คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4190/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เชี่ยวชาญของศาลด้านตรวจพิสูจน์รูปรอยตราประทับไม้ทำงานด้านนี้มานาน ย่อมเป็นผู้มีความรู้ความสามารถปรากฏว่า การตรวจพิสูจน์ทำตามหลักวิชาเป็นขั้นตอนแล้วผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่ารูปลักษณะตัวเลขที่ไม้ชิ้นที่ตัดมาจากไม้ของกลางเหมือนกันและเท่ากันกับรูปรอยตราของทางราชการ โดยจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นแม้จะปรากฏว่าไม้ของกลางมีตัวเลขดวงตราไม่ครบถ้วนก็เชื่อได้ว่ารูปรอยตราที่ปรากฏเกิดจากการประทับดวงตราของทางราชการที่แท้จริง ไม้ที่ตัดฟันหรือตัดโค่นมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นไม้ที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยได้จดรายการของไม้ดังกล่าวลงในสมุดบัญชีรายการขนาดจำนวนไม้ที่ตรวจวัดประทับตราอนุญาตชักลาก เพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำการโดยชอบด้วยหน้าที่ อันเป็นการจดรายการอันเป็นเท็จ จึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(1) ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตาม มาตรา 157และมาตรา 160

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,160, 162, 91
จำเลยไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 160, 162(1) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 จำเลยมีความผิด 7 กรรมแต่ละกรรมให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จำคุกกระทงละ 1 ปีรวม 7 กระทง จำคุก 7 ปี คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดกรรมเดียว จำคุก 1ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ประจำสำนักงานป่าไม้เขตปราจีนบุรีกรมป่าไม้ได้มอบดวงตรา ต.6615 ให้เป็นตราประจำตัวจำเลย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 จำเลยได้รับคำสั่งจากป่าไม้เขตปราจีนบุรีให้ไปตรวจวัด ประทับตราอนุญาตชักลากไม้กระยาเลยของบริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานให้ทำไม้ในโครงการคลองตะเกรา (ฉช.2) ส่วน ก.ตอนที่ 5 แปลงที่ 13 ท้องที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 4,000 ท่อน จำเลยจึงได้เบิกดวงตรา ช.ลาก 1403 จากสำนักงานป่าไม้เขตปราจีนบุรี เพื่อใช้ในการตรวจวัดประทับตราอนุญาตชักลากไม้ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 29พฤษภาคม 2530 เจ้าพนักงานป่าไม้กรมป่าไม้กับพวกได้ตรวจพบไม้ตะแบก3 กอง รวม 24 ท่อน ซึ่งตัดฟันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กองอยู่นอกแปลงสัมปทานตอนที่ 5 แปลงที่ 13 ของบริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัดห่างแนวเขตสัมปทานตอนที่ 5 ดังกล่าว ประมาณ 10 กิโลเมตร เจ้าพนักงานป่าไม้กับพวกจึงได้ยึดไม้ตะแบกจำนวน 24 ท่อนดังกล่าวเป็นของกลางปรากฏตามบัญชีแสดงรายการตรวจยึดไม้บริเวณป่าเขาละลากเอกสารหมาย จ.1 คดีมีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ดวงตรา ต.6615 และดวงตรา ช.ลาก 1403 ตีประทับลงบนไม้เลขเรียงยึดที่ 8 ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าไม้ของกลางมีเลขเรียงตรา ต. และตรา ช. เพียงใกล้เคียงกับตรา ต. 6615 ซึ่งเป็นตราประจำตัวของจำเลยและตรา ช.ลาก 1403 ซึ่งจำเลยเคยเบิกมาจากทางราชการ แต่ไม่ปรากฏว่าไม้ของกลางมีตัวเลขตราต.6615 และตรา ช.ลาก 1403 โดยครบถ้วน ทั้งยังมีสภาพเลอะเลือนอ่านไม่ชัดเจน ฟังไม่ได้ว่าดวงตราที่ตีประทับลงบนไม้ของกลางเลขเรียงยึดที่ 8 เป็นดวงตรา ต.6615 และดวงตรา ช.ลาก 1403 ของทางราชการนั้น เห็นว่า นายณรงค์ โทณานนท์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลทางด้านตรวจพิสูจน์รูปรอยตราประทับไม้เบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์รูปรอยตราเอกสารหมาย จ.17 ว่า นายศิริเจือวิจิตรจันทร์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ตัดไม้ของกลางที่มีรูปรอยตรา รวม 7 ชิ้น มาเพื่อทำการตรวจพิสูจน์เมื่อนายณรงค์ได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้ตรวจพิสูจน์รอยตราที่ประทับลงบนไม้ดังกล่าวนายณรงค์ได้ไปรับดวงตรา ต.6615 และดวงตรา ช.ลาก 1403จากสำนักงานป่าไม้เขตปราจีนบุรี แล้วได้ประทับดวงตราดังกล่าวลงในกระดาษเพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์โดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ขอให้ตรวจพิสูจน์ว่า รูปรอยตราต.6615 กับ ช.ลาก 1403 ที่ปรากฏที่ไม้ของกลางเป็นรูปรอยตราที่เกิดจากดวงตราที่แท้จริงหรือไม่ นายณรงค์ ทำการตรวจพิสูจน์แล้วให้ความเห็นว่า รูปรอยตรา ต.6615 ที่ปรากฏที่ไม้ชิ้นที่ตัดมาจากไม้ของกลางเลขเรียงยึดที่ 8 มีรูปลักษณะเลข 66 และ 5 เหมือนกับรูปรอยตราของทางราชการ และรูปรอยตรา ช.ลาก 1403 ที่ปรากฏที่ไม้ชิ้นที่ตัดมาจากไม้ของกลางเลขเรียงยึดที่ 8 ตัวเลข 1, 0 และ 3เหมือนกันและเท่ากันนายณรงค์เห็นว่า เป็นรูปรอยตราที่เกิดจากดวงตรา ช.ลาก 1403 ของทางราชการ นายณรงค์เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลทางด้านตรวจพิสูจน์รูปรอยตราประทับไม้ ทำงานในด้านนี้มานานกล่าวคือตั้งแต่ปี 2525 ย่อมเป็นผู้มีความรู้ความสามารถการตรวจพิสูจน์ทำตามหลักวิชา เริ่มตั้งแต่นำดวงตราที่แท้จริงของทางราชการมาประทับลงบนแผ่นกระดาษเพื่อให้เห็นรอยดวงตราได้ชัดเจนมาเปรียบเทียบกับภาพชิ้นไม้ของกลางที่มีรอยตราประทับและบันทึกความเห็นใต้ภาพแต่ละภาพเปรียบเทียบกับรูปรอยตราที่แท้จริงตามรายงานการตรวจพิสูจน์รูปรอยตราพร้อมภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.17เป็นการกระทำเป็นขั้นตอน ประกอบทั้งตามคำเบิกความและรายงานผลการตรวจพิสูจน์ของนายณรงค์ดังกล่าว เห็นได้ชัดว่านายณรงค์ยืนยันว่ารูปลักษณะตัวเลขที่ไม้ชิ้นที่ตัดมาจากไม้ของกลางเลขเรียงยึดที่ 8เหมือนกันและเท่ากันกับรูปรอยตราของทางราชการซึ่งจำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะปรากฏว่าไม้ของกลางมีตัวเลขดวงตราต.6615 และดวงตรา ช.ลาก 1403 ไม่ครบถ้วนกล่าวคือ มีเฉพาะเลข 66,5, 1, 0 และ 3 ก็ตามแต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เชื่อได้ว่ารูปรอยตราที่ปรากฎที่ไม้ชิ้นที่ตัดมาจากไม้ของกลางเลขเรียงยึดที่ 8 เป็นรูปรอยตราที่เกิดจากการประทับดวงตรา ต.6615 และดวงตรา ช.ลาก 1403ของทางราชการซึ่งเป็นดวงตราที่แท้จริง เมื่อดวงตราทั้งสองนี้เป็นตราประจำตัวของจำเลยและเป็นตราที่จำเลยเบิกไปเพื่อใช้ในราชการจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาดวงตราของราชการได้ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ดวงตราทั้งสองดังกล่าวตีประทับบนไม้ของกลางเลขเรียงยึดที่ 8 ทำให้กรมป่าไม้เสียหาย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้ตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่ารายการของไม้ในสมุดบัญชีรายงาน ขนาดจำนวนไม้ที่ตรวจวัดประทับตราอนุญาต (ก.ป.ม. แบบ 20) ของสำนักงานป่าไม้เขตปราจีนบุรีในหน้า 128 เลขที่ 1069, 1071 และ 1072 เป็นไม้แปลงอื่นที่บริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด ได้รับสัมปทาน และไม้เหล่านั้นมีจริง ได้กระทำถูกขั้นตอนทุกอย่าง ไม่เกี่ยวข้องกับไม้ของกลางในคดีนี้ นั้น ได้ความจากร้อยตรีสมจิตต์ วงศ์วัฒนานักวิชาการป่าไม้ 7 นายณรงค์ บ่วงรักษ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 3และนายศิริ เจือวิจิตรจันทร์ นักวิชาการป่าไม้ 6 ผู้เชี่ยวชาญของศาลทางด้านพิสูจน์ไม้ซึ่งได้รับคำสั่งจากนายไพโรจน์ สุวรรณกรรองอธิบดีกรมป่าไม้ให้ร่วมกันตรวจพิสูจน์ไม้ 24 ท่อนของกลางว่าเป็นไม้ที่ถูกตัดโค่นมาโดยถูกต้องหรือไม่ และตัดโค่นมาจากที่ใดเบิกความยืนยันต้องกันว่า ตามระเบียบของกรมป่าไม้ผู้รับสัมปทานจะตัดไม้ออกจากป่าต้องยื่นคำร้องต่อป่าไม้เขตของท้องที่เพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจคัดเลือกไม้ที่จะให้ตัด เมื่อเจ้าหน้าที่คัดเลือกแล้วเจ้าหน้าที่จะต้องตีตรา ต.ตัดไว้ที่ไม้ 2 แห่ง คือ ที่โคนซึ่งสูงจากพื้นดินไม่เกิน 30 เซนติเมตร กับที่ระดับสูงประมาณ 1.30 เมตรจากพื้นดิน และให้ตัดไม้ระหว่างตรา 2 ตรานี้ ไม่ปรากฏว่าไม้ของกลางทั้ง 24 ท่อน ไม่ปรากฏว่าได้ตีประทับตรา ต. ตัดไว้เลย แสดงว่าไม้ของกลางเป็นไม้ที่ตัดฟันมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายนอกจากนี้ไม้ของกลางทั้ง 24 ท่อนนี้ถูกตรวจพบอยู่ในป่าบริเวณตอนที่ 2 กับตอนที่ 4 ซึ่งบริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด ได้รับสัมปทาน และป่าทั้งสองตอนนี้ได้ผ่านการทำไม้ไปแล้วหลายปี แต่จำเลยได้รับคำสั่งให้ไปตรวจวัดประทับตราอนุญาตชักลากไม้ของบริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานให้ทำไม้ในโครงการคลองตะเกรา (ฉช.2)ส่วน ก. ตอนที่ 5 แปลงที่ 13 ซึ่งเป็นคนละตอนกัน และตรงที่พบไม้ของกลางอยู่ห่างป่าตอนที่ 5 ประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งแสดงว่าไม้ของกลางเป็นไม้ที่มิได้ถูกตัดฟันมาจากแปลงที่บริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด ได้รับสัมปทานและกำลังทำอยู่ เห็นว่าเมื่อไม้ของกลางเป็นไม้ที่ไม่ได้ตีประทับตรา ต. ตัด ซึ่งแสดงว่าเป็นไม้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ตัดได้ ประกอบทั้งเป็นไม้ที่ไม่ได้อยู่ในป่าที่บริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัด ได้รับสัมปทานในขณะที่จำเลยได้รับคำสั่งให้ไปตรวจวัดประทับตราอนุญาตชักลาก ไม้ของกลางทั้ง 24 ท่อน จึงเป็นไม้ที่ตัดฟันหรือตัดโค่นมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายเมื่อเป็นไม้ที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยได้จดรายการของไม้ของกลางเลขเรียงยึดที่ 6, 8 และ 9 ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์ไม้ของนายศิริเอกสารหมาย จ.14 ลงในสมุดบัญชีรายการ ขนาดจำนวนไม้ที่ตรวจวัดประทับตราอนุญาตชักลาก (ก.ป.ม. แบบ 20) เอกสารหมาย จ.12 ในหน้า 128 เลขที่ 1069, 1071 และ 1072 ตามลำดับเพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่า จำเลยได้กระทำการโดยชอบด้วยหน้าที่อันเป็นการจดรายการอันเป็นเท็จ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่กรอกข้อความในเอกสารในการปฏิบัติตามหน้าที่จดรายการไม้ลงในสมุดบัญชีเพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำการดังกล่าวอันเป็นความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1) ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดตามมาตรา 157 และมาตรา 160 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบานั้น เห็นว่า ความผิดที่จำเลยกระทำเป็นความผิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายป่าอันเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศถือเป็นความผิดร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยมานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share