชอบแล้ว พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่ 41/2535 ลงวันที่18 พฤศจิกายน 2535 เฉพาะที่ให้จ่ายเงินทดแทนแก่นายสุพรรณ รูปหล่อเท่านั้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า การประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายของนายสุพจน์ รูปหล่อ เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานจึงต้องถือว่าทายาทของลูกจ้างผู้ตายมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 50 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 สิทธิในการรับเงินทดแทนของทายาทของลูกจ้างผู้ตายดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน และสิทธินั้นจะสิ้นสุดเมื่อผู้นั้นถึงแก่ความตาย เมื่อสิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วแม้นายสุพรรณจะมิได้อุทธรณ์ ก็ต้องถือว่านายสุพรรณมีสิทธิได้รับเงินทดแทน การที่คำสั่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่ 41/2535 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งวินิจฉัยให้โจทก์มีหน้าที่จ่ายเงินทดแทนให้นายสุพรรณ จำนวน 6,240 บาทจึงชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 50 วรรคแรก บัญญัติให้บิดามารดาสามีหรือภรรยามีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเงินทดแทนจากนายจ้าง และในวรรคสามบัญญัติว่า …ถ้าผู้ได้รับส่วนแบ่งผู้ใดตาย…ให้ส่วนแบ่งของบุคคลดังกล่าวเป็นอันยุติ แสดงให้เห็นว่าสิทธิในการรับเงินทดแทนตามประกาศดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่ตกทอดแก่ทายาท เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายสุพรรณถึงแก่ความตายในวันที่2 กรกฎาคม 2533 ซึ่งขณะนั้นนายสุพรรณยังไม่ได้รับเงินทดแทนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินทดแทนของนายสุพรรณย่อมยุติลงในวันที่2 กรกฎาคม 2533 ทายาทของนายสุพรรณหรือผู้ใดจะไปเรียกร้องเงินทดแทนส่วนของนายสุพรรณไม่ได้ พนักงานเงินทดแทนมีคำสั่งยกคำร้องของนายสุพรรณที่เรียกร้องเงินทดแทนก่อนนายสุพรรณตายย่อมทำให้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 60 ระงับสิ้นไปด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิจะได้รับเงินทดแทนของนายสุพรรณถึงที่สุดนั่นเอง หาใช่สิทธินั้นยังคงมีอยู่ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share